กระตุ้นประชาชนให้ตระหนักและสนใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ข่าวทั่วไป Monday August 29, 2005 13:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ส.ค.--สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ
การแข่งขันโอลิมปิกวิชาการนานาชาติ เริ่มตั้งแต่ปี 2502 ที่ประเทศรูมาเนีย มีประเทศต่าง ๆ เข้าแข่งขันมากมาย โดยเน้นการสร้างนักเรียนอัจฉริยะในสาขาวิชาการต่าง ๆ เข้าแข่งขัน การแข่งขันดังกล่าวได้เวียนไปยังประเทศต่างๆ อีกหลายต่อหลายประเทศก่อนหน้านั้น มีนักเรียนไทยหลายคนได้รับทุนการศึกษาไปศึกษาต่อต่างประเทศ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว บางคนได้ทำงานวิจัยในสหรัฐอเมริกาจนเป็นที่ยอมรับขององค์การนาซามาแล้ว ถึงกับได้รับการยกย่องนำรูปถ่ายไปติดตั้งไว้ในบริษัทใหญ่โต ซึ่งจะติดเฉพาะรูปถ่ายพนักงานบริษัทที่ได้รับการยอย่องตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมาไม่กี่คน มีบางคนได้รับรางวัลโนเบลด้วย จึงถือว่าเป็นเกียรติประวัติสูงสุดของคนไทยนั้น รวมถึงประเทศชาติด้วยและปรากฏว่าในการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการนานาชาติที่ผ่านมาหลายครั้ง มีนักเรียนไทยได้รับรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศหลายสาขาวิชาการ
ประเทศไทยเริ่มส่งนักเรียนไทยเข้าแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกครั้งแรกในปี 2532 โดยมีสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทสไทยฯ และสมาคมคณิตศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ เป็นผู้ดำเนินการโดยอาศัยเงินบริจาค ปีต่อมาสถาบันส่งเสริมการสอนวิยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จึงได้รับงบประมาณแผ่นดินสนับสนุนให้นักเรียนไทยเข้าแข่งขันโอลิมปิกวิชาการสาขาต่างๆ เพิ่มขึ้นจนถึงปัจจุบัน
นับตั้งแต่รัฐบาลได้เห็นชอบให้เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย ในปี 2525 ทำให้เป็นแรงบันดาลใจให้สมาคมภาครัฐและภาคเอกชนร่วมจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์เป็นประจำทุกปีจนถึงปัจจุบัน แต่เนื่องจากไม่มีนโยบายและการสนับสนุนอย่างเป็นระบบและขาดเป้าหมายระดับชาติที่ชัดเจน การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์จึงไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควรเป็นเวลา 20 กว่าปี จนกระทั่งรัฐบาลจัดทำแผนกลยุทธ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (2547-2556) ซึ่งมีกลยุทธ์ข้อที่ 4 สร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงความสำคัญของเรื่องนี้ ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา (23 มิ.ย. 2548) และได้เน้นถึงความสำคัญของเรื่องนี้อีก ในการบรรยายพิเศษวันเปิดสมัชชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีครั้งที่ 4 (26 พ.ค. 2548) ดังนั้นองค์กรที่รับผิดชอบควรจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ด้านสำรวจวิจัยกิจกรรมสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สตวท.) เช่น ในต่างประเทศและดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายอย่างจริงจังต่อไป
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จึงได้มอบหมายให้สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ทำการสำรวจและวิจัยกิจกรรมดังกล่าวแล้ว ให้คำจำกัดความว่า การสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นการดำเนินการเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนมีความสนใจ มีความรู้ความเข้าใจวิทยาศาสตร์และวิธีการทางวิทยาศาสตร์ตลอดจนตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในยุคปัจจุบัน และผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
คณะผู้วิจัยมี รศ.ดร.กำจัด มงคลกุล หัวหน้าโครงการ ผศ.ดร.สุกัญญา สุนทรส รองหัวหน้าโครงการ และ ดร.ยุวนุช ทินนะลักษณ์ เป็นที่ปรึกษาโครงการ โดยมีทีมนักวิจัยคือ นายบำรุง ไตรมนตรี นางรุ่งนภา ทัดท่าทราย น.ส.รดาวรรณ ศิลปโภชากุล และมีนายสุรเชษฐ์ พิทยาพิบูลพงศ์ น.ส. สุพัตรา ตีบจันทร์ เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ได้สำรวจกิจกรรมการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สตวท.) รวม 86 เรื่องซึ่งเป็นเรื่องในประเทศ 70 เรื่อง และอีก 16 เรื่องจาก 8 ประเทศ และได้เสนอให้กำหนดประชากรเป้าหมาย สตวท. คือ ประชาชนอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป มีจำนวน 47 ล้านคน มีการศึกษาไม่เกินระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยมีเป้าหมายเฉพาะกลุ่มคือ ผู้สำเร็จการศึกษาสูงกว่าภาคบังคับ
อยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย อาชีวะถึงระดับอุดมศึกษาหรือกลุ่มชนชั้นกลาง มีจำนวนประมาณ 12 ล้านคน และผู้นำสังคม อาทิ ผู้บริหาร ผู้นำชุมชน นักการเมือง ฯลฯ มีประมาณ 120,000 คน เหตุที่คณะผู้วิจัยเสนอให้แยกประชากรเป้าหมายเป็น 3 กลุ่ม เพราะเห็นว่าถ้ากิจกรรม สตวท. มุ่งสู่ประชาชนกลุ่ม 47 ล้านคน กลุ่มเดียวเท่านั้น ย่อมหวังผลได้ในระยะยาวซึ่งต้องใช้เวลาหลายสิบปี จึงควรมีกิจกรรม สตวท.
บางกิจกรรมที่มุ่งเป้ากลุ่มชนชั้นกลางของประเทศ และมีบางกิจกรรมที่มุ่งเป้ากลุ่มผู้นำสังคมซึ่งหากกิจกรรมดังกล่าวได้ผลดีก็จะสามารถเร่งการบรรลุเป้าหมาย สตวท. ได้เร็วขึ้นนับสิบปี อย่างไรก็ดี อาจมีการแบ่งกลุ่มประชากรเป้าหมายแบบใหม่ก็ได้ถ้าเห็นเหมาะสม
สำหรับมาตรการด้านปฏิบัติการ คือกิจกรรมที่ช่วยสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่ประชาชนทั่วไป ส่วนใหญ่มีการดำเนินการอยู่แล้ว แต่ควรมีการปรับปรุงเพื่อให้บรรลุเป้าหมายยิ่งขึ้น เช่น สื่อมวลชนมีนิตยสาร วารสาร หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ซึ่งจะให้ข้อมูลความรู้ความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่ประชาชน ในปัจจุบันมีข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีค่อนข้างน้อย และปัญหาสำคัญคือ ขาดนักวิทยาศาสตร์นิเทศซึ่งในประเทศต่าง ๆ มีหลักสูตรปริญญาตรีถึงปริญญาเอก สาขาสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่มีความจำเป็นต่อการนำประเด็นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่
เกิดขึ้นใหม่ตลอดเวลา เพื่อนำเสนอให้ความรู้แก่ประชาชนตลอดจนผู้นำชุมชน นักการเมืองผู้บริหารประเทศต้องมีการสนับสนุนที่เหมาะสม
งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ต่างประเทศถือเป็นกิจกรรมสำคัญในการ”กระตุ้น”ให้ประชาชนสนใจและรู้เรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่าง ๆ โดยมากมักจัดตามเมืองต่างๆ เปลี่ยนสถานที่ทุกปี ประเทศไทยจึงควรเปลี่ยนจากการจัดใน กทม. ทุกปี ไปจัดในภูมิภาค เช่น การแข่งขันกีฬาแห่งชาติ เพื่อให้ถึงประชากรเป้มหมายทั่วประเทศและปรับวิธีการจัดงานได้ตรงเป้าหมาย สตวท. ยิ่งขึ้น
การให้รางวัลนักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยี นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ โดยพัฒนารางวัลที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นรางวัลแห่งชาติ โดยอาจเรียกว่ารางวัลของนายกรัฐมนตรีและรางวัลของรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์คล้ายในออสเตรเลีย เพื่อเชิดชูกระตุ้นความภาคภูมิใจของประชาชนทั้งประเทศ ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ครูวิทยาศาสตร์ และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ในวันสำคัญของชาติดังกล่าว
พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ เป็นกิจกรรมสำคัญด้าน สตวท. ในต่างประเทศ แต่ของไทยมีกระจายอยู่ในหลายกระทรวง มีวัตถุประสงค์และระบบบริหารต่างกัน เช่น องค์การพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ (อพวช.) มีวัตถุประสงค์ สตวท. แต่อยู่ไกลชุมชน เช่น ศูนย์วิทยาศาสตร์ศึกษาที่เอกมัย รังสิตและประจวบคีรีขันธ์ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เน้นประโยชน์ต่อนักเรียน แต่มีปัญหาด้านระบบบริหารและการสนับสนุนสามารถร่วมกันเป็นเครือข่ายพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์จะได้ประโยชน์ทั้งด้านการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านการเรียนการสอนรวมทั้งประโยชน์ด้านการพักผ่อนของคนเมืองและด้านการท่องเที่ยวเช่นในต่างประเทศ
ส่วนมาตรการด้านโครงสร้างนั้น เป็นมาตรการที่ช่วยให้การปฏิบัติการดำเนินการได้ผลดียิ่งขึ้น กล่าวคือ สิ่งตีพิมพ์และสื่อมวลชนเป็นมาตรการที่สำคัญมาก สำหรับการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับประชาชนทั้ง 3 กลุ่มเป้าหมาย แต่ปัจจุบันประเทศไทยไม่ได้ใช้ประโยชน์จากมาตรการด้านนี้มากนักเนื่องจากขาดนักสื่อสารวิทยาศาสตร์หรือนักวิทยาศาสตร์นิเทศที่เป็นกลไกสำคัญที่จะถ่ายทอดเรื่องทางวิทยาศาสตร์ที่เข้าใจยากให้เป็นภาษาที่ง่ายและประชาชนสามารถเข้าใจได้
รวมทั้งศูนย์ข่าววิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ทั้งในและนอกประเทศ เพื่อช่วยให้
ผู้สื่อข่าวเขียนรายงานที่ถูกต้องและทันเหตุการณ์ รวมทั้งการบริหารจัดการให้ตรงเป้าหมาย สตวท.
ในปัญหาเหล่านี้คณะวิจัยได้เสนอข้อแก้ไข คือ ระยะยาวควรแก้ไขโดยการสนับสนุนหลักสูตรวิทยาศาสตร์นิเทศและจัดตั้งศูนย์ข่าว ซึ่งในปัจจุบันอาจทำได้คือ ควรจัดอบรมผู้สนใจและนักข่าวเกี่ยวกับประเด็นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญต่อประเทศ โดยอาศัยผู้ชำนาญการและวิทยากรจากหน่วยงานต่าง ๆ ปีละ 3-6 ครั้ง และควรมีงานการวิจัยและพัฒนาสื่อต้นแบบการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงในรูปแบบเข้าใจง่าย เพื่อนำไปผลิตสื่อด้านต่าง ๆ และจัดให้มีรางวัลดีเด่นประจำปีสำหรับผู้สื่อข่าว นักเขียน หรือผู้ผลิตสื่อตรงกับเป้าหมายด้านความตระหนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากนั้นควรจัดให้มีการประเมินผลระดับความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นระยะเพื่อปรับมาตรการต่าง ๆ ให้ได้ผลดียิ่งขึ้น
การสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น ต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น ออสเตรเลียและเกาหลีล้วนแต่มีนโยบายของรัฐและยุทธศาสตร์การสร้างความตระหนักอย่างจริงจังต่อเนื่องหลายสิบปี แต่ประเทศไทยไม่มีนโยบายและยุทธศาสตร์ในด้านนี้ตลอดเวลา 25 ปี ที่ตั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ประชาชน สื่อมวลชน ผู้นำสังคม ภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนนักการเมืองและผู้บริหารประเทศ ส่วนใหญ่จึงยังไม่เห็นความสำคัญและให้การสนับสนุนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้มีความเข้มแข็งเท่าที่ควร เปรียบเหมือนการดำเนินธุรกิจที่ไม่มีฝ่ายการตลาด ประชาชนจึงไม่รู้จักสินค้าซึ่งเป็นของใหม่และเข้าใจยาก “สินค้า” จึงขายไม่ออก บัดนี้รัฐบาลได้วางแผนเพื่อแก้ไขในจุดอ่อน โดยให้มียุทธศาสตร์ที่ 4 หรือกลยุทธ์การตลาดเพื่อสร้างความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของ “สินค้า” แล้ว คณะผู้วิจัยจึงได้เสนอให้มียุทธศาสตร์ 3 ด้านคือ
ด้านนโยบาย โดยให้คณะกรรมการนโยบายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติปรับแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติข้อที่ 4 เดิม และปรับอนุกรรมการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับข้อมูลการสำรวจและการสังเคราะห์ในรายงานการวิจัย
ด้านการบริหารจัดการ เพื่อให้มีการนำแผนกลยุทธ์แห่งชาติข้อที่ 4 นำไปสู่การปฏิบัติได้จริง คณะผู้วิจัยเสนอให้อนุกรรมการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นผู้รับผิดชอบด้านบริหารจัดการ โดยมีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ที่รับผิดขอบเรื่อง สตวท.) และเจ้าหน้าที่จาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) (จากสำนักงานเลขานุการ กนวท.) ร่วมกันเป็นฝ่ายเลขานุการ นอกจากนั้นควรจัดตั้งคณะทำงาน 3 ชุด เพื่อดำเนินกิจกรรม สตวท.
ด้านการสนับสนุนและการประเมิน คณะผู้วิจัยเสนอว่า ควรให้ความสำคัญแก่กลยุทธ์ด้าน สตวท.
คล้ายความสำคัญด้านการตลาดของธุรกิจมหภาพ โดยมีงบประมาณสนับสนุนที่เหมาะสมสำหรับกิจกรรมสร้างความรู้ความเข้าใจและความตระหนักถึงความสำคัญของกลยุทธ์แห่งชาติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต่อประชาชนเป้าหมาย 47 ล้านคนทั่วประเทศ ดังนั้น คณะกรรกมารนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จึงควรจะให้ความสำคัญและสนับสนุนให้มีการดำเนินการอย่างจริงจัง มิฉะนั้น แผนกลยุทธ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จะไม่บรรลุผลสำเร็จคล้ายกับการดำเนินการในอดีต--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ