กรุงเทพฯ--19 มิ.ย.--โรงแรมตวันนา
โครงการตวันธรรม โดย องค์การเผยแผ่วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร สำนักงานเขตบางรัก และโรงแรมตวันนา ร่วมกันจัดโครงการตวันธรรม ครั้งที่ 39 โดยการบรรยายธรรมในครั้งนี้ เป็นนัดพิเศษบรรยายเป็นภาคภาษาอังกฤษเป็นครั้งแรก โดยได้รับเกียรติจาก ‘ สมเด็จ พักชก ริมโปเช ’ สมเด็จพระสังฆราช แห่งกาฐมัณฑุ ประเทศเนปาล ทรงแสดงธรรมเรื่อง “ตัวตนที่ยิ่งใหญ่” และพร้อมกันนี้ พระราชปฏิภาณมุนี ประธานองค์การเผยแผ่วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ร่วมเจริญสมาธิภาวนา เรื่อง ทางดับทุกข์ โดยมี กลินท์ สุรวงศ์ บุนนาค กรรมการ บริษัทตวันนาโฮเต็ล จำกัด และผู้ก่อตั้งโครงการตวันธรรม ถวายการต้อนรับ ที่ห้องศรีสุริยวงศ์บอลรูม โรงแรมตวันนา ถนนสุรวงศ์ ทั้งนี้มีผู้สนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้าร่วมรับฟังการบรรยายธรรมกว่า 400 ท่าน
สมเด็จ พักชก ริมโปเช ’ ผู้สืบทอดสายการปฏิบัติ “ ชกจูร์ ลิมปะ (Chok Gyur Lingpa Lineage) แห่งนิกายญิงมาปะ (Nyingma School) ของพุทธศานาวัชรยาน ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2525 ที่ประเทศเนปาล จบการศึกษาระดับ “เคนโป ซึ่งเทียบเท่าปริญญาเอก (Ph.D.) ทางศาสนาวิทยา จากองค์สมเด็จดาไลลามะที่ 14 และจาก จงซาร์ เคียนเซ ริมโปเช และจบการศึกษาหลักสูตรพุทธปรัชญาที่สถาบันการศึกษาพุทธศาสนาชั้นสูงจงซาร์ ประเทศอินเดีย พระองค์เดินทางเผยแผ่พุทธศาสนาในหลายๆ ประเทศ อาทิ ประเทศเดนมาร์ก ประเทศเยอรมนี ประเทศออสเตรีย ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ประเทศเบลเยี่ยม ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศแคนาดา พระองค์นำหลักธรรมในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยถ่ายทอดคำสอนคำบรรยายใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ตรงไปตรงมา ทันสมัย และทันเหตุการณ์ ทำให้ได้หลักข้อคิดที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี
โดยงานนี้มีนักแปลผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษาศาสตร์ และรอบรู้เรื่องราวขนบธรรมเนียมประเพณีของทิเบต/เนปาลเป็นอย่างดี อาทิ รศ.ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์, รศ.ดร.กฤษดาวรรณ หงศ์ลดารมภ์, อาจารย์ ทวีศักดิ์ คุรุจิตธรรม และ มร.โจเอล โฮ ได้ร่วมแปลการบรรยายธรรมครั้งนี้
“ การฟังธรรมต้องฟังเป็น โดยคำนึงถึงหลัก 3 ประการคือ ฟังอย่างระมัดระวัง ฟังอย่างตั้งใจมีสติ-สมาธิ ทำตัวเสมือนภาชนะที่เปิดเพื่อการรับรู้สิ่งต่างๆ ได้ / เลือก ‘ จำ ’ ในสิ่งที่สำคัญ สำคัญมาก และการฟังธรรมที่ดี ต้องมีทัศนคติที่ถูกต้อง คือฟังธรรมไม่ใช่เพื่อประโยชน์ต่อตนเองผู้เดียว แต่ต้องทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่นและสัตว์อื่นด้วย
การบรรยาย ‘ตัวตนที่ยิ่งใหญ่’ วันนี้ มองจากประสบการณ์ของตนเอง เพราะเมื่อสมัยอายุน้อยกว่านี้มีทุกข์อันเกิดจากตำแหน่งริมโปเช ซึ่งทำให้มีผู้คาดหวังสูง ถูกวางตัวให้เป็นพระอาจารย์ในอนาคต ทำให้เกิดความกดดัน เป็น ‘ ความโกรธที่ยิ่งใหญ่ ’ จนกลายเป็นคน ‘ ขี้โมโห ’ ...ครั้นพออยู่ได้ 16 เข้ามหาวิทยาลัยได้ศึกษา
พระพุทธศาสนา และได้เดินทางบ่อยๆ ได้เห็นโลกกว้าง มองเห็นอะไรมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นใครก็มีทุกข์ทั้งนั้น และทุกข์ก็มีหลายรูปแบบ ทั้งพระอาจารย์ได้สั่งสอนได้ฝึกเรื่อง ‘ความกรุณา’ ซึ่งเป็นคนละแบบกับความเมตตา เพราะถ้าเห็นผู้อื่นเจ็บป่วย เราเห็นตรงนั้นเกิดความสงสาร-นี่คือเมตตา แต่ความกรุณา คือความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำอะไรเพื่อช่วยเหลือเขา ได้ฝึกตรงนี้ เห็นชัดเลยว่าความโกรธลดลงจริงๆ
ความอิจฉาริษยา ความหึงหวง อารมณ์หยิ่งยะโสคิดว่าตนเองดีกว่าคนอื่น และความโกรธ ล้วนเป็นทุกข์ ครั้งหนึ่งเคยโกรธแต่เป็นพระภิกษุตีใครไม่ได้ เลยปานาฬิกาจนพังไปเลย รู้สึกดีขึ้น แต่เป็นช่วงระยะสั้นๆ พอนึกจะดูเวลาขึ้นมาไม่มีเวลาให้ดูแล้ว ก็รู้สึกเสียดาย นาฬิกาเรือนนั้นแพงมากด้วย ฉะนั้นการปล่อยอารมณ์โกรธแบบนี้ ทำครั้งแรกก็โอ.เค. ทำครั้ง 2 ครั้ง 3 จะกลายเป็นนิสัย อย่างนี้ไม่ดี แต่หากเก็บความโกรธไว้ก็ไม่ดีอีก ไม่มีผลดีต่อสุขภาพ เคยมีคนแนะนำให้กลืนความโกรธไว้ที่คอ ตรงนี้เป็นอันตราย อาจเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งได้ ฉะนั้นจะโพล่งออกมาก็ไม่ได้ จะเก็บไว้ก็ไม่ดี จะทำอย่างไร
ฉะนั้นอารมณ์ความโกรธเป็นตัวบ่อนทำลายเป็นทุกข์ หากปล่อยทิ้งไว้จะเป็นปัญหาหมักหมม กว่าจะรู้ตัวก็สายเสียแล้ว ให้หาต้นตอของปัญหา และหาวิธีจัดการ ให้หาความเป็นตัวตน ยิ่งติดยึดก็ยิ่งทุกข์ ปลดปล่อยได้ก็ทุกข์น้อย แล้วให้ค่อยๆ ละตัวตนที่ยิ่งใหญ่ อย่าปล่อยทั้งหมด เพราะตัวตนที่ยิ่งใหญ่ยังแอบแฝงอยู่ หากวันใดถูกทดสอบขึ้นมามีสภาวะใหม่เข้ามาอารมณ์โกรธก็จะเกิดขึ้นได้อีก
หากเกิดอารมณ์โกรธให้ปล่อยวาง ท้ายสุดมันก็จะดับตัวของมันเอง ฝึกลดทอนอารมณ์ และฝึกจิตซึ่งเป็นสาระสำคัญของบรรยายวันนี้ โดยมองอะไรให้ว่าง ปลดปล่อย ไม่มีความคิดปรุงแต่ง ไม่เลือกข้างคือ ไม่มีสูง-ต่ำ / ไม่มีดำ-ขาว แต่ให้วางตัวเป็นกลาง และมองอะไรอย่าคาดหวัง ทังไม่กลัวอะไรที่จะเกิดขึ้น...หากปฏิบัติได้อย่างนี้ ใจก็บริสุทธิ์ผ่องใส”
เผยแพร่ข่าวในนาม : โรงแรมตวันนา
กนกนาฏ ชรัวอังศุธร / ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ
ติดต่อรายละเอียดเพิ่มเติม :
เบญจมา บินซูกอร์ / ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์
Ben Communications 081 733 1856