กรุงเทพฯ--16 มิ.ย.--
กระทรวงไอซีที รุกสอบสวนตรวจเข้มกว่า 250 เรื่องร้องเรียนการทำผิดตาม พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เผยตำรวจ หน่วยงานภาครัฐและประชาชนร่วมเป็นหูเป็นตาหาผู้กระทำผิดเป็นอย่างดี วอนประชาชนศึกษากฎหมายให้ละเอียดและตั้งรหัสใช้งานไว-ไฟ เพื่อป้องกันการลับลอบใช้งานอินเทอร์เน็ตเพื่อกระทำความผิด
นายวินัย อยู่สบาย ผู้อำนวยการสำนักกำกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผย กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ร่วมมือกันตรวจสอบและปราบปรามผู้กระทำผิดหรือล่วงละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่นตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 อย่างต่อเนื่องนับแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2550 ทั้งนี้ มีประชาชนและหน่วยงานภาครัฐให้การตอบรับต่อกฎหมายฉบับนี้อย่างดี เพราะตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2550 — เมษายน 2551 มีผู้ร้องเรียนการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ รวมทั้งสิ้น 252 รายทั่วประเทศ นายวินัย กล่าวต่อไปว่า การร้องเรียนการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ส่วนใหญ่มาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานต่างๆ โดยมีจำนวนเรื่องร้องเรียน คือ 148 และ 100 เรื่อง ตามลำดับ คิดเป็นร้อยละ 48 และร้อยละ 40 ของการรับเรื่องร้องเรียนทั้งหมด ส่วนภาคประชาชนมีการร้องเรียนการกระทำผิดฯ จำนวน 4 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 2 ของการร้องเรียนทั้งหมด โดยขณะนี้มีคดีที่อยู่ในความสนใจและสามารถเอาผิดผู้กระทำความผิดได้แล้ว จำนวน 6 คดี คือ การกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับบัตรเครดิต 2 คดี การกระทำความผิดเกี่ยวกับเกมและบ่อนการพนันออนไลน์จำนวน 1 คดี และเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมจำนวน 3 คดี ซึ่งได้รวมการจับกุมเว็บมาสเตอร์ของเว็บไซต์ลามกอนาจาร www.nisitgirl.com ที่เพิ่งจับกุมเมื่อไม่นานที่ผ่านมานี้ด้วย “กระทรวงไอซีที ขอให้ประชาชนที่พบเห็นเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมหรือการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์อื่นๆ ร่วมเป็นหูเป็นตาและมีส่วนร่วมในการแจ้งให้ไอซีที คอป ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่จากกระทรวงไอซีที และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ทราบเรื่องเพื่อดำเนินคดีมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวมอย่างยั่งยืน รวมทั้งมีการลดความรุนแรงในการนำเสนอข้อมูลและภาพที่ไม่เหมาะสม ตลอดจนปัญหาการขโมยข้อมูลต่างๆได้” นายวินัยฯ กล่าวตอนท้ายว่า ประชาชนผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ควรศึกษาและระมัดระวังการใช้สื่อสารสนเทศตาม พ.ร.บ.นี้ให้มากยิ่งขึ้น เพราะแม้แต่การโพสต์หรือส่งต่อข้อมูลลามกอนาจารหรือข้อมูลที่ก่อให้เกิดความตระหนกตกใจทำให้ผู้อื่นเสียหายและเกี่ยวกับการก่อการร้าย ตลอดจนการส่งสแปมเมลล์เพื่อการโฆษณาขายสินค้าที่รบกวนระบบการใช้งานและปกปิดปลอมแปลงแหล่งที่มา ก็ถือเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกและปรับตามกฎหมายฉบับนี้ได้ รวมทั้งต้องระมัดระวังในการใช้อินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย (ไว-ไฟ) ในที่อยู่อาศัยให้มากยิ่งขึ้น ด้วยการใส่รหัสการใช้งานเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลอื่นสามารถลักลอบเข้าสู่ระบบได้ เพราะอาจมีผู้ไม่หวังดีลักลอบกระทำความผิดผ่านระบบไว-ไฟจนทำให้หน่วยงานภาครัฐประสบปัญหาในการหาตัวผู้กระทำความผิดที่แท้จริง