กรุงเทพฯ--18 มิ.ย.--บีทูเอส
“รอยวสันต์” ผลงานวรรณกรรมประเภทนวนิยายสร้างสรรค์ระดับดีเด่น คว้าโล่รางวัลพระราชทานชมนาดในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยฝีมือการประพันธ์จากนักเขียนสตรีไทย...นางยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง ผู้ชนะเลิศรางวัลพระราชทานชมนาดเป็นคนแรกของโครงการ
งานประกาศผลตัดสินโล่รางวัลพระราชทานในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปีพุทธศักราช 2550 โครงการ “ชมนาด บุ๊ก ไพร้ซ์” (Chommanard Book Prize) เกิดขึ้นจากความร่วมมือของบีทูเอส และสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จัดขึ้น เพื่อค้นหาผลงานวรรณกรรมประเภทนวนิยายสร้างสรรค์ชั้นเลิศ โดยนักประพันธ์หรือนักเขียนสตรีไทย ให้ก้าวสู่ระดับชาติ และนานาชาติ ซึ่งได้รับเกียรติจากคุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ ในฐานะประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการคัดเลือกและตัดสินรางวัล ให้เกียรติเป็นประธานในงาน ณ บีทูเอส สาขาเซ็นทรัลเวิลด์
นายศักดิ์ชัย จิราธิวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารสินค้า บริษัท บีทูเอส จำกัด และกรรมการบริหาร บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด ในฐานะตัวแทนของคณะผู้ดำเนินโครงการ เปิดเผยถึงที่มาของโครงการว่า “โครงการ ชมนาด บุ๊ก ไพรซ์ (Chommanard Book Prize ) เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ บีทูเอส แหล่งการเรียนรู้ครบวงจร จำหน่ายหนังสือ เครื่องเขียน และสื่อบันเทิง ร่วมกับ บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด จัดขึ้นจากการเล็งเห็นถึงความสำคัญของผู้หญิงไทยที่มีความสามารถ และต้องการเปิดโอกาสพร้อมให้กำลังใจแก่นักเขียนสตรีไทยในด้านการประพันธ์วรรณกรรมประเภทนวนิยาย โดยมีวัตถุประสงค์หลักๆดังนี้
- เพื่อส่งเสริมให้มีรางวัลวรรณกรรมประเภทนวนิยายยอดเยี่ยมของนักเขียนสตรีไทย
- เพื่อเปิดเวทีและโอกาสสร้างสรรค์วรรณกรรมประเภทนวนิยายชั้นเลิศให้หลากหลายและเพิ่มขึ้นเชิงคุณภาพ
- เพื่อสร้างเสริมและเผยแพร่ผลงานเขียนของสตรีไทยเข้าสู่ระดับชาติและระดับนานาชาติ
ซึ่งผลงานที่ส่งเข้าประกวด จะเป็นนวนิยายที่แต่งขึ้นใหม่ สร้างสรรค์เป็นภาษาไทย และผลงานต้องไม่เคยส่งประกวด หรือจัดพิมพ์เผยแพร่ในรูปแบบใดๆ มาก่อน / มีความยาวไม่ต่ำกว่า 80 หน้ากระดาษ A4 ขนาดอักษร 14 Point ไม่ได้ลอกเลียนและดัดแปลงจากเรื่องใดเรื่องหนึ่งจากผู้ใด และแต่ละท่านสามารถส่งผลงานเข้าประกวดได้เพียง 1 เรื่อง เป็นต้น จึงนับได้ว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับนักเขียนสตรีไทย ที่มีผลงานอยู่ในวงวรรณกรรมไทยอยู่แล้ว และจะเป็นเวทีอีกหนึ่งเวทีให้สตรีไทยที่สนใจงานด้านการประพันธ์ ก้าวเข้ามาสู่ในวงการมากขึ้น
นอกจากนี้การที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานโล่รางวัลให้แก่ผู้ชนะเลิศในการประกวด นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อม แก่ผู้ชนะเลิศการประกวด ตลอดจนคณะผู้ดำเนินโครงการชมนาด บุ๊ก ไพรซ์ (Chommanard Book Prize ) ในครั้งนี้”
ทั้งนี้ รางวัลชนะเลิศ ยังได้รับเงินรางวัลจำนวน 30,000 บาท และค่าลิขสิทธิ์ในการจัดพิมพ์เป็นเล่ม ทั้งฉบับภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ตามมาตรฐานค่าตอบแทนลิขสิทธิ์ของแต่ละประเทศ ส่วนรางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล จะได้รับโล่แกะสลักสัญลักษณ์รางวัลChommanard Book Prize จากคณะกรรมการดำเนินงาน พร้อมเงินรางวัลๆ ละ 10,000 บาท และต้นฉบับจะได้รับการจัดพิมพ์ค่าลิขสิทธิ์ตามมาตรฐานไทย เพราะจัดพิมพ์เพียงภาษาเดียว
นายอาทร เตชะธาดา กรรมการผู้จัดการ บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า “โครงการชมนาดฯ ได้มีการเปิดรับพิจารณาผลงานกันตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2550 จนถึงวันที่ปิดรับต้นฉบับ 15 ธันวาคม 2550 มีผู้ส่งต้นฉบับนวนิยายเข้ามาถึง 25 เรื่อง อันได้แก่เรื่อง นิรันดร์, ถนนสายนี้ไปเมืองหลวง, ล้วนเป็นเหตุให้เกิดรัก, คุณยายบัวขาว, นกผลัดรัง, วิมานบ้านนา, ดอกไม้ในใจ, นิยายรักจากบางกอก, ฤาน้องจะไม่รู้ว่าพี่รัก, กว่าดอกไม้จะบาน, อมร,วาร..ชีวัน, รอยวสันต์, วีรสตรี, จนนิรันดร์, คริสต์มาสที่รัก, แกงจืดหัวใจใส่ตำลึง, แก้วเวียงพิงค์, ปุยเมฆ, สุดดินสิ้นฟ้า,The Scorpion Army แผนป่วน...ก๊วนจารกรรม, อมิตดา, พลิ้วเพลงนารี เอกวิถี ลีลาคน, ตามใจ...หัวใจ : Set My Heart Free, The Mysterious Nobel : โนเบลแห่งความลับ นวนิยายทั้ง 25 เรื่อง คณะกรรมการคัดสรรจะคัดเลือกให้เหลือเพียง 6-9 เรื่อง และคณะกรรมการตัดสินจะคัดเลือกให้ได้รางวัลไม่เกิน 3 เรื่อง โดยคณะกรรมการทั้งหมด จะไม่ทราบชื่อนักเขียนที่ส่งผลงานเข้าประกวด เพราะจะมีการพิมพ์หมายเลขต้นฉบับ เริ่มจาก 001-025 แทนชื่อของผู้ส่งเข้าประกวด ขณะเดียวกันนักเขียนที่ส่งผลงานเข้าประกวด ก็ไม่ทราบชื่อคณะกรรมการเช่นกัน เพื่อให้เกิดการตัดสิน ที่รัดกุม และปลอดจากอคติใดๆ ทั้งสิ้น”
โดยคณะกรรมการคัดสรรแต่ละท่านเป็นผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ในแวดวงงานเขียนงานแปล นักวิจารณ์หนังสือ ได้แก่ อาจารย์สกุล บุณยทัต, ดร.วีระ สมบูรณ์, สันติสุข โสภณสิริ, สดใส ขันติวรพงศ์, วิภาดา กิตติโกวิท และสุมิตรา จันทร์เงา ซึ่งได้ทำการคัดเลือกนวนิยายจากผลงานนักเขียนสตรีไทยที่ส่งเข้าประกวด จำนวน 25 เรื่อง คัดสรรเหลือ 8 เรื่อง เรียงตามตัวอักษร ก-ฮ ได้แก่ 1.กว่าดอกไม้จะบาน 2.ตามใจ...หัวใจ : Set My Heart Free 3.The Mysterious Nobel: โนเบลแห่งความลับ 4.ปุยเมฆ 5.พลิ้วเพลงนารี เอกวิถี ลีลาคน 6.รอยวสันต์ 7.อมร และ 8.อมิตดา
และทั้ง 8 เรื่อง จะนำมาคัดเลือกเพื่อตัดสินโดยคณะกรรมการตัดสิน ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ อยู่ในแวดวงงานเขียน งานแปล นักวิชาการ นักวิจารณ์หนังสือ เช่นกัน ได้แก่ รศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์, รศ.ดร.สุจิตรา จงสถิตย์วัฒนา, คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์, ดร.สุรเดช โชติอุดมพันธ์ และรศ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ โดยคณะกรรมการทั้งหมด ได้พิจารณา และประเมินตัดสินผลงานจากเนื้องานอันทรงคุณค่า และกลการประพันธ์ ด้วยวิจารณญาณที่ปราศจากฉันทาคติ โทสาคติ ภยาคติ และโมหาคติ อย่างแท้จริง
รศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการตัดสิน กล่าวถึงผลงานของผู้ชนะเลิศว่า “ ผลงานเรื่อง “รอยวสันต์” ของนางยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง เป็นงานเขียนที่สร้างสรรค์มีความโดดเด่นในการนำข้อมูลที่ค้นคว้าอย่างดีมารังสรรค์ เป็นนวนิยาย ผู้เขียนใช้กลวิธีการเล่าเรื่องที่แยบยล การสร้างตัวละครที่มีชีวิตชีวา ถ่ายทอดปรัชญาชีวิตอันลุ่มลึก สะท้อนความงดงามในสิ่งสามัญธรรมดา และความสูงส่งในสิ่งละอันพันละน้อย เสน่ห์ของเรื่องอยู่ที่ความประณีตละเอียดอ่อนของจิตใจมนุษย์ที่ผู้อ่านสัมผัสได้ระหว่างบรรทัด ผ่านบทบาทของผู้หญิง ศิลปะการทำอาหาร และความผูกพันของชีวิตจากรุ่นสู่รุ่นที่มีความซับซ้อน ตามธรรมชาติของผู้หญิง ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการตัดสินจึงลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ “รอยวสันต์” ของนางยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง เป็นผลงานเขียนที่ได้รับการยกย่องให้เป็นวรรณกรรมประเภทนวนิยายระดับดีเด่น ประจำปีพุทธศักราช 2550 เพื่อรับโล่รางวัลพระราชทานชมนาดในครั้งนี้ ส่วนรางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัลนั้น คณะกรรมการตัดสิน ได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว ซึ่งเป็นที่น่าเสียดาย ที่ผลงานเข้ารอบตัดสินอีก 7 เรื่อง ยังไม่สามารถได้รับรางวัลชมเชยในปีนี้ ”
นอกจากนี้ ภายในงาน ยังได้จัดอภิปรายให้ความรู้ ในเรื่อง “จะส่งนวนิยายไทยออกสู่ตลาดโลกได้อย่างไร” โดยเดวิด จอห์นสัน บรรณาธิการผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งออกหนังสือไทย : แปลไปสู่ตลาดโลก / ริสรวล อร่ามเจริญ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ และจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย / เพ็ญศรี เคียงศิริ นักเขียนสตรีผู้มีประสบการณ์ในด้านนี้โดยตรง ให้แก่ประชาชนที่สนใจร่วมงานครั้งนี้อีกด้วย
ดอกชมนาดมีรูปร่างเหมือนกับดวงดาว งานเขียนของนักเขียนสตรีไทยท่านใดที่จะได้มีโอกาสไปสุกสกาวในนานาอารยประเทศ เหมือนเช่นในปีนี้ ผู้สนใจสามารถติดตามผลงาน และร่วมเป็นกำลังใจให้นักเขียนสตรีไทย หรือสนใจส่งผลงานเขียนเข้าประกวด โดยสามารถสอบถามรายละเอียดโครงการชมนาดฯ ได้ที่ บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด เลขที่ 668 - 676 ถนนจรัญสนิทวงค์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กทม. 10700 / โทร. 0-2435-5789, 0-2435-1671-2 / www.praphansarn.com / E-mail : editer@praphansarn.com
สอบถามเพิ่มเติมที่แผนกประชาสัมพันธ์ และสื่อสารองค์กร บีทูเอส โทร.0-2101-7133-34
คุณทิพยาภา ( บี ) 08-1345-8463 / คุณทัตเทพ ( อั้ม ) 08-1991-9057