กรุงเทพฯ--19 มิ.ย.--ไอบีเอ็ม ประเทศไทย
ไอบีเอ็มเผยผลการศึกษาล่าสุดสำหรับธุรกิจประกัน โดยมุ่งเน้นประเด็นเรื่องแนวโน้มและข้อมูลคาดการณ์เกี่ยวกับการเติบโตของธุรกิจประกันในเอเชีย แปซิฟิก ผลการศึกษาดังกล่าวระบุแนวโน้มสำคัญที่จะเกิดขึ้นในปี 2020 พร้อมเสนอแนะหนทางในการสร้างมูลค่าและผลักดันความสำเร็จในอนาคตอันใกล้
IBM Institute for Business Value (IBV) ได้ทำการสำรวจอนาคตของธุรกิจประกันผ่านมุมมองของผู้บริหารทั่วโลก และได้จัดทำรายงานที่มีชื่อว่า “ธุรกิจประกันในปี 2020: นวตกรรมที่ห่างไกลจากรูปแบบเดิมๆ” (Insurance 2020: Innovating beyond old models) รายงานดังกล่าวระบุแนวโน้มสำคัญ 4 ข้อที่บริษัทประกันจะต้องประสบพบเจอในช่วงปี 2020 ตามรายละเอียดต่อไปนี้:
ผู้บริโภคในกลุ่มประชากรต่างๆ มีความรู้มากขึ้นและมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆ — สืบเนื่องจากผลกระทบของเครือข่ายสารสนเทศที่ทันสมัยและการถ่ายโอนความรับผิดชอบด้านการเงินให้แก่ลูกค้า จึงก่อให้เกิดทัศนคติและความต้องการในเรื่องบริการและความสะดวกที่เพิ่มมากขึ้น โดยผู้สมัครขอทำประกันและผู้ถือกรมธรรม์จากกลุ่มประชากรที่หลากหลายจะเลือกใช้บริการจากผู้ประกอบการที่สามารถตอบสนองความคาดหวังของลูกค้าได้อย่างเหมาะสม
เทคโนโลยีสร้างห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) แบบเสมือนจริง และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดได้ง่ายขึ้น — ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีจะก่อให้เกิดผู้ให้บริการรายย่อยจำนวนมาก ทั้งจากภายในและภายนอกห่วงโซ่มูลค่าแบบเก่า โดยในช่วงเวลา 12 ปีนับจากนี้ บริษัทประกันที่ดำเนินธุรกิจแบบเสมือนจริง (Virtual) บางส่วนหรือทั้งหมด จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและองค์กรธุรกิจ
ผลิตภัณฑ์ประกันแบบทั่วไปมีการปรับเปลี่ยนอย่างยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น — เนื่องจากผู้คนทั่วโลกให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้นกับเรื่องของการสื่อสารและการปรับแต่งตามความต้องการของแต่ละบุคคล ดังนั้นบริษัทประกันจึงต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ยืดหยุ่นและสามารถปรับเปลี่ยนตามความต้องการของลูกค้า นอกจากนี้ ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยียังช่วยให้บริษัทประกันสามารถให้บริการได้ในทันทีโดยอาศัยเครือข่ายเซนเซอร์ และกฎระเบียบเรื่องความเป็นส่วนตัวที่ชัดเจนมากขึ้น
การประสานงานด้านกฎระเบียบและการใช้มาตรฐานอุตสาหกรรมขยายขอบเขตครอบคลุมทั่วโลก — กระแสโลกาภิวัตน์ที่เกิดขึ้นกับทุกอุตสาหกรรม และความต้องการในเรื่องประสิทธิภาพ เป็นปัจจัยที่ผลักดันให้เกิดการประสานงานในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคและธุรกิจในภูมิภาคต่างๆ นอกจากนี้ ความต้องการในเรื่องประสิทธิภาพยังเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมการใช้ระบบอัตโนมัติอย่างกว้างขวาง ซึ่งจำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรฐานอุตสาหกรรมเพื่อให้สอดคล้องกัน
มร. พอล โรบินสัน ผู้บริหารฝ่ายธุรกิจประกัน กลุ่มธุรกิจบริการด้านการเงินของไอบีเอ็ม ประจำภูมิภาคเอเชีย/แปซิฟิก กล่าวว่า “ในช่วงเวลา 12 ปีนับจากนี้ ธุรกิจประกันจะหลุดพ้นจากข้อจำกัดในการกำหนดกลยุทธ์แบบเก่า ซึ่งโดยปกติแล้วจะครอบคลุมระยะเวลาเพียงแค่ 3-5 ปีเท่านั้น นอกจากนี้ กระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจะบั่นทอนขีดความสามารถของบริษัทต่างๆ ในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานอย่างฉับไวและทันท่วงที ทั้งนี้ IBM IBV ได้พิจารณาองค์ประกอบเหล่านี้ในระหว่างที่ทำการสัมภาษณ์ผู้บริหารและวิจัยตลาด”
สืบเนื่องจากแนวโน้มดังกล่าว จึงสรุปได้ว่าการดำเนิน “ธุรกิจตามปกติ” ดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ใช่หนทางที่เพียงพอสำหรับการสร้างมูลค่าและการบรรลุผลสำเร็จทางธุรกิจในปี 2020 แนวโน้มเหล่านี้บ่งบอกนัยสำคัญโดยมีข้อแนะนำดังต่อไปนี้:
นวตกรรมคือสิ่งจำเป็น — แนวโน้มสำคัญ 4 ข้อดังที่กล่าวมาจะกดดันให้ธุรกิจประกันต้องทำการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงและสร้างสรรค์นวตกรรมที่แปลกใหม่ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ นั่นหมายความว่าถึงแม้บริษัทประกันแห่งหนึ่งอาจเลือกที่จะละเลยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในหมู่ผู้บริโภค หรือยึดติดอยู่กับรูปแบบธุรกิจเดิมๆ แต่ก็จะมีอีกหลายๆ บริษัทที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ และนำเสนอบริการใหม่ๆ ที่สร้างผลกำไรอย่างเป็นรูปธรรม
วิธีคิดแบบเก่าจะบั่นทอนความสามารถในการสร้างสรรค์นวตกรรม — วิธีการดำเนินงานที่บริษัทประกันส่วนใหญ่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมีรากฐานมาจากอดีต โดยข้อเสียก็คือวิธีการนี้ให้ความมั่นคงปลอดภัยตามช่วงระยะเวลา แต่ปัญหาก็คือ ปัจจุบันเราอยู่ในยุคที่เทคโนโลยีสามารถเอาชนะปัญหาธุรกิจและเปลี่ยนทิศทางของเกมการแข่งขันทางธุรกิจได้
คู่แข่งหน้าใหม่จะสร้างความปั่นป่วนให้กับธุรกิจประกันแบบเก่า — บริษัทประกันทั่วโลกได้ผสานรวมบริการด้านธนาคารและการประกันเข้าด้วยกัน เพื่อนำเสนอรูปแบบที่เรียกว่า Bancassurance หรือการเสนอขายประกันผ่านทางธนาคาร รูปแบบธุรกิจนี้ประสบความสำเร็จมากน้อยแตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาค แต่โดยทั่วไปแล้วก็นับว่าใช้การได้ดีทีเดียว นี่คือตัวอย่างของคู่แข่งหน้าใหม่ (ธนาคาร) ที่ผสานรวมบริการต่างๆ เข้าด้วยกัน และในช่วง 12 ปีนับจากนี้ เราคาดว่าเทคโนโลยีจะเปิดโอกาสให้องค์กรต่างๆ ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ใกล้เคียงกันเข้าสู่ตลาดด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ บริษัทประกันจึงต้องกำหนดกลยุทธ์เพื่อรับมือกับองค์กรอื่นๆ ที่รุกเข้าสู่ตลาดในฐานะคู่แข่งหรือคู่ค้า
ผู้นำอุตสาหกรรมจะต้องทดลองรูปแบบการดำเนินงาน ระบบงาน ผลิตภัณฑ์ และงานลูกค้าสัมพันธ์ — ข้อสรุปสำคัญประการหนึ่งที่ได้จากการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ก็คือ บริษัทต่างๆ จำเป็นที่จะต้องทำการทดลอง เพื่อพัฒนาและบ่มเพาะแนวคิดใหม่ๆ ซึ่งหากปราศจากการทดลองใช้งานจริงแล้ว บริษัทประกันก็จะติดอยู่ในวังวนเก่าๆ ของการปรับปรุงระบบงาน แทนที่จะสามารถสร้างสรรค์นวตกรรมได้อย่างแท้จริง
การลงทุนเชิงกลยุทธ์ในนวตกรรมวันนี้จำเป็นอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในปี 2020 — ผู้บริหารจะต้องดำเนินบทบาทหลักในการเน้นย้ำถึงความสำคัญของนวตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบริษัทประกันจำเป็นต้องสร้างรูปแบบธุรกิจที่แปลกใหม่ นอกจากนี้ การลงทุนในนวตกรรมยังหมายรวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไอทีที่ยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้องค์กรสามารถไขว่คว้าโอกาสทางธุรกิจได้อย่างทันท่วงที
ข้อมูลติดต่อ:
กุลวดี เกษมล้นนภา บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
โทร. 02 2734013 อีเมล: kulwade@th.ibm.com