องค์การจัดการสารเคมีแห่งสหภาพยุโรป European Chemical Agency (ECHA) เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการแล้ว

ข่าวทั่วไป Friday June 20, 2008 14:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--คต.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (นาย Jose Manuel Barroso) เป็นประธานในพิธีเปิดองค์การจัดการสารเคมีแห่งสหภาพยุโรป (European Chemical Agency: ECHA) อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2551 ณ กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ และได้เริ่มให้ผู้ประกอบการที่มีถิ่นพำนักใน EU จดทะเบียนสารเคมีล่วงหน้าตามข้อกำหนดของกฎหมาย REACH ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน - 1 ธันวาคม 2551 โดย ECHA ทำหน้าที่กำกับดูแลในส่วนที่เกี่ยวกับการจดทะเบียน การประเมินผล การจำกัด ละการอนุญาตใช้สารเคมี ซึ่งในปัจจุบันมีสารเคมีที่ได้จดทะเบียนแล้ว ได้แก่ Acid, Metals, Solvents, Surfactants และมีการคาดหวังว่าจะมีบริษัทลงทะเบียนล่วงหน้าเร็วขึ้น เพราะผู้ที่ลงทะเบียนล่วงหน้าก่อนวันที่ 1 ธันวาคม 2551 เท่านั้นที่จะได้รับสิทธิในการขยายระยะเวลาเส้นตายการจดทะเบียนสารในขั้นต่อไป ส่วนผู้ที่ไม่ได้ลงทะเบียนล่วงหน้าจะต้องลงทะเบียนและยื่นข้อมูลทั้งหมดก่อนการนำเข้า ดังนั้นผู้ประกอบการ / ผู้ส่งออกไทยที่จะส่งสินค้าไป EU จะต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่าสินค้าของตนมีสารเคมีที่จดทะเบียนไว้แล้ว มิฉะนั้นจะไม่สามารถส่งออกไป EU ได้ ปัจจุบันสารเคมีกว่า 1,000 รายการ เป็นที่รู้จักอยู่แล้ว แต่หน่วยงาน ECHA จะจัดทำและเผยแพร่สารเคมี Candidate List ใน Website ครั้งแรกภายในต้นปี 2552 เพื่อขอความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องต่อไป
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันประเทศสมาชิก EU ยังมีความเห็นต่อแนวทางการปฏิบัติต่อสารในสินค้าสำเร็จรูปภายใต้ ระเบียบ REACH แตกต่างกัน เช่น กรณีแนวทางการกำหนด Threshold ให้ผู้ผลิตหรือ ผู้นำเข้าสินค้าสำเร็จรูป (Whole Article) ที่มีส่วนประกอบสารเคมีมากกว่า 0.1 เปอร์เซนต์ต้องจดแจ้ง (Notification) แต่ประเทศออสเตรีย เบลเยี่ยม เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เยอรมัน และสวีเดน เห็นควรให้ใช้ Threshold ดังกล่าวกับสารเคมีที่อยู่ในส่วนประกอบ (Constituent Parts) ของสินค้านั้นด้วย ซึ่งการตีความที่แตกต่างกันนี้จะมีผลต่อธุรกิจอย่างมากและอาจจะต้องแก้ปัญหาในชั้นศาลยุติธรรมของสหภาพฯ (EU Court of Justice) นอกจากนี้การเปิดให้ใช้ระบบ REACH IT ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ตามกำหนดจึงเปิดให้ใช้ในส่วนที่เป็นการลงทะเบียนล่วงหน้าเท่านั้น ส่วนการยื่นข้อมูลอื่นๆ EU ได้เผยแพร่ข้อมูลของ Provision Procedures เป็นแนวทางสำหรับผู้ประกอบการแล้ว
ทั้งนี้ EU ได้ออกประกาศ เลขที่ 465 / 2008 และ 466 / 2008 เรื่องการตรวจและการยื่นข้อมูลโดย ผู้นำเข้าและผู้ผลิตเกี่ยวกับสารที่อาจมีอันตรายจำพวก Persistent, Bio - Accumulating และ Toxic ที่ปรากฏอยู่ในบัญชีรายชื่อสารที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และการประเมินและควบคุมความเสี่ยงจากสารเคมีที่ใช้อยู่ในปัจจุบันภายใต้ข้อบังคับที่ 793 / 93 ตามลำดับ รายละเอียดปรากฎที่ http://eurlex.europa.eu/ JOHtml.do?uri=OJ:L:2008:139:SOM:EN:HTML
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า วุฒิสภาของสหรัฐ ฯ กำลังผลักดันให้มีกฎระเบียบสำหรับสารเคมีโดยให้มีรูปแบบคล้ายกับระเบียบ REACH ของ EU ซึ่งปัจจุบันสหรัฐฯ ได้ใช้กฎหมาย Toxic Substances Control Act (TSCA) ปี 1976 กำกับดูแลโดย Environmental Protection Agency (EPA) ในการจำกัดหรือห้ามใช้สารเคมีที่เป็นพิษหากพบว่าเป็นอันตราย อย่างไรก็ดีกฎหมาย TSCA ยังมีความแตกต่างกับระเบียบ REACH กล่าวคือ ภายใต้กฎหมาย TSCA รัฐบาลมีภาระที่ต้องพิสูจน์ว่าสารเคมีนั้นเสี่ยง แต่ระเบียบ REACH กำหนดให้อุตสาหกรรมของภาคเอกชนมีหน้าที่พิสูจน์ว่าสารเคมีเหล่านั้นมีความปลอดภัยหรือไม่ นอกจากนี้ เมื่อเดือนมีนาคม 2005 สหรัฐ ฯ ได้ลงนามในความตกลงสามฝ่ายกับแคนาดาและเม็กซิโกภายใต้ Security and Prosperity Partnership of North America (SPP) ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับความร่วมมือด้านสารเคมีนั้น ทั้งสามประเทศได้จัดตั้งโครงการ Chemical Assessment and Management Program (ChAMP) ขึ้นมาเพื่อสร้างความมั่นใจว่ามีการผลิตและการใช้สารเคมีอุตสาหกรรมอย่างปลอดภัย ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในปี 2012 และ 2020 ดังนี้
เป้าหมายปี 2012
1.) สหรัฐฯ จะประเมินและริเริ่มใช้มาตรการที่จำเป็นต่อสารเคมีที่ใช้ในปัจจุบันจำนวน 6,750 รายการที่ผลิตในสหรัฐฯ มากกว่า 25,000 ปอนด์ต่อปีผ่าน ChAMP
2.) แคนาดาจะทำการประเมินสารเคมีที่มีความเสี่ยงสูงสุดให้เสร็จและบังคับใช้มาตรการที่จำเป็น ในขณะเดียวกัน ก็จะเริ่มประเมินสารที่มีความเสี่ยงปานกลาง
3.) เม็กซิโกจะพัฒนาระบบข้อมูลสำหรับสารอันตราย
โดยทั้งสามประเทศจะเพิ่มการประสานงานระหว่างกันตามความเหมาะสมในเรื่องการทดสอบ การวิจัย การรวบรวมข้อมูล การประเมิน และการบริหารความเสี่ยง
เป้าหมายปี 2020
1.) จัดทำและปรับปรุงรายชื่อสารเคมีที่ซื้อขายในสามประเทศ
2.) เพิ่มความสามารถของเม็กซิโกในการประเมินและจัดการสารเคมี
3.) บริหารสารเคมีในภูมิภาคอเมริกาเหนือตามวัตถุประสงค์ของ World Summit on Sustainable Development Johannesburg Plan of Implementation และดำเนินกิจกรรมภายใต้ Strategic Approach to International Chemicals Management

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ