สหภาพยุโรปพบสินค้าอาหารของไทยไม่ปลอดภัยภายใต้ระบบ RASFF

ข่าวทั่วไป Friday June 20, 2008 10:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--คต.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเปิดเผยว่า สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์ได้แจ้งว่า คณะกรรมาธิการยุโรปรายงานว่าประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปได้ตรวจพบสินค้าอาหารที่ส่งมาจากไทยมีความไม่ปลอดภัยจำนวนหลายรายการ โดยประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปที่ตรวจพบได้แจ้งเตือนประเทศสมาชิกอื่น ภายใต้ระบบเตือนภัยเร่งด่วนสำหรับอาหารมนุษย์และอาหารสัตว์ (Rapid Alert System for Food and Feed: RASFF) อาทิ ปลาแมคเคอเรลกระป๋อง ปลาหมึกแช่แข็ง เห็ดดำชนิดแห้ง เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ชนิดกระป๋อง ผงวุ้น และเจลลี่ชนิดถ้วย เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ หน่วยงานภาครัฐของไทยที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาบริษัทผู้ส่งออกที่มีปัญหาดังกล่าว เพื่อแจ้งผลให้คณะกรรมาธิการยุโรปทราบถึงแนวทางแก้ไขและป้องกันปัญหาของไทยต่อไป
สหภาพยุโรปเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญที่มีความเข้มงวดด้านความปลอดภัยอาหารเป็นอย่างมาก โดยได้กำหนดกฎระเบียบจำนวนมากเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคของตน เช่น การตรวจสอบสารตกค้าง สารปนเปื้อน วัสดุสัมผัสอาหาร รวมทั้ง ระเบียบเกี่ยวกับ การติดฉลากสินค้าอาหาร เป็นต้น โดยมีระบบแจ้งเตือนภัยเร่งด่วน RASFF ซึ่งสหภาพยุโรปจัดตั้งขึ้นตาม Regulation (EC) No 178/2002 of 28 January 2002 เพื่อเป็นเครื่องมือในการควบคุมความปลอดภัยด้านอาหาร โดยจะแจ้งเตือนไปยังประเทศสมาชิกอื่น เพื่อให้ดำเนินมาตรการเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค อาทิ เรียกเก็บคืนสินค้า ห้ามจำหน่าย ห้ามนำเข้า และประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชน เป็นต้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงจากอันตรายของอาหารที่อาจเกิดขึ้นจากการบริโภคสินค้าอาหารนั้น
นางอภิรดีฯ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม — 31 พฤษภาคม 2551 มีสินค้าอาหารของไทยที่ถูกตรวจพบว่าไม่ปลอดภัยและถูกแจ้งเตือนผ่านระบบ RASFF แล้ว มีจำนวนมากถึง 27 รายการ โดยผู้ส่งออกไทยหลายรายได้ถูกตรวจพบสินค้าชนิดเดียวกันหลายครั้ง บางรายถึง 7 ครั้ง และบางสินค้าได้ถูกห้ามนำเข้า ฉะนั้น ผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอาหารไปสหภาพยุโรปจึงควรเพิ่มความระมัดระวังในการใช้สารเคมี สารปรุงแต่ง การบรรจุหีบห่อ รวมทั้งการเก็บรักษาสินค้าขณะขนส่ง เพื่อป้องกันการตกค้างหรือปลอมปนของสารเคมีและเชื้อโรคให้เป็นไปตามข้อกำหนดและระเบียบของสหภาพยุโรปด้วย โดยเฉพาะสาร Nitrofuran แคดเมียม และเชื้อ Salmonella เป็นต้น ซึ่งถูกตรวจพบในอาหารบ่อยครั้ง
สหภาพยุโรปนับเป็นผู้นำเข้าสินค้าอาหารที่สำคัญของไทยลำดับที่ 3 รองจากสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น โดยในปี 2550 ไทยส่งออกมูลค่าประมาณ 87,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารทั้งหมดของไทย และในปี 2551(ม.ค. — เม.ย.) ไทยส่งออกสินค้าอาหารไปยังสหภาพยุโรปมูลค่าประมาณ 33,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 20 สินค้าส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ ไก่แปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ข้าว และปลาหมึกสดแช่เย็นแช่แข็ง
ทั้งนี้ รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถดูได้จาก http://ec.europa.eu/food/food/rapidalert/index_en.print.htm

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ