โรคพยาธิเม็ดเลือด (Blood Parasite) เรื่องโดย…ทีมสัตว์แพทย์แผนกอายุรกรรม โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ

ข่าวทั่วไป Tuesday June 24, 2008 10:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.--ดาวิน ชอยส์
ในปัจจุบันพบว่าโรคพยาธิเม็ดเลือดอาจจะเป็นที่คุ้นเคยกันมากขึ้นในกลุ่มผู้เลี้ยงสุนัขและแมวในประเทศไทย เนื่องจากประเทศเราเป็นเขตที่มีการระบาดอย่างต่อเนื่อง พยาธิเม็ดเลือดจัดเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก อาศัยอยู่ในเม็ดเลือดของสุนัขและแมว โดยมีเห็บตัวน้อยเป็นพาหะนำโรค ความรุนแรงของโรคนั้นถึงขั้นทำให้สุนัขหรือแมวที่เป็นโรคเสียชีวิตได้เลย ซึ่งความจริงแล้วพยาธิเม็ดเลือดมีหลายชนิดและแต่ละชนิดก็มีความรุนแรงของโรคก็แตกต่างกันไป แต่ในครั้งนี้จะกล่าวถึงพยาธิเม็ดเลือดตัวที่พบได้มากที่สุด
ระวัง..เห็บเป็นพาหะนำโรค
พยาธิเม็ดเลือดตัวที่พบบ่อยในประเทศไทยคือ ชนิด Ehrlichia canis หรือเรียกในชื่อย่อว่า E. Canis สามารถพบได้ในสุนัขทุกเพศ ทุกพันธุ์ ทุกอายุ มีพาหะนำโรคคือเห็บ เมื่อเห็บดูดเลือดของสุนัขที่มีเชื้อ E. canis เข้าไป เชื้อจะเข้ามาอยู่ในตัวเห็บ จากนั้นถูกปล่อยออกไปกับน้ำลายของเห็บขณะที่กินเลือดสุนัขอีกตัว เมื่อเข้าร่างกายสุนัขแล้วพยาธิจะเข้าฝังตัวอยู่ในเม็ดเลือดขาว และใช้เวลาประมาณ 2 อาทิตย์ในการกระจายตัวสู่อวัยวะต่างๆ ส่วนใหญ่เจ้าของจะทราบต่อเมื่อปรากฏอาการ เมื่อนำน้องหมาหรือน้องแมวมาพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย ซึ่งส่วนใหญ่จะตรวจหาแอนติบอดี้ของเชื้อจากเลือด (Test Kit) เพื่อดูเชื้อบนเม็ดเลือดขาวที่ย้อมสี
อาการรุนแรงทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง
ทั้งนี้อาการทั่วไปที่พบมี 2 ระยะคือ แบบเฉียบพลัน สุนัขจะมีไข้ขึ้นๆ ลงๆ ซึม เบื่ออาหาร บางตัวพบว่าเลือดกำเดาไหลข้างเดียว จุดเลือดออกตามตัว จากนั้นสุนัขจะดีขึ้น และพัฒนาภูมิคุ้มกันมาทำลายเชื้อเอง แต่ถ้าภูมิคุ้มกันไม่ดีพอเชื้อพยาธิเม็ดเลือดจะพัฒนาเข้าสู่อาการใน แบบเรื้อรัง ซึ่งจะมีอาการรุนแรงตั้งแต่ ซึม มีไข้สูง เลือดกำเดาไหลมาก ปัสสาวะเป็นเลือด หายใจลำบาก จนถึง ไขกระดูกทำงานบกพร่อง ภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง ทำให้โลหิตจาง เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดต่ำ ไตวาย ตับอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ในส่วนการรักษาถ้าตรวจพบทันท่วงที สัตวแพทย์จะให้ยาฆ่าพยาธิเม็ดเลือด ร่วมกับการรักษาตามอาการ เพื่อควบคุมภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะกรณีที่พัฒนาเข้าสู่ระยะเรื้อรัง
ป้องกันได้หากเจ้าของใส่ใจ
การป้องกันพยาธิเม็ดเลือดนั้นเจ้าของต้องเอาใจใส่ดูแล สังเกตอาการและพฤติกรรมของสุนัขและแมว ซึ่งจะช่วยลดอัตราการเกิดโรคได้ การป้องกันการติดเห็บ ด้วยการฉีดยา สวมปลอกคอ พ่นยา หรือหยดยาที่หลัง เดือนละครั้ง เลือกวิธีตามลักษณะพื้นที่อยู่อาศัย และลักษณะการเลี้ยง ส่งสัตว์เลี้ยงตรวจเลือดทุก 6เดือนหรือ ทุก1ปี ป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
สำหรับท่านใดที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงของท่าน สามารถติดต่อขอคำปรึกษาจากทีมสัตวแพทย์ แผนกอายุรกรรม ได้ที่โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ ซอยทองหล่อ โทร. 0-2712-6301-4 สาขาลาดพร้าว โทร. 0-2934-1407-9 สาขาสิรินทร-ปิ่นเกล้า โทร.0-2433-7550 และ สาขาแจ้งวัฒนะ โทร 0-2962-7028 E-mail: info@thonglorpet.com ทั้งนี้ท่านสามารถสืบค้นข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงได้ที่ www.thonglorpet.com
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
คุณเนตร์สุดา ( เนตร์) สื่อมวลชนสัมพันธ์ บริษัท ดาวิน ชอยส์ จำกัด (ที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์)
โทรศัพท์ : 02 9600852-4 โทรสาร 02 9600853
E-mail : medias@darwinchoice.co.th
Website : www.darwinchoice.co.th

แท็ก พยาธิ   แมว  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ