กระทรวงไอซีที เดินหน้าดำเนินการตาม พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday June 18, 2008 16:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 มิ.ย.--กระทรวงไอซีที
กระทรวงไอซีที เดินหน้าดำเนินการตาม พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 ระบุครอบคลุมธุรกรรมและอำนวยความสะดวกปลอดภัยต่อการใช้งานยิ่งขึ้น
กระทรวงไอซีที เผยความสำเร็จการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หลัง พ.ร.บ.ธุรกิจทางอิเล็กทรอนิกส์ ฉบับที่ 2 มอบหน้าที่ให้แทนเนคเทค ระบุทีมคณะกรรมการฯ จะเข้มแข็งมากขึ้นเพราะเสริมทัพด้วยปลัดกระทรวงไอซีทีนั่งเป็นรองประธานฯ ย้ำสิ่งพิมพ์ออกของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ใช้แทนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์และใช้เป็นพยานหลักฐานได้ เชื่อกฎหมายที่ครอบคลุมขึ้นจะช่วยผลักดันให้ธุรกิจ e-Commerce และการทำธุรกรรมออนไลน์ของไทยได้รับความนิยมและส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
นายมั่น พัธโนทัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เผยว่า หลังจากพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 ได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 นั้น กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้เดินหน้าดำเนินงานที่สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ดังกล่าวอย่างเต็มที่ โดยขณะนี้ ได้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในสังกัดสำนักงานปลัด กระทรวงไอซีทีฯ เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานธุรการคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์แทนศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (เนคเทค) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
“ตาม พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ได้ระบุให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นประธานกรรมการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อวางนโยบายส่งเสริมและพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และติดตามดูแลการประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การออกระเบียบหรือประกาศเกี่ยวกับลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ฯ เป็นต้น โดยยังได้เพิ่มปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นรองประธานกรรมการฯ และหัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นกรรมการและเลขานุการแทนผู้อำนวยการเนคเทค เพื่อให้ทีมคณะกรรมการฯ มีความแข็งแกร่งและดำเนินนโยบายไปในทิศทางเดียวกันยิ่งขึ้น”
นายมั่นฯ กล่าวสรุปว่า กระทรวงไอซีที เชื่อว่า พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ฉบับที่ 2 นี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นได้ เนื่องจากการทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มีความสะดวกในการซื้อขายและใช้บริการ ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อขายสินค้า รวดเร็วและสามารถดำเนินการได้โดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการกำหนดให้สิ่งพิมพ์ออกของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความถูกต้องครบถ้วนตรงกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับการรับรองสามารถใช้แทนต้นฉบับและเป็นพยานหลักฐานได้ จึงทำให้การสั่งซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ตถือว่าเป็นธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถฟ้องร้องกันทางกฎหมายได้ ทั้งนี้ การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ การซื้อ-ขายสินค้าผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Commerce: e-Commerce) การสมัครสมาชิกผ่านระบบออนไลน์ การตกลงทำสัญญาซื้อ-ขาย หรือสัญญาตกลงตามข้อบังคับต่างๆ บนเครือข่าย การโอนเงินด้วยระบบอัตโนมัติผ่านระบบเครือข่าย เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ