กรุงเทพฯ--18 มิ.ย.--กระทรวงยุติธรรม
ในชุมชนที่เข้มแข็งผู้คนห่วงใย เป็นหูเป็นตาสอดส่องดูแลกันและกัน ก็ยากจะมีมิจฉาชีพคนใดกล้าไปก่อความเดือดร้อนเสียหายให้เกิดขึ้น เพราะเพียงมีใคร ทำอะไร ที่เป็นสิ่งผิดปกติให้เกิดขึ้นในชุมชนพวกเขาจะรู้ทันที และสามารถจัดการกับความผิดปกตินั้นให้ชัดเจนและหมดไปได้ ด้วยจุดแข็งของชุมชนเช่นนี้จึงเป็นพลังที่จะทำให้กระบวนการยุติธรรมเดินไปสู่ความสำเร็จ เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการทำงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษที่จะทำงานปราบปรามควบคู่การป้องกันร่วมกับภาคประชาชน เข้ามามีบทบาทการเฝ้าระวัง แจ้งข่าว ข้อมูล หาหลักฐาน พยานการกระทำผิดที่เกิดขึ้นในชุมชนท้องถิ่นของตน
เป็นภารกิจด้วยความเต็มใจของแกนนำชุมชนในเครือข่ายภาคประชาชนจากภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และกรุงเทพมหานคร กว่า 10,000 ชุมชน ที่ได้ร่วมมือเป็นพันธมิตรกับกรมสอบสวนคดีพิเศษมาตั้งแต่ปี 2550 ได้ร่วมกันทำภารกิจด้านการเฝ้าระวังปัญหาในพื้นที่ การแจ้งข้อมูลข่าวสารและการช่วย DSI ในการดำเนินคดี และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
จากรายงานการเฝ้าระวังของภาคประชาชนเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละ 80 ของคดีที่ร้องเรียน เป็นเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รองลงมาเป็นเรื่องยาเสพติด การฉ้อโกงประชาชน ล้วนเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ภาคประชาชนไม่อาจเพิกเฉยได้ ปัจจุบันพื้นที่เป้าหมายทั่วประเทศกว่า 80,000 พื้นที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงเร่งขยายเครือข่ายเพื่อให้การเฝ้าระวังมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยเล็งเห็นแล้วว่า เครือข่ายภาคประชาชนเป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนงานภาครัฐ เป็นหูเป็นตา สอดส่องความเคลื่อนไหวของอาชญากรรม
สอดคล้องกับคำกล่าวของ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ได้เน้นย้ำและมอบนโยบายให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเดินหน้าแนวทางการสร้างพันธมิตรและเครือข่ายโดยภาคประชาชน ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาอาชญากรรมที่ทวีความรุนแรงในปัจจุบัน ที่ผู้ประกอบอาชญากรรมมีความรอบรู้ หลบหลีกการป้องกันจากฝ่ายรัฐที่จะปราบปรามให้ได้ โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษมีหน้าที่อำนวยความยุติธรรมและสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนในการป้องกัน ปราบปรามและควบคุมอาชญากรรมที่สลับซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม ยาเสพติด ฉ้อโกง ผู้มีอิทธิพล และการทุจริตคอรัปชั่น รวมทั้งปัญหาการค้ามนุษย์ สิ่งเหล่านี้ต้องแก้ไขให้หมดไป วิธีการที่ทำได้โดยง่ายคือการสร้างพันธมิตรและเครือข่าย โดยภาคประชาชนจะช่วยเหลือภาครัฐในการป้องกันอาชญากรรมที่เกิดขึ้นทั่วทุกหัวระแหง เพราะภาคประชาชนสามารถทราบดีถึงปัญหาที่เกิดในพื้นที่ซึ่งบางแห่งภาครัฐไม่สามารถเข้าไปดูแลได้อย่างทั่วถึง
ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการยุติธรรม เป็นหัวใจความสำเร็จของกระบวนการยุติธรรม เพราะความจริงแล้วคนในชุมชนสามารถทำให้เกิดความสงบสุขได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้กระบวนการยุติธรรม แต่ถ้ามีเรื่องที่ต้องเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม สิ่งที่ชุมชนจะช่วย ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งข้อมูล เบาะแส การเฝ้าระวัง เป็นการช่วยเสริมให้กระบวนการยุติธรรมประสบผลสำเร็จ อีกทั้งการเข้ามาเป็นเครือข่ายดีเอสไอก็ให้ผลโดยตรงกับประชาชน จึงเป็นภาพที่ประชาชนสนใจ มีความหวังและอยากให้ความร่วมมือ เพราะดีเอสไอมีอำนาจในเชิงกฎหมาย มีเครื่องมือที่จะไปสร้างสิ่งดีงามให้กับสังคมไทยได้ ตอนนี้เครือข่ายดีเอสไอภาคประชาชนคือกลุ่มคนรุ่นบุกเบิกที่จะมาร่วมทำให้นโยบายของกระทรวงยุติธรรมเดินหน้าไปได้และทำให้คำว่า “ยุติธรรมถ้วนหน้า ประชามีส่วนร่วม” เป็นจริงได้
ด้านแกนนำเครือข่าย DSI ภาคประชาชน จังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวคิดของ DSI ที่เอาชุมชนเป็นตัวตั้ง และทำงานโดยมีเป้าหมายร่วมกันว่า มีภารกิจในการเฝ้าระวัง แจ้งข้อมูลแล้วนำไปสู่การเก็บพยานหลักฐาน มีการประเมินปัญหาในพื้นที่ว่ามีอะไรบ้าง ก่อนไปเข้าคลินิกรับเรื่องราวร้องทุกข์ของ DSI ซึ่งก็พบว่าในพื้นที่มีปัญหาเยาวชนถูกแก๊งค้ามนุษย์ล่อลวงไป ปัญหาผู้มีอิทธิพลเชื่อมโยงกับยาเสพติด ต่อมาเมื่อดีเอสไอลงพื้นที่ไปติดตามผลทำให้ชุมชนตื่นตัวอยากให้ความร่วมมือมากขึ้น มีการแจ้งเบาะแสถึง DSI อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะสินค้าหนีภาษี ยาเสพติด และผู้มีอิทธิพล
แกนนำเครือข่าย DSI ภาคประชาชน จังหวัดพังงา กล่าวว่า แม้การทำงานร่วมกับ DSI จะไม่ต่างจากการทำงานร่วมกับภาครัฐอื่นๆ แต่การทำงานร่วมกับดีเอสไอเราต้องเข้าใกล้กับคดี หรือเรื่องการขัดผลประโยชน์กับผู้ที่ทำลายทรัพยากรของประเทศ ซึ่งปัจจุบันมาจากกลุ่มทุนทั้งในและนอกพื้นที่ ยิ่งในพื้นที่มีการพัฒนาเรื่องการท่องเที่ยวหรือการลงทุนเยอะๆ ก็จะเสี่ยงในเรื่องความปลอดภัยสูง แกนนำชุมชนทำงานแบบเปิดเผยตัวไม่ได้ และการทำงานร่วมกับดีเอสไอก็ไม่ได้คาดหวังว่าให้ปัญหาสิ้นสุด เพราะการทำลายทรัพยากรมาจากหลายส่วน แม้กระทั่งชาวบ้านเอง แต่ก็หวังว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้บ้าง ประเด็นสำคัญคือ ทำอย่างไรให้ชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของรัฐ ซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ที่นำพาให้ชาวบ้านและคนอื่นเข้าไปทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
แกนนำเครือข่าย DSI ภาคประชาชนภาคเหนือ กล่าวว่า การทำงาน กับ DSI เรารู้ว่าความจริงแล้วเป็นปัญหาของชาวบ้าน แต่ลำพังชาวบ้านทำด้วยตัวเองไม่ได้เพราะคนที่ทำให้เกิดปัญหามีหลายกลุ่มเยอะแยะ ทั้งกลุ่มผู้มีอิทธิพล กลุ่มผู้มีผลประโยชน์ เต็มไปหมด พอจะแก้ปัญหาลำพังชุมชนก็แก้ไม่ได้ เพราะเกี่ยวข้องกับความปลอดภัย เกี่ยวข้องกับเรื่ององค์ความรู้ที่ไม่เพียงพอ ทรัพยากรที่ไม่เพียงพอ ฉะนั้นภาคประชาชนจึงต้องจับมือกับ DSI
แกนนำเครือข่าย DSI ภาคประชาชนพื้นที่กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การเข้ามาร่วมกับ DSI เพราะเห็นว่ามีประโยชน์ และทราบว่าปัญหาในการทำงานของ DSI คือการขาดข้อมูล พยาน หลักฐาน เพราะพวกที่โกงกิน ส่วนใหญ่ก็เป็นนักการเมืองกับข้าราชการที่รู้กันและเอื้อกันอยู่ ตั้งแต่ภาคประชาชนเข้ามาร่วมในคณะทำงาน DSI ก็ได้ข้อมูลที่ดี อย่างในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็น แชร์ก๋วยเตี๋ยว แชร์ข้าวสาร เราก็แจ้งเบาะแส แจ้งข้อมูลไป DSI ก็รีบดำเนินการ มาทำเองไม่เกี่ยวกับเรา ติดตามเชิงลึกจนถึงการจับกุมคนผิดมาลงโทษ งานของดีเอสไอช่วยคนและทำให้รู้เท่าทันเล่ห์ของมิจฉาชีพในปัจจุบัน ระวังป้องกันตัวเองได้ และจากผลที่เกิดขึ้นตอนนี้มีคนสนใจเข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายเพิ่มขึ้น นั่นหมายความว่าในชุมชนจะมีความปลอดภัยมากขึ้นด้วย
“อย่างเรื่องยาเสพติดอาสาสมัครจะติดตามว่าใครขาย ขายที่ไหน ขายให้ใคร เก็บยาไว้ที่ไหน ต้องได้ข้อมูลที่ชัดเจนและคนที่เข้ามาทำตรงนี้ก็ต้องเชื่อใจได้ ขณะเดียวกันเมื่อแจ้งไปแล้วก็ต้องรับประกันได้ว่าเราจะปลอดภัย หน่วยงานภาครัฐต้องมีการรับช่วงทำจริง ตำรวจเชื่อใจได้” แกนนำคนเดิมสรุป และยืนยันว่าสิ่งที่ทำให้ตนยังทำอยู่แม้เสี่ยงอันตราย ก็เพราะอยากเห็นชุมชนสงบสุขมีภูมิคุ้มกันในชุมชน
แกนนำเครือข่าย DSI ภาคประชาชนจากภาคอีสาน กล่าวว่า แนวคิดของดีเอสไอเป็นเรื่องที่ดีเพราะการเฝ้าระวังภาคประชาชนเป็นการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนจริง ๆ เพราะความยุติธรรมไม่ได้สิ้นสุดที่คนร้ายถูกจับ บางคดีที่สำคัญ ๆ ถ้ามีคนที่มีอำนาจ มีอิทธิพลเกี่ยวข้อง การทำงานแบบเจาะลึกของ DSI ทำให้พี่น้องประชาชนคนธรรมดาที่มีคดีนั้นมีความหวัง
การทำงานเฝ้าระวังได้สอดแทรกแนวคิดของดีเอสไอไปในการทำกิจกรรมเครือข่ายเฝ้าระวังด้านยาเสพติดกับชุมชน ปัญหาที่สะท้อนจากในพื้นที่ส่วนใหญ่คือ ยาเสพติด ความยากจน สิ่งแวดล้อม บุกรุกทำลายป่า การแจ้งเบาะแสส่วนใหญ่เป็นการมาเล่าสู่กันฟังแบบปรึกษา ขอความช่วยเหลือ เพราะบางเรื่องที่เป็นความเดือดร้อนสามารถแก้ได้ในชุมชน มีการตั้งกติการ่วมกัน อย่างกรณีการจัดงานบุญหากใครเมาจะถูกจับขังไว้จนกว่าจะหาย และต้องเสียค่าปรับเข้ากองทุนชุมชนเอาไปทำประโยชน์ ถือเป็นการควบคุมกันในชุมชน แต่หากเรื่องไหนเข้าข่ายคดีพิเศษจึงแจ้ง DSI ดำเนินการ
นายภิญโญ ทองชัย รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ดีเอสไอทำงานกับภาคประชาชนแบบพันธมิตร ที่ต้องช่วยเหลือกันเพราะหลายคดีถ้าภาคประชาชนไม่ร่วมมือเราก็ทำไม่สำเร็จ ทั้งดีเอสไอและภาคประชาชนต้องปรับวิธีคิดบนฐานความสงบสุขของชุมชน/สังคม โดยกำหนดวิธีการทำงานและวิธีบริหารจัดการเพื่อขจัดปัญหาร่วมกัน ซึ่งแต่ละแห่ง/บริบทพื้นที่ มีการทำงาน/เครื่องมือการทำงานแตกต่างกัน ผลที่เกิดเป็นความสำเร็จของทั้งภาครัฐและภาคประชาชน และสิ่งสำคัญคือ ภาคประชาชนเครือข่ายมีความปลอดภัย ความร่วมมือในระยะต่อไป คือ 1.พื้นที่เฝ้าระวัง/หมู่บ้าน ซึ่งบางหมู่บ้านมีการจัดเวรยามเฝ้าระวังจะบวกเรื่องสิ่งแวดล้อมไปด้วย 2. การแจ้งข่าวต้องมีการกำหนดวิธีการที่ปลอดภัยร่วมกัน 3. คัดเลือกพื้นที่ปฏิบัติการเข้มข้น 5-10 พื้นที่เพื่อขยายผลต่อไป
ในช่วงเวลาปีเศษได้พิสูจน์แล้วว่าพลังความร่วมมือของภาคประชาชนในพื้นที่คือกลไกสำคัญที่ทำให้งานคดีพิเศษหลายเรื่องสำเร็จ และความห่วงใยกันของคนในชุมชนคือเกราะป้องกันของชุมชนจากอาชญากรรมที่แท้จริง