บอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯ อนุมัติหลักการแปรสภาพตลาดหลักทรัพย์ฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 26, 2008 09:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--ตลท.
นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เห็นชอบหลักการปรับโครงสร้างกลุ่มตลาดหลักทรัพย์ฯ ตามแนวทางผลการศึกษาของบริษัท Boston Consulting Group (BCG) ที่ปรึกษาในโครงการศึกษาการกำหนดรูปแบบและแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างหลักของตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัทย่อย ให้มีการแปรสภาพองค์กรหรือ Demutualization และเตรียมความพร้อม เพื่อเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2554 พร้อมกับปรับโครงสร้างองค์กร และกำหนดแนวทางการปรับตัวเชิงกลยุทธ์ใน 5 ปีข้างหน้า
คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ เห็นว่า แนวทางในการแปรสภาพองค์กร หรือ Demutualization จะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม เนื่องจากจะมีการปรับเปลี่ยนองค์กรโดยมีการตั้งเป้าหมายการเติบโตที่ชัดเจนในการดำเนินงาน รวมทั้ง ปรับเปลี่ยนการทำงาน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า รวมทั้ง การสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ลูกค้า ซึ่งได้แก่ บริษัทจดทะเบียน บริษัทสมาชิก และผู้ลงทุน โดยการทำให้กลุ่มลูกค้าดังกล่าวได้รับประโยชน์จากตลาดทุนอย่างเต็มที่ ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างแข็งแรง เนื่องจากมีการจัดสรรทรัพยากร และใช้เงินทุนอย่างคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุดจากช่องทางการระดมทุนผ่านตลาดทุน
ในด้านของบริษัทจดทะเบียน เมื่อมีมูลค่าเพิ่ม ก็จะสามารถขยายธุรกิจได้รวดเร็วและสะดวกมากขึ้น ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง ก่อให้เกิดการขยายงานและการสร้างรายได้ ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศขยายตัว
ในด้านของผู้ลงทุน เมื่อผู้ลงทุนเข้ามาลงทุนได้สะดวก คล่องตัว มีต้นทุนที่ต่ำลง และมั่นใจได้ว่าจะได้ลงทุนในหลักทรัพย์ และตราสารทางการเงินที่หลากหลาย เพื่อกระจายความเสี่ยง ทำให้มีทางเลือกมากขึ้น เพื่อได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนอย่างเต็มที่ ก็จะสามารถเพิ่มค่าเงินออมของตนเอง สร้างความมั่งคั่งให้กับครอบครัว สามารถขยายไปถึงสังคมโดยรวม ซึ่งย่อมส่งผลไปยังความแข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจของประเทศเช่นเดียวกัน
ดังนั้น การแปรสภาพองค์กรในครั้งนี้ จึงเป็นตัวจักรสำคัญ ที่จะช่วยพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เห็นชอบให้มีการกำหนดแนวทางการปรับตัวเชิงกลยุทธ์ใน 5 ปีข้างหน้า ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ในช่วงแรกจะเร่งสร้างความแข็งแกร่งของตลาดทุนภายในประเทศ โดยการเพิ่มความลึกของตลาด โดยการมีสินค้าที่มีคุณภาพ และหลากหลาย จากนั้น จะมุ่งไปสู่การหาพันธมิตร เพื่อสร้างความเชื่อมโยงกับตลาดหุ้นในระดับภูมิภาค และระดับนานาประเทศในที่สุด
ทั้งนี้ ได้มีการตั้งเป้าหมายการเติบโตที่ชัดเจนใน 5 ปีข้างหน้า โดยกำหนดจะเพิ่มมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดอีก 2 เท่า และตั้งเป้ารายได้เพิ่มขึ้นอีก 2 เท่า ภายในปี 2556 โดยร้อยละ 25 ต้องเป็นรายได้จากการออกสินค้าใหม่ รวมทั้ง การมีบริษัทจดทะเบียนจากต่างประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ซึ่งจะมีการกำหนดแผนกลยุทธ์ เพื่อให้มีการดำเนินงานที่บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
ด้านโครงสร้างองค์กรนั้น คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้อนุมัติให้มีการแยกงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกเป็น 2 กลุ่มได้แก่ กองทุนเพื่อการพัฒนาตลาดทุน และ ส่วนของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเน้นการทำงานในแต่ละด้าน คือการพัฒนาตลาดทุนในระยะยาว และการดำเนินธุรกิจตลาดทุน ทั้งนี้ กองทุนเพื่อการพัฒนาตลาดทุน จะมีหน่วยงานที่ดูแลงานด้านการให้ความรู้แก่ผู้ลงทุน และการพัฒนาความแข็งแกร่งให้ผู้เกี่ยวข้องในตลาดทุน สถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน งานด้านบรรษัทภิบาล และกิจกรรมเพื่อสังคม ซึ่งถือว่าเป็นจุดเด่นของตลาดทุนไทย ที่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่พัฒนาตลาดทุนอย่างชัดเจน
ในขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะต้องมีการจัดโครงสร้างที่ชัดเจน ที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า ทั้งบริษัทจดทะเบียน บริษัทหลักทรัพย์ และผู้ลงทุน ดูแลงานด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ รวมถึงดูแลงานหลังการซื้อขายทั้งหมดอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ทั้ง 2 กลุ่มงาน จะได้รับการจัดสรรเงินจากเงินกองทุนของ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาตลาดทุน
ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะดำเนินการเพื่อปรับโครงสร้างขององค์กรให้สอดคล้องกับแนวทางดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2551 นี้เป็นต้นไป โดยโครงสร้างองค์กรใหม่จะมีผลตั้งแต่ต้นปี 2552 ในขณะเดียวกัน จะได้มีการจัดเตรียมแผนกลยุทธ์ที่สอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาว 5 ปีข้างหน้า
ในด้านการแก้ไขกฎหมาย คาดว่าจะสามารถนำเสนอแก้ไขได้ในปี 2552 โดยจะมีการนำรายละเอียดที่สำคัญ อาทิ โครงสร้างการถือหุ้น การกำกับดูแลหน่วยงานในตลาดทุนหลังการแปรสภาพตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นต้น ไปหารือพร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้ง หารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) และกระทรวงการคลัง รวมถึงเตรียมนำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทยต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ