เยาวชนเชียงใหม่ นำโครงการรณรงค์ให้ชาวเหนือ “อู้ภาษากำเมือง” คว้าตำแหน่งแฟนต้ายุวทูต ประจำภาคเหนือ ไปครองได้สำเร็จ

ข่าวทั่วไป Wednesday June 25, 2008 14:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 มิ.ย.--แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์
3 เยาวชนล้านนา จากโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ จ.เชียงใหม่ สวมหัวใจรักภูมิปัญญาท้องถิ่นแรงกล้า คว้าตำแหน่ง “แฟนต้ายุวทูตแห่งประทศไทย” ประจำภาคเหนือ ไปครองได้อย่างสง่างาม ด้วยโครงการ “ยุวชนล้านนา อู้ภาษากำเมือง” รณรงค์ให้คนในชุมชนในเขตตัวเมือง จ.เชียงใหม่ ร่วมกันอนุรักษ์ภาษาท้องถิ่นให้อู้แพร่หลายยิ่งขึ้น ตอบโจทย์การประกวดแฟนต้ายุวทูตฯ ที่เน้นให้เด็กไทย “รักษ์โลก รักถิ่นกำเนิด” ด้วยวิธีการคิด และทำเพื่อท้องถิ่นไทย ท่ามกลางเสียงเชียร์ของเพื่อนๆ ชาวเหนือ ณ เซ็นทรัล พลาซา เชียงใหม่ แอร์พอร์ต โดยสมาชิกใหม่แฟนต้ายุวทูตฯ เตรียมบินไปเผยแพร่วัฒนธรรมไทยและทัศนศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมที่ประสพความสำเร็จที่ประเทศญี่ปุ่น ร่วมกับคณะแฟนต้ายุวทูตฯ ประจำภาคต่างๆ ในปีนี้ รวม 18 คน ในเดือนตุลาคมศกนี้
เวทีสร้างสรรค์ระดับเยาวชน “โครงการแฟนต้ายุวทูตแห่งประเทศไทย” ครั้งที่ 13 ซึ่งจัดโดย บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) และ สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ (สท.) ที่เน้นให้เยาวชนเกิดการคิดนอกกรอบ แต่ไม่นอกลู่นอกทาง ได้เข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ ประจำภาคเหนือ โดยเป็นเวทีที่เปิดกว้างให้เยาวชนได้อนุรักษ์และสรรสร้างสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวให้มีการพัฒนาที่ดีขึ้น โดยเยาวชนล้านนาได้นำโครงการที่คิดและทำขึ้นเอง จนได้รับตำแหน่ง “แฟนต้ายุวทูต” ประจำภาคเหนือไปครอง คือ ด.ญ.แพรวพลอย ณ ลำพูน, ด.ญ.พรรณราย ชัยชมภู และด.ญ.ภควดี วงค์คำแสน กับโครงการ “ยุวชนล้านนา อู้ภาษา กำเมือง” ที่สร้างความตระหนักให้กับเยาวชนในท้องถิ่น และชาวบ้านร้านตลาด ให้หันมาใช้การสื่อสารด้วยภาษาเหนือที่เป็นเอกลักษณ์ และส่งเสริมวัฒนธรรมอันดีงามให้อยู่กับวิถีชีวิตของชาวล้านนา โดยน้องแพรวพลอย ถ่ายทอดความคิดเกี่ยวกับโครงการให้ฟังว่า “ภาษากลาง เป็นภาษาที่ใช้เพื่อการสื่อสารให้คนต่างถิ่นได้เข้าใจถึงความคิดของเราว่าต้องการจะพูดอะไร แต่สำหรับคนทางภาคเหนือด้วยกันแล้ว น่าจะใช้ภาษาท้องถิ่นสนทนากัน เพราะเมื่อฟังแล้ว จะรู้สึก “ม่วนอก ม่วนใจ” ทั้งผู้พูดและผู้ฟัง และยังได้ส่งเสริมให้เยาวชนและผู้ใหญ่ได้มีความภาคภูมิใจในวัฒธรรมท้องถิ่นอีกด้วย” ซึ่งเมื่อคณะกรรมการได้ตั้งคำถามเพื่อต้องการทราบทัศนคติของน้องๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษา ด้วยคำถามที่ว่า “สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล” ว่าน้องทั้งสามรู้สึกเช่นไรเมื่อมีผู้กล่าวเช่นนั้น ซึ่งทั้งสามต่างแสดงความคิดเห็นที่เป็นตัวของตัวเองด้วยความมั่นใจว่า “การเลือกใช้ภาษาเป็นสิ่งที่บ่งบอกได้ว่า ผู้พูดนั้นได้รับการอบรมเลี้ยงดูมาอย่างไร ถ้าเราพูดดีก็เป็นศรีแก่ตัว คนก็จะไม่ติฉินนินทาได้” นอกจากนี้ สามสาววัยเยาว์แต่ความคิดความอ่านพัฒนาไปอย่างกว้างไกล ได้ฝากข้อคิดทิ้งท้ายสำหรับเพื่อนเยาวชนที่ยังหลง
เดินทางผิด ไปเป็นเด็กแว๊น หรือเด็กสก็อย ว่า ผู้หลงผิดนั้นน่าจะมาจากการคบเพื่อน และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี มากกว่าที่จะเกิดจากปัญหาครอบครัว ขอให้กลับเนื้อกลับตัว และหันมาทำในสิ่งที่ดีๆ กันดีกว่า การประกวดแฟนต้ายุวทูต ยังได้มอบโอกาสให้เยาวชนได้เข้าร่วมกิจกรรม “3 ประสาน” โดยความร่วมมือจาก 3 หน่วยงานหลัก คือ โครงการแฟนต้ายุวทูตฯ, ชุมชนบ้านป่าสักงาม และห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล โดยได้นำเยาวชนเข้าร่วมทำกิจกรรมปรับภูมิทัศน์โดยการปลูกต้นไม้และร่วมกันสร้างฝายชะลอน้ำ ตามแนวพระราชดำริของในหลวง จำนวน 10 จุด ณ ชุมชนบ้านป่าสักงาม อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีชาวบ้านอาสาสมัครจาก โคคา-โคลา สมาคมภูมินิเวศพัฒนาอย่างยั่งยืน และเจ้าหน้าที่ของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร รวมแล้วกว่า 300 คน เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ โดยน้องๆ ได้มีโอกาสเรียนรู้วิธีการสร้างฝายจากวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น คือไม้ไผ่และคันดิน ซึ่งแม้ทุกคนจะเหน็ดเหนื่อยกันบ้าง แต่ก็รู้สึกภูมิใจที่มีส่วนช่วยชาวบ้านให้มีน้ำใช้ น้องบุณยาพร บุญเฉลย จากโรงเรียนห้องสอนศึกษา จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งได้เดินทางมาร่วมประกวดแฟนต้ายุวทูต ด้วยระยะทางไกลกว่า 250 กม.เล่าว่า “ได้เห็นความสามัคคีของทุกคนในการสร้างฝาย ทุกคนต้องเหน็ดเหนื่อยแต่ผลที่ได้คือชาวบ้านจะได้มีน้ำใช้” ส่วน น้องคันธรส ยาอุด แห่งโรงเรียนบ่อเกลือ จ.น่าน บอกว่า “ดีใจที่ได้ทำในสิ่งเจริญรอยตามแนวพระราชดำริของในหลวง ไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย เพราะอยู่ที่บ้าน ก็ต้องช่วยครอบครัวทำนา หว่านข้าว ถางไร่ อยู่แล้ว แค่นี้ถือว่าเล็กน้อยมาก”
นอกจากโครงการ ยุวชนล้านนา อู้ภาษากำเมือง ของน้องๆ ชาวเชียงใหม่ จะชนะใจกรรมการไปอย่างเฉือดเฉือนแล้ว ยังมีโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอีก 9 โครงการ ของเยาวชนจาก จ.ลำปาง น่าน เชียงราย สุโขทัยและแม่ฮ่องสอน ที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ และเป็นที่ประทับใจทั้งกรรมการและผู้ชมไม่น้อย ประกอบด้วย กลุ่มโครงการที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อชุมชนและท้องถิ่น คือ โครงการอนุรักษ์ปลามัน ของ โรงเรียนบ่อเกลือ จ.น่าน, โครงการเยาวชนไทยใจอาสา...ร่วมใจพัฒนาแหล่งน้ำ...สู่ชุมชน ของ โรงเรียน วัดถ้ำปลาวิทยาคม จ.เชียงราย, โครงการส่งเสริมการปลูกพืชด้วยเกษตรอินทรีย์ ของ โรงเรียนศรีสวัสดิ์ วิทยาคาร จ.น่าน กลุ่มโครงการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้แก่ โครงการภูมิปัญญาพัฒนาท้องถิ่น ของ โรงเรียนห้องสอนศึกษา จ.แม่ฮ่องสอน, โครงการอนุรักษ์และเผยแพร่นิทานพื้นบ้านสุโขทัย ของ วิทยาลัยนาฏศิลปสุโขทัย จ.สุโขทัย และยังมีโครงการที่อิงกระแสภาวะโลกร้อน คือ โครงการวิทยากรสัญจร (ลดโลกร้อน) ของโรงเรียนเทศบาล 5 (บ้านศรีบุญเรือง) จ.ลำปาง, โครงการที่เผยแพร่วัฒนธรรมและปลูกจิตสำนึกรักท้องถิ่น ได้แก่ โครงการมัคคุเทศก์น้อย ของ โรงเรียนท่าวังผาพิทยาคม จ.น่าน, โครงการสร้างเสริมสุขภาพและเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน ได้แก่ โครงการผ้าขาวม้าเพื่อนรัก ของ โรงเรียนเทศบาล 4 (บ้านเชียงราย)
จ.ลำปาง, และโครงการปลูกฝังค่านิยมที่ดีงามให้กับเยาวชน คือ โครงการชวนน้องท่องโลกหนังสือ ของ โรงเรียนจักรคำคณาทร จ.ลำพูน ได้ผ่านหูผ่านตากับความสามารถของเยาวชนรุ่นใหม่ที่เปี่ยมไปด้วยไฟแห่งการสร้างสรรค์ให้ชุมชนและสังคมดีขึ้นแล้ว ผู้ใหญ่อย่างเราๆ ก็ควรให้การสนับสนุน เช่นเดียวกับความเห็นของ ดร.เจริญศรี ท่วมสุข นักวิชาการด้านเด็กและเยาวชน หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินที่เน้นว่า “ปัจจุบันสมองของเด็ก มีการรับรู้และมีความคิดที่กว้างไปไกลแล้ว ต้องชื่นชมโรงเรียน และผู้ใหญ่ที่คอยให้การสนับสนุน เพราะเด็กจะมีคุณภาพโดยขาดผู้ใหญ่อยู่เบื้องหลังไม่ได้ ต้องตะล่อมให้เขาได้รับในสิ่งที่ดีๆ นอกจากนี้ จากการประกวดยังเห็นได้ว่า ศักยภาพของเยาวชนที่อยู่ในชนบทห่างไกลนั้นไม่แตกต่างจากเยาวชนที่อยู่ในชุมชนเมืองเลย เพราะฉะนั้นผู้ใหญ่อย่างเรา หรือองค์กรที่มีส่วนรับผิดชอบต่อสังคมต้องให้การสนับสนุน เด็กถึงจะพัฒนาไปได้อีกไกล”
สำหรับน้องทั้งสาม เจ้าของตำแหน่ง “แฟนต้ายุวทูต” ประจำภาคเหนือ กลุ่มล่าสุด จะได้รับโอกาสในการทำหน้าที่ในฐานะ “ยุวทูต” ของประเทศไทย เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมและทัศนศึกษาโครงการด้านสิ่งแวดล้อมที่ประสพความสำเร็จ ร่วมกับเพื่อนๆ แฟนต้ายุวทูตภาคอื่นๆ รวม 18 คน ณ ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ โดยมีผู้ใหญ่ใจดีหลายๆ องค์กรร่วมผลักดันและเฝ้ามองความสำเร็จของน้องๆ
หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
บริษัท แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์ จำกัด โทร. 0-2434-8300, 0-2434-8547
คุณสุจินดา, คุณแสงนภา, คุณอนุศักดิ์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ