กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--วว.
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประสบความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาสารสกัดธรรมชาติ “ผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชจากสารสกัดเมล็ดมันแกว” สามารถกำจัดหนอนกระทู้ในผัก หนอนใยผักและแมลงอื่นๆ ได้กว่า 90% ระบุไม่ก่อให้เกิดสารพิษตกค้างในพืชและสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการใช้สารเคมีของเกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพ
นางสาวสุมาลัย ศรีกำไลทอง รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนา วว. กล่าวชี้แจงว่า แมลงศัตรูพืชนับเป็นปัญหาสำคัญต่อการทำเกษตรกรรมของเกษตรกร ซึ่งการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชนั้น จำเป็นต้องพึ่งวัตถุมีพิษทางการเกษตร อันได้แก่ ยาฆ่าแมลง ที่มีราคาแพงและต้องนำเข้าจากต่างประเทศ อีกทั้งการใช้สารดังกล่าวเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น เป็นพิษต่อคนและสัตว์ ทำให้เกิดการดื้อยาของแมลง และยังทำลายแมลงที่มีประโยชน์ในระบบนิเวศวิทยา ก่อให้เกิดการตกค้างของสารพิษต่อผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งส่งผลกระทบทั้งสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิต ด้วยตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว วว. โดย ศูนย์เทคโนโลยีปุ๋ย จึงได้ทำการศึกษา “ วิธีการสกัดสารออกฤทธิ์จากพืช / สมุนไพร และทำการทดสอบประสิทธิภาพของสารสกัดต่อแมลงศัตรูพืช ” ขึ้น เพื่อนำสารสกัดธรรมชาติโดยเฉพาะจากพืชมาใช้ทดแทนสารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช
“ ประเทศไทยจำเป็นต้องนำเข้าสารปราบศัตรูพืชมากกว่าร้อยชนิด ทั้งในลักษณะเดี่ยวๆหรือสูตรผสมเป็นปริมาณประมาณ 20,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปีสารเหล่านี้อาจเป็นสารเคมีชนิดใหม่ๆ ที่ถูกนำมาใช้โดยที่ยังไม่ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบความเป็นพิษ จึงอาจก่อให้เกิดโทษมากกว่าคุณประโยชน์ ปัจจุบันจึงมีการเสาะหาสารเคมีจากธรรมชาติ เช่น พืช มาใช้แทนสารสังเคราะห์ เนื่องจากมีข้อดีที่สามารถสลายตัวเองตามกระบวนการชีวภาพในสิ่งแวดล้อมและกลายเป็นสารไม่มีพิษ จึงไม่มีพิษตกค้างหรือพิษสะสมเหมือนกับสารเคมีกำจัดแมลงที่เป็นสารเคมีสังเคราะห์…ความสำเร็จของ วว. ในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อภาคเกษตรกรรมของประเทศ ในการช่วยลดการใช้สารเคมีซึ่งมีราคาสูงและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวม…ผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชจากสารสกัดเมล็ดมันแกวนับเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจของเกษตรกรในการช่วยเพิ่มผลผลิตและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนา วว. กล่าว
ดร.สุริยา สาสนรักกิจ ผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีปุ๋ย วว. กล่าวเพิ่มเติมว่า วว. ได้ทำการศึกษาวิธีการสกัดสารออกฤทธิ์และการทดสอบประสิทธิภาพของสารต่อแมลงศัตรูพืชของพืช 4 ชนิด คือ หนอนตายหยาก ข่าลิง เมล็ดมันแกว และหางไหล พบว่าเมื่อเปรียบเทียบผลการทดสอบประสิทธิภาพของสารสกัดจากพืชทั้ง 4 ชนิดดังกล่าว โดยวิธีการสกัดแบบลำดับส่วนด้วยตัวทำละลายที่มีความแรงของขั้วแตกต่างกัน 3 ชนิด คือ เฮกเซน เมทานอล และน้ำ พบว่า สารสกัดจากเมล็ดมันแกว ซึ่งมีสาร rotenone และ saponins ที่มีสารออกฤทธิ์เป็นยาฆ่าแมลง ที่ได้จากการสกัดด้วยตัวทำละลายที่เหมาะสม และส่งผลต่ออัตราการตายของหนอนกระทู้ผักสูงที่สุด กล่าวคือ ความเข้มข้นตั้งแต่ 0.1% ขึ้นไปจะส่งผลต่ออัตราการตายของหนอนกระทู้ในผักมากกว่า 90%
“ วว. ได้นำผลิตภัณฑ์ไปทำการทดสอบในระดับเรือนทดลองและระดับภาคสนามแปลงปลูกผักกาดขาวปลีและผักคะน้า พบว่าอัตราที่เหมาะสมในการฉีดพ่นเพื่อป้องกันและกำจัดแมลง ควรใช้ความเข้มข้น 0.25 - 1% ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชจากสารสกัดเมล็ดมันแกว ผลงานวิจัยของ วว. นี้ สามารถเก็บรักษาได้อย่างน้อย 8 สัปดาห์ ด้วยการเก็บในขวดสีชา หรือไม่ให้โดนแสงแดด และเก็บที่อุณหภูมิห้อง โดยที่ผลิตภัณฑ์ยังมีปริมาณสารออกฤทธิ์คงเดิม…ซึ่งการดำเนินโครงการในขณะนี้ วว. ได้พัฒนาเครื่องจักรและอุปกรณ์ต้นแบบกระบวนการผลิตสารสกัดจากเมล็ดมันแกว เพื่อให้ได้กระบวนการผลิตสารอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถผลิตได้อย่างเพียงพอกับความต้องการของเกษตรกร ” ดร.สุริยากล่าว
ดร. ประไพภัทร คลังทรัพย์ นักวิชาการ ฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ วว. กล่าวถึงการทดสอบความเป็นพิษของผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชจากสารสกัดเมล็ดมันแกวว่า เนื่องจากผลิตภัณฑ์จะถูกนำไปใช้ในรูปสารละลายและพ่นฝอยสู่พืช อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังและดวงตาได้ วว. จึงทำการทดสอบตามมาตรการทดสอบของทั้งประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรป โดยใช้สัตว์ทดลองในการศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลัน ทั้งการกินและการซึมผ่านผิวหนัง โดยทำการเจือจางผลิตภัณฑ์ 100 เท่าตามวิธีการที่นำไปใช้จริง ปรากฎว่าตรวจไม่พบอาการผิดปกติใดๆ และความผิดปกติของอวัยวะภายในต่างๆ นอกจากนั้นผลิตภัณฑ์ยังไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อดวงตาและผิวหนังเมื่อทดสอบในกระต่าย ทั้งนี้ วว. จะดำเนินการทดสอบเพิ่มเติม เพื่อศึกษาฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงต่อสารพันธุกรรมหรือ DNA และการทดสอบพิษตกค้างต่อสิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ได้ที่ ศูนย์เทคโนโลยีปุ๋ย วว.
เลขที่ 35 หมู่ 3 เทคโนโธานี ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120
โทรศัพท์ 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 ในวันเวลาราชการ--จบ--