กรุงเทพฯ--23 มิ.ย.--กทม.
ดร.วัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ตามโครงการ “การจัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับเนื้อสัตว์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค” ระหว่างกรุงเทพมหานคร กับ สหกรณ์โคเนื้อ ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จำกัด สหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป.กลาง โพนยางคำ และ บ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
กรุงเทพมหานคร จัดทำโครงการ “การจัดทำระบบการตรวจสอบย้อนกลับเนื้อสัตว์เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” ซึ่งได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับศูนย์วิจัยโลจิสติกส์ ม.หอการค้าไทย และเครือเบทาโกร เมื่อวันที่ 25 ก.พ.51 เพื่อจัดทำเป็นต้นแบบของระบบตรวจสอบย้อนกลับเนื้อสัตว์สำหรับผู้บริโภคของภาครัฐ และเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบและเฝ้าระวังโรคที่เป็นอันตรายกับผู้บริโภคอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ประกอบการผลิตเนื้อสัตว์ได้ให้ความสนใจและเข้าร่วมในโครงการระบบตรวจสอบย้อนกลับเนื้อสัตว์ฯ กับกรุงเทพมหานครเพิ่มเติม ทั้งนี้เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยและเกิดความมั่นใจในการเลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่ได้ผ่านการรับรองของแหล่งที่มา โดยผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานในด้านการผลิตเนื้อสัตว์ การขนส่ง และการจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่กำหนดไว้ โดยเมื่อตรวจสอบเกณฑ์มาตรฐานดังกล่าวแล้ว กรุงเทพมหานครจะมอบตราสัญลักษณ์เนื้อสัตว์คุณภาพให้กับผู้ประกอบการนำไปติดบนผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่ผ่านการรับรอง ซึ่งผู้บริโภคจะสามารถทราบแหล่งที่มาของเนื้อสัตว์ โดยตรวจสอบผ่านอินเทอร์เน็ตได้ที่ www.bangkok.go.th/vet และ www.vet-bma.com หรือ เว็ปไซต์ของม.หอการค้าไทยที่ www.tracc.utcc.ac.th โดยเข้าไปยังโปรแกรมการตรวจสอบย้อนกลับเนื้อสัตว์ แล้วพิมพ์รหัสเลขชุดการผลิตสินค้า (Lot.No.) ก็จะได้ข้อมูลการผลิตเนื้อสัตว์ นอกจากนี้ผู้บริโภคยังสามารถใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในการตรวจสอบแหล่งผลิตเนื้อสัตว์ โดยพิมพ์ TM ตามด้วยเลขชุดการผลิตและส่งมาที่หมายเลข SMS 4545111
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เนื่องจากในปัจจุบันประชาชนยังมีโอกาสได้รับความเสี่ยงอันตรายจากการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ไม่สะอาด และปนเปื้อนเชื้อโรคต่างๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตของผู้บริโภคได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาดของสัตว์ที่สามารถติดต่อสู่คน เช่น โรคไข้หวัดนก โรคแอนแทรกซ์ รวมถึงอันตรายจากยาหรือสารที่ตกค้างในเนื้อสัตว์ เช่น สารเร่งเนื้อแดง ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น ในการจัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับเนื้อสัตว์นั้น จะเป็นการเฝ้าระวังโรค และสามารถบ่งชี้แหล่งที่มาของเนื้อสัตว์ที่มีปัญหาได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถช่วยควบคุมโรคไม่ให้แพร่ขยายออกไป
ทั้งนี้โครงการดังกล่าวจะเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนามาตรฐานการผลิตและจำหน่ายเนื้อสัตว์ให้ดียิ่งขึ้น ตลอดจนเป็นการสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ได้ตระหนักถึงการให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการตรวจสอบแหล่งที่มาของเนื้อสัตว์ ว่าได้มาจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่ไดมาตรฐานและปลอดภัย และผ่านโรงฆ่าสัตว์ที่มีกระบวนการผลิตเนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพเหมาะสมกับการบริโภค