กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จัดประชุมคณะทำงานเพื่อพิจารณาดำเนินโครงการที่หลบภัยและศูนย์การเรียนรู้สึนามิ เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระเจริญพระชนมายุครบ ๘๐ พรรษา เพื่อร่วมกันพิจารณากำหนดรูปแบบการดำเนินทั้งด้านสถานที่ตั้ง เนื้อที่ องค์ประกอบของโครงการ การสำรวจและออกแบบ โครงสร้างองค์การ ระยะเวลาดำเนินการ งบประมาณ ผู้รับผิดชอบโครงการ การบำรุงรักษา เพื่อใช้เป็นสถานที่หลบภัย และศูนย์รวบรวมองค์ความรู้วิชาการด้านสาธารณภัยระดับประเทศ ที่จะช่วยยกระดับมาตรฐานการจัดการเรียนรู้เกี่ยวกับภัยธรรมชาติ แผ่นดินไหว และสึนามิอย่างต่อเนื่อง นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์สึนามิที่เกิดขึ้น ในช่วงปลายปี ๒๕๔๗ ก่อให้เกิดความเสียหายกับชีวิตและทรัพย์สินทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติอย่างมหาศาล กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะหน่วยงานกลางของภาครัฐด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับประเทศ จึงได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จัดโครงการที่หลบภัยและศูนย์การเรียนรู้สึนามิเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๘๐ พรรษา โดยได้กำหนดจัดประชุมคณะทำงานโครงการฯ ครั้งที่ ๑ / ๒๕๕๑ ในวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๑ ณ ห้องประชุม ๓๕๒ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อร่วมกันพิจารณากำหนดรูปแบบโครงการดังกล่าว ประกอบด้วย สถานที่ตั้ง เนื้อที่ องค์ประกอบของโครงการ การสำรวจและออกแบบ โครงสร้างองค์การ ระยะเวลาดำเนินการ งบประมาณ ผู้รับผิดชอบโครงการ การบำรุงรักษา ซึ่งการดำเนินโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา และจัดตั้งเป็นสถานที่หลบภัย ช่วยเหลือประชาชนในภาวะไม่ปกติ และเป็นสถานที่ฝึกซ้อมหลบภัยให้ประชาชนมีทักษะในการหนีภัยอย่างปลอดภัย ทั้งยังเป็นศูนย์ความรู้ขนาดใหญ่ที่จะสนับสนุนความร่วมมือเป็นเครือข่ายในการยกระดับมาตรฐานการจัดการเรียนรู้ การบริหารจัดการด้านการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังเสริมสร้างจิตสำนึก องค์ความรู้ใหม่ๆด้านสาธารณภัย ทั้งภัยธรรมชาติ แผ่นดินไหว และสึนามิ ที่จะเป็นประโยชน์ทั้งในระดับชาติ ภูมิภาค และระดับนานาชาติ ซึ่งที่ผ่านมามีการจัดกิจกรรมหลายประเภท ได้แก่ การจัดนิทรรศการ การฝึกอบรม การประชุมวิชาการทั้งระดับประเทศและนานาชาติ การฝึกซ้อมหลบภัย เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมรับสถานการณ์ภัยพิบัติฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นแหล่งรวบรวมและพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการ ที่จะนำไปสู่การสนับสนุนการป้องกันและรักษาความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจะส่งผลให้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทยดำเนินไปอย่างเป็นระบบ ตลอดจนเป็นการประสานความร่วมมือทางวิชาการด้านสึนามิระหว่างประเทศ โดยเริ่มต้นจากความร่วมมือระหว่างจังหวัด ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ Oregon State University ประเทศสหรัฐอเมริกา อันจะนำมาซึ่งวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น