จิตแพทย์เตือน เด็กเครียด อาจทำร้ายร่างกาย-ฆ่าตัวตาย แนะพ่อแม่สอนลูกให้คิดบวก ปลูกฝังสิ่งดีๆเป็นวัคซีนทางใจ

ข่าวทั่วไป Friday June 20, 2008 13:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--โรงพยาบาลมนารมย์
จิตแพทย์ออกโรงเตือน ระวังเด็กเครียดอาจทำร้ายตัวเอง ร้ายแรงขั้นฆ่าตัวตาย ระบุเด็กหญิงป่วยเป็นโรคซึมเศร้าแล้วเครียดมากว่าชาย 3 เท่า ย้ำผู้ปกครอง คนใกล้ชิดช่วยกันดู และสังเกตพฤติกรรม อาการของเด็ก รวมถึงคอยเป็นที่ปรึกษา ฝึกให้ลูกคิดด้านบวก เน้นปลูกฝังสิ่งดีๆ เพื่อเป็นวัคซีนทางใจ พ.ญ.เพียงทิพย์ พรหมพันธุ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์ เปิดเผยว่า อันตรายของความเครียดที่มองดูแล้วไม่น่ากลัวอะไร แต่หากว่าเด็กเกิดความเครียดมากถึงขั้นแสดงอาการแล้วก็อาจจะส่งผลกระทบต่อร่างกาย เช่น ปวดหัว ปวดข้อ หรือมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปเช่น หงุดหงิดง่าย ซึมเศร้า ระบบการย่อยอาหารทำงานไม่ปกติ การทำงานของประสาทสมอง หัวใจทำงานไม่ปกติ หรืออาจจะมีภูมิคุ้มกันที่ต่ำ บางทีเด็กไม่มีสมาธิในการเรียน ผลการเรียนตกต่ำ มีสัมพันธภาพไม่สมดุลกัน หรือแย่ที่สุดเด็กอาจจะมีปัญหาทำร้ายร่างกาย บางคนถึงขั้นฆ่าตัวตายเลยก็มี “จากสถิติพบว่าความเครียดมักจะเกิดขึ้นกับเด็กทั้งชายและหญิงอัตราเท่าๆกันในลักษณะความวิตกกังวล แต่สำหรับความเครียดที่เกิดอาการซึมเศร้านั้นพบว่าเด็กผู้หญิงมีอัตราเครียดมากกว่าเด็กชาย 2-3 เท่า เพราะปัจจัยหลายอย่าง เช่น ฮอร์โมนทางเพศของผู้หญิง เพราะบางทีผู้หญิงมักจะเครียด หรือ หงุดหงิดในช่วงที่มีประจำเดือน จึงทำให้เด็กหญิงมีอัตราความเครียดมากกว่าเด็กผู้ชาย” พ.ญ.เพียงทิพย์ กล่าว พ.ญ.เพียงทิพย์ กล่าวต่อว่า ผู้ปกครองและคนใกล้ชิดควรจะหมั่นสังเกตลักษณะอาการของลูกๆ อย่างสม่ำเสมอ เพราะถ้าหากทราบถึงปัญหาตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะสามารถทำให้แก้ไขได้ง่ายอย่าปล่อยให้เป็นนานๆ โดยการให้คำแนะนำปรึกษากับลูก ยิ่งเร็วเท่าไหร่ยิ่งเป็นผลดี เช่น ในเด็กวัยก่อนเข้าเรียน ก็มักจะมีอาการปวดทางร่างกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง รับประทานอาหารไม่ได้ หรือไม่ก็นอนไม่หลับ ส่วนเด็กในวัยเรียนนั้นให้สังเกตว่าเด็กๆเหล่านั้นมีอาการที่ผิดปกติไปหรือเปล่า เช่น พูดน้อยลง หรือไม่ก็มักจะพูดเกี่ยวกับด้านลบบ่อยๆ ส่วนเด็กวัยรุ่นนั้นก็จะมีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น ให้สังเกตการณ์ลักษณะอาการได้จากการที่เด็กมักจะไปทำกิจกรรมที่เพลิดเพลินหรือให้ความบันเทิงมากขึ้น เช่น การแชด เล่นเกมส์ เพื่อสร้างความสนุกสนานเมื่อเกิดความเครียด พ.ญ.เพียงทิพย์ แนะนำว่าผู้ปกครองควรให้คำแนะนำ และคอยเป็นที่ปรึกษากับลูกๆ อย่างสม่ำเสมอ โดยจะเน้นให้ลูกคิดด้านลบให้กลายเป็นด้านบวก เพื่อให้เด็การู้จักยอมรับถึงความแตกต่าง และทำใจยอมรับได้เมื่อมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้น นอกจากนั้นพ่อแม่ควรจะปรับการเลี้ยงดูเด็กให้เหมาะสมและสอดคล้องในแต่ละคน เพราะเด็กจะมีพัฒนาการ ความสามารถ ระเบียบวินัย นิสัยใจคอ และอารมณ์แตกต่างกัน ควรที่จะมีความสมดุลในความคาดหวังของพ่อแม่และตัวของเด็กเอง ไม่ควรปกป้องเด็กมากเกินไป และสิ่งที่สำคัญควรที่จะปลูกฝังแต่สิ่งดีๆ ให้กับเด็ก เพราะเปรียบเสมือนเป็นวัคซีนทางใจสำหรับเด็กอีกด้วย โรงพยาบาลมนารมย์ โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านจิตเวช ที่ให้บริการและดูแลด้านสุขภาพจิตแนวใหม่สำหรับทุกเพศทุกวัย ได้ตระหนักถึงสถานการณ์ปัญหาความเครียดที่เกิดขึ้นกับเด็กในยุคปัจจุบัน โดยจะจัดบรรยายเรื่อง “เด็กก็เครียดเป็น” จะทำอย่างไรเมื่อลูกเครียด? โดย น.พ.จอม ชุมช่วย พ.ญ.เพียงทิพย์ พรหมพันธุ์ และ พ.ญ.พัชรี พรรณพานิช 3 แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชวัยรุ่นเด็กและวัยรุ่น ที่จะมาช่วยระดมความคิดเทคนิคและวิธีการแก้ปัญหาเมื่อเวลาลูกๆ ของผู้ปกครองเกิดความเครียด ในวันเสาร์ที่ 26 กรกฏาคม 2551 นี้ เวลา 8.30 — 12.00 น. ณ ห้องประชุม โรงพยาบาลมนารมย์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น สนใจเข้าร่วมฟังการบรรยายติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร 02-725-9595, 02-399-2822 www.manarom.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ