กรุงเทพฯ--26 ธ.ค.--สหมงคลฟิล์ม
บางคน...ใช้เวลาทั้งชีวิตกว่าจะรู้จักหัวใจตัวเอง
เรื่องย่อ
Lan Yu เล่าถึงความสัมพันธ์ของนักศึกษาหนุ่มน้อยจากชนบทนาม ‘หลันหยู่’ กับนักธุรกิจหนุ่มใหญ่ชื่อ ‘หันตง’ หลันหยู่นั้นมีฐานะยากจน จึงต้องดิ้นรนทำทุกอย่างเพื่อความอยู่รอด ใครสักคนแนะนำหลันหยู่เข้าสู่วงการ ‘เอาตัวเข้าแลก’ และนั่นเองเป็นสาเหตุให้เขาได้พบกับหันตงจากการเริ่มต้นในฐานะ ‘เด็กขาย’ กับ ‘ผู้ซื้อ’ ธรรมดา ที่สุดแล้วกลับกลายเป็นความสัมพันธ์ที่ยาวนานชั่วชีวิต แม้หันตงจะไม่อยู่ในฐานะที่พร้อมจะ ‘เปิดเผย’ ตัวเอง แต่สำหรับหลันหยู่แล้ว กลับเชื่อมั่นในความรู้สึกของตนที่มีต่อหันตงเหลือกำลัง และไม่ว่าจะมีอุปสรรคหรือความไม่ราบรื่นใดๆ ผ่านเข้ามา ความรักของเขาที่มอบให้หันตงก็ไม่เคยลดน้อยถอยลงเลย...
1.
ก่อนหน้านี้ สแตนลีย์ กวาน เคยผลิตงานดีๆ ออกมาไม่น้อย
ไม่ว่าจะเป็น Rouge (1987) หนังรักต่างชนชั้น—ข้ามภพชาติ ที่มี เลสลี จาง รับบทนำร่วมกับ เหมยเยี่ยนฟาง, Centre Stage (1992) หนังซึ่งเล่าถึงโศกนาฏกรรมชีวิตของนักแสดงหญิงชาวจีนจากยุค 30 ชื่อ หยวนหลิงอี้ (จางมั่นอวี้ แสดงนำได้อย่างยอดเยี่ยม), Red Rose White Rose (1994) เรื่องราวของชายเจ้าสำราญที่ตัดสินใจไม่ได้ว่าตนรักใคร่ ‘กุหลาบแดง’ หรือ ‘กุหลาบขาว’ กันแน่
รวมถึง Hold You Tight (1997) หนังบอกเล่าประเด็นรักร่วมเพศซึ่งไปคว้ารางวัลจากเทศกาลสำคัญๆ มาได้หลายแห่ง หนึ่งในจำนวนนั้นคือ Teddy Award (รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของกลุ่มหนังเกย์-เลสเบี้ยน) จากเทศกาลหนังเบอร์ลิน
สำหรับ Lan Yu นั้น นอกจากจะถูกจัดเข้าเป็นหนึ่งในกลุ่มหนังคุณภาพของสแตนลีย์ กวานแล้ว ในอีกด้านหนึ่งมันยังมีความสัมพันธ์ต่อแง่มุมส่วนตัวของผู้กำกับเองอีกด้วย
เหตุก็เพราะตัวสแตนลีย์ กวานเองไม่เคยหลบซ่อนปิดบังรสนิยมทางเพศของตน — ตรงข้าม เขาเป็นหนึ่งในคนทำหนังจำนวนน้อยนิดที่กล้าบอกกล่าวกับสาธารณชนอย่างตรงไปตรงมาว่า เขาชอบผู้ชายด้วยกัน
“ผม ‘คัม เอ๊าต์’ เมื่อปี 1996” กวานเล่าจุดหักเหสำคัญครั้งหนึ่งในชีวิตของเขา ก่อนหน้านั้นเขารู้สึกอึดอัดคับข้องใจพอดู เพราะแม้จะพอรู้อยู่เหมือนกันว่ารสนิยมทางเพศของตัวนั้นเป็นอย่างไร แต่กลับไม่สามารถเผยมันออกมาได้ เนื่องจากไม่แน่ใจว่าผู้คนรอบข้างจะเข้าใจและยอมรับได้หรือไม่
จนเมื่อเข้าสู่วงการภาพยนตร์และมีโอกาสได้ร่วมงานกับผู้กำกับดังๆ หลายคน (เช่น แอน ฮุย, ฉีเคอะ) กวานก็พบว่า คนเหล่านั้นใจกว้างมากกว่าที่เขาเคยคิดไว้เยอะ นอกจากนั้น กวานยังเคยทำงานกับ เอ็ดเวิร์ด แลม ผู้กำกับละครเวทีซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดเทศกาลหนังเกย์-เลสเบี้ยนฮ่องกง และเขาเองก็ยอมรับว่า มันเป็นประสบการณ์ที่ดี และเขาก็มีความสุขความสบายใจในการทำงานครั้งนั้นมากทีเดียว
โครงการหนังเรื่อง Lan Yu ได้รับการแนะนำต่อสแตนลีย์ กวาน หลังจากที่เขาแสดงความกล้าเปิดเผยตัวตนออกไปแล้ว “ดังนั้นผมจึงไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจอะไรในการทำหนังเรื่องนี้นัก”
2.
Lan Yu ดัดแปลงจากนิยายอินเตอร์เนตชื่อ Beijing Story ของผู้เขียนซึ่งใช้นามปากกาว่า Beijing Comrade (จากคำให้สัมภาษณ์ของสแตนลีย์ กวาน ตัวจริงเสียงจริงของนักเขียนคนนี้เป็นผู้หญิงเชื้อสายจีนที่ได้ย้ายไปตั้งรกรากในอเมริกา)
โครงเรื่องหลักๆ ของ Beijing Story เล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างเด็กหนุ่มฐานะยากจนกับชายวัยกลางคนผู้มั่งคั่ง พร้อมกันนั้นก็ได้สอดแทรกนัยเรื่องการวิพากษ์การเมืองและสังคมไว้เสร็จสรรพ ด้วยการหยิบยกการปราบปรามนักศึกษาที่จัตุรัสเทียนอันเหมินมาเป็นเหตุการณ์สำคัญของเรื่อง
Beijing Story ได้รับการเผยแพร่สู่ผู้อ่านอย่างลับๆ (เนื่องจากเนื้อหาส่วนที่ข้องแวะกับการเมืองที่ปรากฏในเรื่องนั้น เป็นประเด็นที่รัฐบาลจีนอ่อนไหวเป็นพิเศษมาแต่ไหนแต่ไร) กระนั้นไปๆ มาๆ ก็กลับได้รับความนิยมสำหรับนักท่องโลกไซเบอร์เป็นอย่างมาก
จนกระทั่งวันหนึ่ง จางหย่งหนิง — ซึ่งในเวลาต่อมาจะกลายเป็นโปรดิวเซอร์และรับบทเล็กๆ ใน Lan Yu — ก็มีโอกาสได้อ่าน และรู้สึกดื่มด่ำประทับใจเป็นอย่างมาก (สแตนลีย์ กวานเคยให้สัมภาษณ์ว่า จางหย่งหนิงอ่านแล้วซึ้งจนถึงกับร้องไห้) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตัวละครนักธุรกิจหนุ่มใหญ่ที่ชื่อ หันตง เขารู้สึกว่าเรื่องอย่างนี้น่าจะนำไปทำเป็นหนังได้ ว่าแล้วจึงนำไปเล่าให้สแตนลีย์ กวานฟังต่อ
“จางหย่งหนิงพยายามโน้มน้าวชักจูงใจให้ผมเห็นดีเห็นงามกับเขามากเหลือเกิน” กวานเท้าความถึงความหลัง “ซึ่งก็ต้องยอมรับละว่า เมื่อฟังเขาเล่าแล้ว ผมก็เกิดความรู้สึกขึ้นมาเหมือนกันว่า ผมสามารถทำหนังเรื่องนี้ได้”
อย่างไรก็ตาม กวานตอบจางหย่งหนิงกลับไปว่า ขอให้เขาได้อ่านนิยายเรื่องนี้ก่อน และผลปรากฏว่า เพียงไม่กี่บทแรก กวานก็ถึงกับหงายท้อง “ในนิยายมีการพรรณนาฉากร่วมรักระหว่างตัวละครชาย-ชายไว้อย่างละเอียดลออ หนำซ้ำยังใช้ถ้อยคำตรงไปตรงมามาก ผมอ่านแล้วรู้สึกว่ามันเป็นนิยายอีโรติกมากกว่าจะเป็นนิยายรัก”
กวานบอกว่า โดยส่วนตัวแล้วเขาไม่อยากทำหนังชายรักชายที่โป๊โจ๋งครึ่มหรืออีโรติกวาบหวามเกินเหตุ แต่ด้วยเหตุที่เขายังพบแง่มุมบางอย่างที่น่าสนใจใน Beijing Story ดังนั้น แทนที่จะปฏิเสธ โยนโครงการนี้ทิ้งไปทันที (หลังจากที่ ‘ตกกะใจ’ กับความหวือหวาโลดโผนของนิยายต้นฉบับ) เขาจึงเลือกที่จะแก้ปัญหาด้วยการเรียกตัว จิมมี ไหง มือเขียนบทที่เคยร่วมงานกับเขาใน Hold You Tight และ The Island Tales มาร่วมด้วยช่วยกันในงานนี้อีกครั้งหนึ่ง
“จากการพูดคุยกัน เราต่างพบว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างในนิยายที่น่าสนใจ ส่วนตัวผมเอง ผมคบหากับคนรักของผมมานานถึง 11 ปี นั่นทำให้ผมเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของตัวละครในเรื่อง (ความสัมพันธ์ของตัวละครหลักทั้งสองใน Lan Yu กินเวลายาวนานหลายปี) ในท้ายที่สุดผมตัดสินใจว่าจะทำหนังเรื่องนี้ เหตุผลเบื้องต้นก็เพราะผมประทับใจในตัวนิยาย แต่ลึกๆ แล้ว ผมว่าผมใช้หนังเรื่องนี้เป็นกระจก เพื่อส่องสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างตัวผมเองกับคนรักของผม”
3.
ทันทีที่ตกลงปลงใจว่าจะ ‘เอาแน่’ สแตนลีย์ กวานก็ส่งนิยาย Beijing Story ให้จิมมี ไหงรับหน้าที่ดัดแปลงบทต่อ
เหตุการณ์หลายส่วนในนิยายต้นฉบับถูกตัดออก บางส่วนถูกลดทอน ว่ากันว่าตัวผู้เขียน คือ Beijing Comrade นั้น ไม่ได้แฮ้ปปี้สุดขีดกับงานดัดแปลงบทชิ้นนี้ของจิมมี ไหงนัก
“เป็นเรื่องธรรมดา จะมีนักเขียนสักกี่คนกันที่ยังรู้สึกพอใจอยู่ได้เมื่อเห็นงานเขียนของตนถูกดัดแปลงแก้ไข” สแตนลีย์ กวานกล่าวอย่างเข้าอกเข้าใจ
“ในนิยายต้นฉบับนั้นผู้เขียนบอกเล่าทุกเหตุการณ์อย่างละเอียด เช่น เรื่องราวตอนที่ภรรยาของ ‘หันตง’ หวนกลับมาแก้แค้น (ช่วงกลางเรื่อง หันตงตัดสินใจแต่งงานกับผู้หญิงคนหนึ่งเพราะคิดว่านั่นคือสิ่งที่ถูกต้องตามขนบธรรมเนียมประเพณี แต่แล้วชีวิตสมรสกลับไปไม่รอด) แต่เมื่อเป็นหนัง คุณก็ต้องเลือก ผมตัดสินใจลดทอนบางช่วงบางตอนที่สะเทือนใจจัดๆ เพราะไม่อยากให้หนังออกมาฟูมฟายหรือเป็นสูตรสำเร็จจนเกินไป”
สแตนลีย์ กวานยังบอกอีกด้วยว่า ส่วนตัวเขาเองเชื่อว่าแฟนๆ ของนิยายเรื่องนี้อาจรู้สึกผิดหวังที่ไม่ได้เห็นฉากเซ็กส์มากมายเท่าในนิยาย ทว่าแฟนกลุ่มนี้ก็น่าจะยังคงซาบซึ้งกับ Lan Yu ได้ เพราะเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างหันตงกับหลันหยู่ คือสิ่งที่สแตนลีย์ กวาน และจิมมี ไหง ยึดถืออย่างเคร่งครัดให้ออกมาตรงกับเรื่องต้นฉบับมากที่สุด
4.
หลังจากที่การดัดแปลงบทเสร็จสมบูรณ์ งานหนักของสแตนลีย์ กวานกับทีมงาน ก็คือการตามล่าหาตัวนักแสดงชาย 2 คนที่จะมารับบทหันตงกับหลันหยู่
“เราใช้เวลาแคสติ้งกันนานมาก” จางหย่งหนีเล่า “ผมคิดว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้สแตนลีย์ประทับใจนักแสดงจากจีนแผ่นดินใหญ่ (ดารานำของ Lan Yu มาจากจีนแผ่นดินใหญ่ทั้งคู่) ก็คือ พวกเขากล้าที่จะรับบทหลากหลาย พวกเขาจะขวนขวายอย่างมากเพื่อให้ได้มาซึ่งบทนั้นๆ ตราบเท่าที่เห็นว่ามันเป็นบทที่เหมาะสมกับตัวเอง”
ทางด้านสแตนลีย์ กวาน เสริมถึงประเด็นนี้ว่า “นักแสดงจากจีนแผ่นดินใหญ่มีทัศนคติต่อการแสดงต่างจากนักแสดงฮ่องกง ดาราฮ่องกงโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่เป็นนักร้องด้วย จะห่วงภาพพจน์ของตัวเองมาก ส่วนใหญ่จะไม่กล้ารับบทเกย์ เพราะกลัวว่าแฟนๆ จะคิดว่าพวกเขาเป็นเกย์จริงๆ
“ในขณะที่นักแสดงจากจีนแผ่นดินใหญ่จะเข้าใจว่า บทที่ตัวเองได้รับนั้นเป็นแค่เรื่องสมมติ มันเป็นแค่การแสดง และก็ไม่ได้หมายความว่าตัวจริงของพวกเขาจะต้องเป็นเหมือนอย่างในหนัง สำหรับผมแล้วคิดว่านี่คือวิธีคิดของมืออาชีพ”
จางหย่งหนีเผยว่า มีนักแสดงชาวจีนแผ่นดินใหญ่จำนวนไม่น้อยทีเดียวที่อยากได้บทหันตงกับหลันหยู่ แต่ท้ายที่สุด หลังจากคัดเลือกอย่างพิถีพิถัน ทีมงานก็ตัดสินใจมอบบทแรกให้ หูจุน นักแสดงซึ่งได้รับการยอมรับอย่างมากในวงการละครเวทีของจีน (ก่อนหน้านี้หูจุนเคยรับบทนำในหนังชายรักชายที่ชื่อ East Palace, West Palace ผลงานกำกับของ จางหยวน) ส่วนบทหลันหยู่นั้นตกเป็นของดาราหนุ่มหน้าหวาน เพื่อนร่วมชั้นเรียนการแสดงของ จางจื่ออี้ (นางเอก Crouching Tiger, Hidden Dragon ล่าสุดรับบทนำใน Memoir of a Geisha) จาก Central Drama Academy ที่ชื่อ หลิวเย
ถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องยิ่งของทีมงาน เพราะทั้งผู้ชมและนักวิจารณ์ต่างชื่นชมบทบาทการแสดงของหูจุนและหลิวเยกันยกใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลิวเยนั้นรับบทหลันหยู่ได้อย่างยอดเยี่ยม จนถึงกับคว้ารางวัลม้าทองคำ (รางวัลสำคัญของไต้หวัน) สาขานักแสดงนำชายมาครองได้สำเร็จทีเดียว
5.
Lan Yu ถ่ายทำในจีนแผ่นดินใหญ่ (หลักๆ คือ ปักกิ่ง) ใช้นักแสดงชาวจีนแผ่นดินใหญ่ อีกทั้งฉากหลังของเรื่องยังเป็นกรุงปักกิ่ง และตัวละครในเรื่องก็พูดภาษาจีนกลาง — อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่ประเด็นของหนังนั้นค่อนข้าง ‘ล่อแหลม’ ทั้งในเรื่องการเมือง (นอกจากเรื่องราวบางช่วงบางตอนจะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การปราบปรามนักศึกษาที่จัตุรัสเทียนอันเหมินแล้ว ยังมีผู้วิเคราะห์ว่า ตัวละครหันตงซึ่งไม่สามารถเปิดเผยรสนิยมทางเพศที่แท้จริงของตัวเองได้นั้น เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงภาวะที่มนุษย์ถูกกรอบสังคมและจารีตประเพณีกดขี่ จนไม่สามารถเป็นได้แม้กระทั่ง ‘ตัวของตัวเอง’) และรักร่วมเพศ (ซึ่งไม่ว่านักแสดงจีนแผ่นดินใหญ่จะมีวิธีคิดแบบ ‘มืออาชีพ’ ดังที่สแตนลีย์ กวานว่าไว้มากเพียงใด ประเด็นนี้ก็ยังคงเป็นเรื่องที่อ่อนไหว ไม่สมควรเปิดเผยต่อสาธารณชนในประเทศนี้) จึงส่งผลให้ Lan Yu ไม่มีโอกาสได้เข้าฉายอย่างเป็นทางการในจีน
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีเรื่องที่น่าดีใจสำหรับสแตนลีย์ กวานและทีมงาน (ทุกคนรู้ตั้งแต่ตอนถ่ายทำแล้วว่า หนังหมดสิทธิ์ฉายในจีนแผ่นดินใหญ่แน่) เนื่องจาก Lan Yu ได้รับความนิยมอย่างมากที่ฮ่องกง และตัวนักแสดงนำทั้งคู่ก็เป็นที่ชื่นชอบของผู้ชมมากมาย
สแตนลีย์ กวานยอมรับว่า ความสำเร็จที่หนังได้รับนั้น หลักๆ เป็นเพราะคนดูรู้สึกดีกับนักแสดงทั้งสองของเรื่อง “โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ชมที่เป็นผู้หญิงนั้น ให้การตอบรับหนังดีมาก ทุกคนต่างก็ตกหลุมรักหลิวเยกันทั้งนั้น”
จุดเด่นของ Lan Yu นอกจากจะอยู่ที่ฝีไม้ลายมือของนักแสดงนำทั้งสองแล้ว คำชื่นชมส่วนหนึ่งยังสมควรต้องยกให้กับสแตนลีย์ กวาน
การที่หนังมีนัยวิพากษ์วิจารณ์การเมืองและสังคมแฝงอยู่อย่างแยบคาย ทำให้ Lan Yu เป็นมากกว่า ‘หนังชายรักชายที่มุ่งแต่จะขายฉากอัศจรรย์แต่เพียงอย่างเดียว’ ดังที่เห็นกันได้ดาษดื่น
ผู้ชมกลุ่มที่แสวงหาสาระจริงจัง และมีความสนอกสนใจความเป็นไปต่างๆ ของบ้านเมือง สามารถเปิดรับหนังเรื่องนี้ สนุกกับวิเคราะห์ตีความวาระซุกซ่อนที่แฝงอยู่ในหนังได้อย่างเต็มที่
ในทางกลับกัน ผู้ชมกลุ่มที่ดูหนังเพื่อความบันเทิงล้วนๆ ก็ยังสนุกกับ Lan Yu ได้
เพราะสิ่งหนึ่งที่ Lan Yu โดดเด่นมากก็คือ นี่เป็นหนังรักที่ ‘จี๊ดมาก’
และคำโฆษณาของหนังที่ว่า มันเป็น ‘หนังชายรักชาย ที่คนไม่ใช่ ดูแล้วก็ชอบ’ นั้น ไม่ใช่เรื่องเกินจริงแต่อย่างใด
Lan Yu จะเข้าฉายในบ้านเรา 12 มกราคม 2006 ที่โรงภาพยนตร์ house RCA แห่งเดียวเท่านั้น
ห้ามพลาดเด็ดขาด!
สามารถคลิกดูภาพได้ที่ www.thaipr.net--จบ--