กรุงเทพฯ--18 มิ.ย.--สพว.
ผลการดำเนินกิจกรรมฝึกอบรมบ่มเพาะของสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ภายใต้โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ในปี 2550 ที่ผ่านมา ภายหลังจากการติดตามผลการจัดตั้งธุรกิจใหม่/ขยายและปรับปรุงธุรกิจเดิม พบว่าจากผู้จบโครงการจำนวนทั้งสิ้น 467ราย มีผู้ประกอบการที่สามารถจัดตั้งธุรกิจใหม่/ขยายและปรับปรุงธุรกิจเดิมจำนวนทั้งสิ้น 199 ราย คิดเป็นร้อยละ 42.6 มีมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น 309,638,000.00 บาท มีการจ้างงานในปัจจุบันรวมทั้งสิ้น 1,375 คน
นายปราโมทย์ วิทยาสุข อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ดำเนินโครงการ “เสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่” (New Entrepreneurs Creation) หรือโครงการ NEC เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมพัฒนา SMEs โดยนำประสบการณ์จากการส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการ มาบูรณาการกับกิจกรรมสนับสนุนอื่นๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการสนับสนุนผู้ประกอบใหม่ ให้สามารถก่อตั้งกิจการได้สำเร็จและดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องเป็นแหล่งจ้างงานและสร้างรายได้แก่ประเทศต่อไป
“จากการที่รัฐบาลได้มีนโยบายอย่างชัดเจนในการส่งเสริมพัฒนา SMEs โดยถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ด้วยการสร้างผู้ประกอบการใหม่ ขณะเดียวกันก็จะช่วยเหลือพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs เดิมที่ยังคงมีศักยภาพให้อยู่รอด เพื่อให้ SMEs ทั้งรายใหม่และรายเดิมสามารถดำรงอยู่และเจริญก้าวหน้า ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ อันจะทำให้ประเทศไทยมีฐานธุรกิจที่กว้างขึ้น สามารถสร้างรายได้เพื่อนำมาพัฒนาประเทศ การดำเนินงานโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ จะช่วยให้ผู้สนใจที่มีศักยภาพในการเป็นผู้ประกอบการ ให้มีโอกาสสร้างธุรกิจด้วยตนเองด้วยการเป็นผู้ประกอบการ อันจะช่วยผลักดันให้เกิดกิจการใหม่ๆ เป็นแหล่งจ้างงานในระบบเศรษฐกิจของไทย ตลอดจนช่วยเพิ่มความเข้มแข็งให้กับวิสาหกิจขนาดเล็ก ในช่วงก่อตั้งกิจการ (2 ปีแรก) ให้สามารถอยู่รอดและรักษาสถานภาพการจ้างงานไว้ได้ รวมทั้งการจัดเตรียมความพร้อมให้แก่ทายาทธุรกิจ ในการสืบทอดกิจการให้สามารถดำเนินกิจการต่อเนื่องไปได้ด้วยดี รักษาสภาพการจ้างงาน และสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจต่อไปในอนาคต” นายปราโมทย์ กล่าว
นายปราโมทย์ กล่าวต่อว่า ในอดีตที่ผ่านมา ผู้ที่มีการศึกษาสูงมักมุ่งประกอบอาชีพรับเงินเดือนเป็นพนักงานหรือลูกจ้าง ในขณะที่ผู้ที่มีการศึกษาไม่สูงนักมักประกอบอาชีพอิสระหรือเป็นผู้ประกอบการ มักจะมีพื้นฐานความรู้ไม่เพียงพอที่จะบริหารจัดการกิจการให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันได้ภายใต้ระบบการค้าเสรียุคใหม่และในยุคที่ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวนำ กลยุทธ์ใหม่ในการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ SMEs ไทยจึงต้องมุ่งสนับสนุนผู้ที่มีการศึกษาดี มีความรู้ ความสามารถ ให้ก้าวเข้ามาเป็นผู้ประกอบการ การเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่จึงเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นในระบบเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งสนับสนุนให้ธุรกิจเหล่านี้สามารถเติบโตและมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้นตามลำดับ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีภูมิคุ้มกันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายธเนตร นรภูมิพิภัชน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวว่า ที่ผ่านมา สถาบันได้รับความไว้วางใจจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้ดำเนินโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่อย่างต่อเนื่อง สำหรับผลการดำเนินกิจกรรมฝึกอบรมบ่มเพาะของสถาบันภายใต้โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ ในปี 2550 ที่ผ่านมา ภายหลังจากการติดตามผลการจัดตั้งธุรกิจใหม่/ขยายและปรับปรุงธุรกิจเดิม พบว่าจากผู้จบโครงการจำนวนทั้งสิ้น 467 ราย มีผู้ประกอบการที่สามารถจัดตั้งธุรกิจใหม่/ขยายและปรับปรุงธุรกิจเดิม จำนวนทั้งสิ้น 199 ราย คิดเป็นร้อยละ 42.6 มีมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น 309,638,000.00 บาท มีการจ้างงานในปัจจุบันรวมทั้งสิ้น 1,375 คน
“จุดเด่นโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ของสถาบันก็คือ การวางแนวทางออกแบบหลักสูตรฝึกอบรมให้สามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายอย่างครบกระบวนการ ตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจว่าเราจะต้องมีความรู้พื้นฐานในเรื่องอะไรบ้าง จากนั้นก็จะเป็นความรู้ที่จะนำมาใช้ในการบริหารจัดการกับธุรกิจ ซึ่งรวมถึงการศึกษาดูงานสถานประกอบการที่ประสบความสำเร็จ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและมั่นคงในอนาคต ส่วนใหญ่ก็จะเป็นธุรกิจที่กำลังได้รับความสนใจในปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้เกิดแนวคิดทางธุรกิจ สามารถมองหาความต้องการของผู้บริโภค มองหาตลาดเฉพาะกลุ่มที่มีความเหมาะสมกับสินค้าหรือบริการที่ผลิตขึ้นมา ซึ่งเพียงพอที่จะมั่นใจได้ว่าธุรกิจมีรายได้ที่จะสามารถอยู่รอดและมีความยั่งยืนในอนาคต ตลอดจนการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์หรือบริการ (Value Creation) ให้เกิดขึ้น และเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศ” นายธเนตร กล่าว
นายธเนตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการดำเนินกิจกรรมฝึกอบรมบ่มเพาะ ภายใต้โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ ปี 2551 สถาบันดำเนินการจำนวนทั้งหมด 12 รุ่น กระจายไปตามพื้นที่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม ฉะเชิงเทรา และอุทัยธานี มีผู้จบโครงการรวมทั้งสิ้น 225 คน ประกอบด้วย สาขาอุตสาหกรรมทั่วไป จำนวน 149 คน สาขานวัตกรรมอุตสาหกรรม จำนวน 36 คน และสาขาอัญมณีและเครื่องประดับ จำนวน 40 คน
สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) เป็นองค์กรอิสระในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มีความเชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับธุรกิจ และการออกแบบ รวมทั้งการให้การอบรมอย่างต่อเนื่อง แก่ผู้ประกอบการในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) นอกจากนี้ ยังมีการให้คำปรึกษาแนะนำแก่องค์กรภาครัฐ ที่ต้องการส่งเสริมธุรกิจในท้องถิ่นให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ
คุณกฤตยา สุวรรณวงศ์ / คุณศศิธร ช้างใหญ่
โทรศัพท์ (02) 564-4000 ต่อ 6101 และ 6103
โทรสาร (02) 564-4000 ต่อ 6106
อีเมล์ krittaya@ismed.or.th/ Sasithon@ismed.or.th
ส่วนส่งเสริมการตลาด (ประชาสัมพันธ์)
สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
99 อาคารสถาบันพัฒนา SMEs (ยิมเนเซียม 1) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต คลองหลวง ปทุมธานี 12120
เว็บไซต์ www.ismed.or.th