"ทวี" จี้ปฏิรูป DSI ปราบอาชญากรรมร้าย

ข่าวทั่วไป Monday June 16, 2008 15:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 มิ.ย.--กระทรวงยุติธรรม
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) เปิดเผยว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษมีอำนาจหน้าที่ ในการป้องกันปราบปรามและควบคุมอาชญากรรมที่มีผลกระทบร้ายแรงต่อ เศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของประเทศ และตลอดกว่า 4 ปีที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้เข้าไปดำเนินคดีพิเศษกว่า 400 คดี ในคดีดังกล่าวสามารถเรียกคืนผลประโยชน์กลับคืนรัฐจาก 105 คดี มีมูลค่ากว่า 44,000 ล้านบาท รวมทั้งได้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย พัฒนาบุคลากร พัฒนาองค์ความรู้ ปรับกลไกรองรับนโยบายรัฐหรือป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมที่สร้างความเสียหายให้กับสังคมในวงกว้าง
ขณะนี้ ดีเอสไอ ต้องตอบสนองนโยบายของรัฐและความคาดหวังของประชาชนที่ต้องการให้เข้าไปแก้ปัญหา ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในเรื่องบุกรุกที่ดินของรัฐและการทำลายป่า ทำลายโครงสร้างองค์กรอาชญากรรมคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ตัดวงจรด้านการเงินของผู้กระทำความผิดการฟอกเงิน เป็นต้น ทำให้ ดีเอสไอ ต้องปรับโครงสร้างเพื่อให้ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความยืดหยุ่น โดยมีพื้นฐานการปรับโครงสร้าง คือ ยังคงกลไกดำเนินงานเดิมส่วนใหญ่ไว้และจัดตั้งหน่วยงานใหม่บางส่วนเพื่อรองรับภารกิจที่เพิ่มขึ้น จัดตั้งหน่วยงานสนับสนุนที่จะสนับสนุนหน่วยงานหลักให้ชัดเจนยิ่งขึ้น สร้างความเชี่ยวชาญและความรู้ความสมมารถให้บุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานใช้หลักนิติวิทยาศาสตร์เข้ามาสนับสนุนการทำงาน
แนวทางการปรับโครงสร้างของ ดีเอสไอ แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ 1.กลุ่มปฏิบัติการ ยังคงสำนักคดีหลักไว้ แต่แยกภารกิจของสำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมออกเป็น 2 สำนักคดี ได้แก่ สำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสำนักคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีสำนักคดีเพิ่มเพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาล ได้แก่ สำนักคดีฟอกเงิน และสำนักคดีพื้นที่พิเศษ 2. กลุ่มสนันสนุน ให้มีสำนักการข่าวอาชญากรรมพิเศษ สำนักคดีสืบสวนพิเศษและศูนย์สารสนเทศเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานหลัก 3. จัดตั้งสถาบันพัฒนาการการสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถของบุคลากรให้เป็นมืออาชีพมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการสืบสวนสอบสวนการรวบรวมพยานหลักฐานและใช้หลักนิติวิทยาศาสตร์ในการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานต่างๆรวมทั้งศึกษาวิจัยรูปแบบการทำความผิดของคดีพิเศษที่ดำเนินการเสร็จแล้ว เพื่อหามาตรการแก้ไขป้องกันการกระทำผิดในคดีพิเศษ
อธิบดี ดีเอสไอ กล่าวย้ำว่า การปรับโครงสร้างครั้งนี้ เพื่อให้ปฏิบัติงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ตอบรับภารกิจที่เพิ่มขึ้นและที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง เชื่อมั่นว่าจะทำให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นองค์การสหวิชาชีพที่ปฏิบัติงานเชิงรุกเพื่อป้องกันปราบปรามและควบคุมอาชญากรรมที่มีผลกระทบร้ายแรงต่อ เศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของประเทศ โดยมุ่งมั่นอำนวยความยุติธรรมด้วยความเชี่ยวชาญพิเศษ สุจริต โปร่งใส สร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
งานเผยแพร่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ
กระทรวงยุติธรรม โทร.0-22701350-4 ต่อ 113

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ