กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--ปภ.
ศปภ.เขต ๙ พิษณุโลก จัดอบรมโครงการค่ายเยาวชนอาสาสมัครป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประจำปี ๒๕๕๑ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต ๙ พิษณุโลก จัดอบรมโครงการค่ายเยาวชนอาสาสมัครป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประจำปี ๒๕๕๑ ให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นในพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติ ในระหว่างวันที่ ๒๑ - ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๑ ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต ๙ พิษณุโลก เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และ ความตระหนักด้านการป้องกันและบรรเทาสารณภัย รวมทั้งสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดให้กับเพื่อนร่วมสถาบัน บุคคล ในครอบครัวและชุมชน อีกทั้งยังเป็นกำลังสำคัญในการบริหารจัดการสาธารณภัยให้กับท้องถิ่นในอนาคต นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า สาธารณภัยนับเป็นปัญหาสำคัญที่มีแนวโน้ม เกิดบ่อยครั้งและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเป็นอย่างมาก แนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดความรุนแรงของภัย คือ การให้ความรู้ ความเข้าใจ และเสริมสร้างปลูกจิตสำนึกด้านความปลอดภัยให้กับเยาวชน ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาสังคม หากเยาวชนได้รับการส่งเสริมความรู้ด้านสาธารณภัย จะทำให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้อย่างปลอดภัยและเป็นแกนนำในการรณรงค์ความปลอดภัยในระดับชุมชน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย เขต ๙ พิษณุโลก จึงได้จัดอบรมโครงการค่ายเยาวชนอาสาสมัครป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประจำปี ๒๕๕๑ ในระหว่างวันที่ ๒๑ - ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๑ ณ ศูนย์ ปภ.เขต ๙ พิษณุโลก ให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นในเขตพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติ จำนวน ๘๐ คน เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักด้านการป้องกันและบรรเทาสารณภัย รวมทั้งสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดให้กับเพื่อนร่วมสถาบัน บุคคลในครอบครัวและชุมชน อีกทั้งยังเป็นเครือข่ายการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ด้านการเฝ้าระวัง การแจ้งเตือนภัย และการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตลอดจนเป็นกำลังสำคัญในการบริหารจัดการสาธารณภัยให้กับท้องถิ่นในอนาคต นางสาวพิมพ์ใจ นัยพินิจ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ๙ พิษณุโลก กล่าวว่า การฝึกอบรมในครั้งนี้ เป็นการปลูกฝัง แนวคิดการบริหารจัดการภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน รูปแบบการอบรม ประกอบด้วย การบรรยายให้ความรู้ การแสดงสาธิตและ การฝึกปฏิบัติ ๘ สถานี ได้แก่ การป้องกันและระงับอัคคีภัย การป้องกันและระวังอุบัติภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย การค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากอาคารถล่ม/อุบัติเหตุทางถนน การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากอุทกภัย วาตภัย และดิน/โคลนถล่ม การฝึกเงื่อนเชือกและ การเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยด้วยเปล การจราจรและความปลอดภัยทางถนน การแจ้งเตือนภัยและการอพยพ และการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ทั้งนี้คาดว่า เยาวชนที่ผ่านการฝึกอบรมในครั้งนี้จะเกิดความตระหนักและเข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัย การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทุกรูปแบบ ตลอดจนเป็นกำลังสำคัญในการบริหารจัดการสาธารณภัยให้กับท้องถิ่นของตนเอง ตามแนวคิดการบริหารจัดการภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน ทั้งยังเข้ามามีส่วนร่วมในการกระตุ้นให้สังคม ชุมชน ร่วมกันสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยขึ้นในสังคม ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนความรุนแรงและความเสียหายจากสาธารณภัย