กรุงเทพฯ--19 มิ.ย.--กรมศุลกากร
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ อธิบดีกรมศุลกากร แถลงข่าวกรมศุลกากรจับกุมไม้พะยูงและสินค้าลักลอบหนีศุลกากรเพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ณ บริเวณลานวางตู้ขาออกท่าเรือกรุงเทพ จำนวน 10 ตู้คอนเทนเนอร์ มูลค่ากว่า 20 ล้านบาท
ตามที่กรมศุลกากรได้เร่งรัดปราบปรามสินค้าหนีภาษี สินค้าละเมิดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา สินค้าที่เป็นอันตรายต่อสังคมสิ่งแวดล้อม และการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีปกป้องสังคมและสิ่งแวดล้อม นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ อธิบดีกรมศุลกากร จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ฯที่เกี่ยวข้องดำเนินการวางแผนจับกุมผู้กระทำผิด โดยมีรายละเอียดดังนี้
วันที่ 16 มิถุนายน 2551 จับกุมได้ 2 ราย ได้แก่
-จับกุมแผงวงจร TV,DVD เก่าใช้แล้ว ไม่มีใบอนุญาตในการส่งออก จำนวน 2 ตู้คอนเทนเนอร์ ขนาด 20 ฟุต หมายเลข TSLU 5205701 และ GESU 2726609 ซึ่งเป็นสินค้าอันตรายตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. 2546 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 โดยผู้ส่งออก ราย นายประเสริฐ เมฆชา ตามใบขนสินค้าขาออกเลขที่ A 013-1-5106-11128 เป็นความผิดในการพยายามนำของต้องห้าม ต้องกำกัด ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ตามมาตรา 99,27 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469
-จับกุมไม้พะยูง จำนวน 2 ตู้คอนเทนเนอร์ ขนาด 40 ฟุต หมายเลข TTNU 5877304 และ TSLU 5403055 เตรียมส่งออกไปฮ่องกง โดยผู้ส่งออกรายบริษัท เฟิร์สลอแยล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ตามใบขนสินค้า ขาออกเลขที่ A 014-1-5106-01623 โดยสำแดงชนิดสินค้าเป็นท่อเหล็กดึง/รีดเย็น
วันที่ 17 มิถุนายน 2551 จับกุมไม้พะยูง จำนวน 6 ตู้คอนเทนเนอร์ ขนาด 20 ฟุต โดยผู้ส่งออกราย บริษัท สยามออโต้เมชั่น โมลด์ จำกัด แยกเป็น 2 ใบขนฯ สำแดงชนิดสินค้าเป็นแผ่นพิมพ์ทำด้วยเหล็ก รายละเอียดดังนี้
-ใบขนสินค้าขาออกเลขที่ A013 1-5106-12870 จำนวน 4 ตู้คอนเทนเนอร์ หมายเลข GESU 2467107, UESU 2372134, EMCU 3521611 และ TGHU 2613415 ส่งออกโดยเรือ UNI- ADROIT เที่ยววันที่ 3-07-2551 ปลายทางประเทศจีน
-ใบขนสินค้าขาออกเลขที่ A 014-1-5106-05629 จำนวน 2 ตู้คอนเทนเนอร์ หมายเลข TTNU 2012816 และ TTNU 2161173 ส่งออกโดยเรือ TS Japan เที่ยววันที่ 4-07-2551
กรณีดังกล่าวเป็นการสำแดงชนิดสินค้าเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงอากร ข้อห้าม ข้อกำกัดในการส่งออกสินค้าไปนอกราชอาณาจักร อันเป็นความผิดตามมาตรา 99, 27 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 ประกอบมาตรา 16, 17 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 และสินค้าไม้ทั้งหมดเป็นของควบคุมการส่งออกตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2549 เจ้าหน้าที่ฯได้ยึดไม้ของกลางดังกล่าวส่งกรมศุลกากรเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
สำหรับการป้องกันและปราบปรามการลักลอบส่งออกไม้พะยูง ตั้งแต่กุมภาพันธ์ พ.ศ.2548 จนถึงปัจจุบัน กรมศุลกากรสามารถจับกุมได้ทั้งสิ้น 237 ราย จำนวน 572 ตู้คอนเทนเนอร์ มูลค่ากว่า 572 ล้านบาท และขณะนี้กรมศุลกากรได้ดำเนินการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานี้โดยได้ประสานข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช เพื่อหามาตรการป้องกันและปราบปรามการลักลอบส่งออกไม้พะยูงและติดตามหาผู้ร่วมขบวนการมาลงโทษตามกฎหมายต่อไป