กรุงเทพฯ--25 มิ.ย.--กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การจัดอันดับผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียวฉบับล่าสุดของกรีนพีซ (1) ได้เพิ่มหลักเกณฑ์ด้านพลังงานและผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมกับหลักเกณฑ์เดิมที่ใช้ในการประเมินจัดอันดับในฉบับที่ผ่านๆ มา คือ เกณฑ์การเลิกใช้สารเคมีอันตรายในผลิตภัณฑ์และการรับผิดชอบต่อขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ของตน หลักเกณฑ์ที่เข้มงวดขึ้นทำให้ผู้ผลิตได้คะแนนลดลงจากเดิมมาก ซึ่งมีเพียงโซนี-อิริคสัน และโซนีเท่านั้นที่ได้มากกว่า 5 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน
หลักเกณฑ์ด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้นมา(2) ยังได้ประเมินถึงความร่วมมือในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามพิธีสารเกียวโต ซึ่งผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลกควรมีบทบาทในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตของตน แต่ผู้ผลิตหลายรายยังเพิกเฉยต่อประเด็นนี้โดยเน้นเพียงด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของผลิตภัณฑ์ (3) เท่านั้น ซึ่งขณะนี้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศทั่วโลกปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์รวมประมาณร้อยละ 2 ของปริมาณทั้งหมดที่ปล่อยทั่วโลก โดยมากเท่ากับอุตสาหกรรมการบิน (4) ซึ่งถือว่าสูงมาก
ประสิทธิภาพการใช้พลังงานของผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิตหลายรายในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยเฉพาะโซนี-อิริคสันและแอ็ปเปิ้ล ซึ่งเกินกว่ามาตรฐานการประหยัดพลังงานของสหรัฐอเมริกา (5) นอกจากนี้โซนี-อิริคสัน(6) ยังเป็นผู้ผลิตรายแรกที่เริ่มมีผลิตภัณฑ์ปลอดสารพิษในผลิตภัณฑ์แล้วตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดจากสารพีวีซี (PVC) แอนติโมนี (antimony) แบรีเลี่ยม (beryllium) และพลาฟาเลท (phthalates) เป็นต้น
“ผู้ผลิตส่วนมากขาดการบูรณาการในการป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อม คือเน้นปฏิบัติเพียงบางด้านเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ฟิลิปส์ ซึ่งมีการปฏิบัติที่ดีด้านควบคุมสารพิษและประหยัดพลังงาน แต่ยังขาดความรับผิดชอบอย่างสิ้นเชิงต่อขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ของตน น่าเสียดายที่ฟิลิปส์ยังไม่สามารถก้าวเป็นผู้นำผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียวได้จริงตามที่กล่าวอ้างโฆษณา เนื่องจากยังไม่รับผิดชอบในการรับหรือรวบรวมผลิตภัณฑ์ของตนกลับคืนหลังเสื่อมสภาพเพื่อนำไปรีไซเคิลและกำจัดอย่างถูกวิธี” อิซา ครูซซิซากา ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซสากลกล่าว
กรีนพีซจัดอันดับผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียวอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยผลักดันให้เกิดการแข่งขันพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ปลอดสารพิษอันตราย และเพิ่มอัตราการรีไซเคิลของขยะอิเล็กทรอนิกส์เพื่อนำวัตถุดิบกลับมาใช้ใหม่ในกระบวนการผลิต และที่สำคัญผลักดันให้ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มีส่วนในการลดผลกระทบปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากกระบวนการผลิตของตน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาทุกจุดที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การผลิตถึงสิ้นสุดการใช้งาน (Cradle-to-grave)
“การที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีอัตราการเติบโตสูงนั้นจะส่งผลอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะต่อการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงปัญหาจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ผลิตต้องปรับปรุงนโยบายและมีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างครอบคลุมทุกด้าน ซึ่งนอกจากจะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตจนถึงกลายเป็นขยะหลังการใช้งานแล้ว ยังเป็นการทำให้สินค้าของตนได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคมากขึ้น” นายพลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว
หมายเหตุ
รายละเอียดโดยย่อทั้งหมดสามารถค้นหาได้ที่ www.greenpeace.or.th หรือรายละเอียดที่กรีนพีซสากลดังนี้
(1) คู่มือสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียว สามารถค้นหาได้ที่ www.greenpeace.org/greenerelectronics
(2) รายละเอียดเพิ่มเติมของหลักเกณฑ์ประเมิน สามารถค้นหาได้ที่ www.greenpeace.org/electronics-ranking-criteria-explained
(3) หลักเกณฑ์ด้านผลกระทบต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น มีเพียงเช่น ฟูจิซึและซีเมนส์ ได้คะแนนเต็มสำหรับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และโนเกียเป็นผู้นำด้านการใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาด คือใช้ประมาณ 25% ของพลังงานทั้งหมดที่ใช้ในกระบวนการผลิต และตั้งเป้าที่จะเพิ่มเป็น 50% ภายในปี พ.ศ. 2553 ขณะที่ฟิลิปส์ใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดประมาณ 10% และตั้งเป้าที่จะเพิ่มเป็น 25% ภายในปี พ.ศ. 2555 อย่างไรก็ตามแต่ละผู้ผลิตก็เน้นการลดผลกระทบในประเด็นแตกต่างกันแต่ไม่ครอบคลุมทั้งหมด
(4) ผลศึกษาแสดงใน Green IT — Dealing With the New Industry Shockwave — Part 2” โดย Gartner Presentation by Simon Mingay for Gartner Symposium ITXPO 2007, 20 — 23 November 2007 Sydney Convention & Exhibition Centre, Australia
(5) ประเมินโดยใช้เกณฑ์มาตรฐาน Energy Star ของ United Stated Environment Protection Agency (USEPA) ร่วมกับ the US Department of Energy programme. รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถค้นหาได้ที่ http://www.energystar.gov/index.cfm?fuseaction=find_a_product
(6) แม้โซนี-อิริคสัน จะได้รับคะแนนมากที่สุดสำหรับหลักเกณฑ์ด้านการเลิกใช้สารเคมีอันตรายหลายชนิดในผลิตภัณฑ์เมื่อเทียบกับผู้ผลิตอื่น แต่ยังโดนหักคะแนนจากการที่ยังไม่ปลอดจากการใช้สารหน่วงไฟโบรมีน (BFRs) ในทุกชิ้นส่วน
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
พลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โทร. 0 2357 1921 ต่อ 135, 08 1658 9432
วิริยา กิ่งวัชระพงศ์ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน โทร. 0 2357 1921 ต่อ115, 08 9487 0678
Wiriya Kingwatcharapong
Media Campaigner
Greenpeace Southeast Asia, Thailand
Office: +662 3571921 #115
Mobile: +6689 4870678
skype: wiriyanueng
wkingwat@greenpeace.org