TMC เสริมศักยภาพ หนุนนิคมวิจัย แนะนำบริการครบวงจร ในงาน Services@ TSP

ข่าวทั่วไป Thursday June 19, 2008 14:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 มิ.ย.--ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี
TMC หนุนผู้ประกอบการ ภาคเอกชน เสริมศักยภาพงานวิจัยและพัฒนา เตรียมเปิดงาน Services @ TSP เพื่อแนะนำบริการเอกชนอย่างครบวงจร อาทิ รับปรึกษาเพื่อพัฒนาธุรกิจ การให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ลดหย่อนภาษี 200% ฯลฯ พร้อมชมนิทรรศการภายในงานที่รวบรวมสิทธิประโยชน์และบริการต่างๆ ในหน่วยงาน สวทช. ย้ำครบวงจรด้านวิจัยและพัฒนา ด้วยการเปิดโอกาสให้เข้าชมห้องปฏิบัติการวิจัยของ 4 ศูนย์วิจัยแห่งชาติ เพื่อร่วมเสริมศักยภาพ “นิคมวิจัย”และภาคการผลิตของประเทศ
การเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีถือเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่สำคัญยิ่ง โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรม การพัฒนากำลังคน งานวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชน รวมถึงให้ความสำคัญในการเชื่อมโยงภาคเอกชนกับหน่วยงานวิจัย โดยจัดให้มีพื้นที่บริการที่สะดวก รวดเร็ว และเข้าถึงบริการอย่างครบวงจร จึงเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการพัฒนาภาคการผลิตของประเทศ
ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความจำเป็นยิ่ง โดยเฉพาะการเร่งส่งเสริมและสนับสนุนภาคเอกชนเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้ก้าวทันกับกระแสของการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้น โดยเชื่อมโยงทุกภาคส่วนเข้าหากันทั้งระหว่างภาคการศึกษาและการวิจัยกับภาคการผลิต รวมทั้งความเชื่อมโยงระหว่างภาคการผลิตด้วยกัน อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (TSP : THAILAND SCIENCE PARK) จึงเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้เข้ามา “เช่าพื้นที่” ในการทำวิจัยและพัฒนา เพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการด้านวิจัยและพัฒนาที่มีอยู่อย่างสะดวก รวดเร็วและครบวงจร
ผอ.อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย กล่าวว่า ภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยยังมีสิทธิประโยชน์หลากหลาย อาทิ ผู้เช่าพื้นที่จะได้รับสิทธิประโยชน์จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและกรมสรรพากร รวมทั้งสิทธิในการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆที่จัดเตรียมไว้ให้ เช่น กิจการที่เริ่มก่อตั้งและกิจการขนาดเล็กสามารถเช่าใช้พื้นที่เพื่อการทำวิจัยและพัฒนาภายในหน่วยบ่มเพาะเทคโนโลยีด้วยอัตราพิเศษ กิจการขนาดใหญ่สามารถเลือกระหว่างพื้นที่ในอาคารหรือที่ดินเปล่าเพื่อสร้างอาคารสำหรับการวิจัยและพัฒนาของตนเอง พร้อมด้วยการให้บริการทางเทคนิค การเงิน บุคลากรและธุรกิจ เพื่อลดต้นทุนในการทำวิจัยและพัฒนา
ตัวอย่าง ความสำเร็จของอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ที่ผ่านมานั้นได้มีบริษัทชั้นนำทั้งในและต่างประเทศเข้ามาใช้บริการในการเสริมศักยภาพด้านงานวิจัยและพัฒนามากขึ้น อาทิ บริษัทในเครือเบทาโกร ซึ่งเริ่มต้นด้วยการมาเช่าพื้นที่ เพื่อทำงานวิจัยของตนเองและทำงานวิจัยร่วมกับศูนย์วิจัยแห่งชาติอย่างไบโอเทค จนกระทั่งได้มีการสร้างศูนย์วิจัยในนาม“บริษัท ศูนย์วิทยาศาสตร์เบทาโกร จำกัด” ภายในพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เพื่อทำงานวิจัยที่เข้มข้นขึ้น อาทิ การใช้เครื่องมือวิเคราะห์ที่มีเทคโนโลยีทันสมัย ศักยภาพสูง และมีความหลากหลายด้านการทดสอบอย่างครบวงจรทั้งด้านปศุสัตว์และอาหาร
หรือบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกจากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์จูน อย่าง บริษัท Ecolab จำกัด ซึ่งทำงานเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอาหารก็เข้ามาจัดตั้งศูนย์วิจัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขึ้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย รวมทั้งบริษัทในกลุ่มเครือซิเมนต์ไทยและบริษัทอื่นๆอีกกว่า 55 บริษัท ทำให้อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยกลายเป็น “นิคมวิจัย” ที่พร้อมบริการด้านการทำวิจัยและพัฒนาอย่างครบวงจร
ทั้งนี้ เพื่อร่วมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการสนับสนุนด้านงานวิจัยและบริการต่างๆแก่ภาคเอกชน อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จึงจัดให้มีงาน Services@ TSP ขึ้นโดยเชิญชวนให้ภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้เช่าพื้นที่ภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยและผู้ประกอบการที่สนใจ เข้าเยี่ยมชมนิทรรศการของหน่วยงานภายในสวทช. ที่มีบริการสนับสนุนการทำวิจัยและพัฒนา รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือและการพัฒนาด้านงานวิจัยของภาคเอกชนด้วยอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีบริการให้คำปรึกษาเพื่อการพัฒนาธุรกิจ การให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การลดหย่อนภาษี 200% บริการด้านวิชาการ บริการด้านเครื่องมือวิทยาศาสตร์ และบริการด้านจัดการทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น
ดร.เจนกฤษณ์ กล่าวอีกว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นปีแรกที่ได้นำบริการต่างๆของอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยมาแนะนำให้กับผู้เช่าพื้นที่ภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยและผู้ประกอบการที่สนใจ ตัวอย่างเช่น บริการฐานข้อมูลการวิจัย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการค้นหาว่ามีนักวิจัยทำเรื่องใดบ้าง ซึ่งฐานข้อมูลส่วนนี้หากไปใช้ภายนอกจะต้องมีการเสียค่าใช้จ่ายต่อปี แต่บริษัทฯ ที่อยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ฯจะสามารถใช้บริการส่วนนี้ได้ฟรี ซึ่งทำให้สะดวกและสามารถเข้าถึงข้อมูลด้านงานวิจัยอย่างรวดเร็ว
ภายในงานดังกล่าวยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าชมห้องปฏิบัติการวิจัยของ 4 ศูนย์วิจัยแห่งชาติ (เนคเทค ไบโอเทค เอ็มเทค และนาโนเทค) เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถทราบข้อมูลด้านงานวิจัยของศูนย์แห่งชาติ และนำไปสู่การสร้างความร่วมมือหรือต่อยอดด้านงานวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการและผู้สนใจทั่วไป สามารถเข้าร่วมงาน Services@ TSP โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ในวันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน 2551 เวลา 09.00-14.30 น. ณ ห้องประชุมออดิทอเรียม อาคารสำนักงานกลาง
อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย จ.ปทุมธานี หรือสำรองที่นั่งได้ที่คุณเสาวลักษณ์ โทร. 0 2564 6700 ต่อ 5555
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
งานประชาสัมพันธ์ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี โทร. 02-564-7000 ต่อ 1476-8 www.tmc.nstda.or.th
คุณ ธณาพร 02-270-1350-4 ต่อ 104 E-mail: prtmc@yahoo.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ