กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์
จากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้พื้นที่ลุ่มน้ำ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่อุดมสมบูรณ์ และพัฒนาชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำให้ “คนอยู่กับป่าได้อย่างเกื้อกูล” และวิธีการหนึ่งที่สามารถช่วยบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในชุมชน คือการสร้างฝายชะลอน้ำ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ มูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย ก่อตั้งโดย บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด, บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) ได้เข้าไปมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน โดยมีส่วนร่วมในการค้นหาแหล่งน้ำตามธรรมชาติ บำรุงแหล่งน้ำเพื่อให้เกษตรกร ประชาชน และองค์กรธุรกิจอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
มูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนด้านการจัดการทรัพยากรน้ำในชุมชนบ้านป่าสักงาม หมู่ที่ 1 ต.ลวงเหนือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 โดยร่วมกับ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ในการสำรวจ โดยใช้เครื่องจับพิกัดจุด GPS และแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อกำหนดแนวเขตป่าอนุรักษ์ และกำหนดจุดการสร้างฝายชะลอน้ำ ทำให้ป่าฟื้นฟูความชุ่มชื้น โดยล่าสุดยังได้จัดสร้างสะพานทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าซับน้ำ ซึ่งจะเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ เป็นแหล่งเรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ เพื่อให้ผู้สนใจในท้องถิ่นต่างๆ สามารถศึกษาการจัดการต้นน้ำในพื้นที่ของบ้านป่าสักงาม ซึ่งเป็นหมู่บ้านตัวอย่างที่ได้รับการยอมรับว่า มีการบริหารจัดการต้นน้ำในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และในโอกาสที่โครงการแฟนต้ายุวทูตแห่งประเทศไทย ได้จัดการประกวดในรอบชิงชนะเลิศ ประจำภาคเหนือ ขึ้นที่ จ.เชียงใหม่ วีระ อัครพุทธิพร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ องค์กรสัมพันธ์ บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด ในฐานะกรรมการมูลนิธิ โคคา-โคลา ประเทศไทย จึงได้นำคณะผู้เข้าประกวดแฟนต้ายุวทูตฯ จำนวน 30 คน และคณาจารย์อีก 10 ท่าน เข้าร่วมพิธีมอบสะพานทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าซับน้ำ ของมูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย และร่วมศึกษาแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติแห่งนี้ นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกันปลูกต้นไม้เพื่อปรับแต่งภูมิทัศน์ให้กับชุมชน และสร้างฝายชะลอน้ำ ตามแนวพระราชดำริ จำนวน 10 จุด ร่วมกับชาวบ้านในชุมชน อาสาสมัคร โคคา-โคลา สมาคมภูมินิเวศพัฒนาอย่างยั่งยืน และเจ้าหน้าที่ของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร รวมกว่า 300 คน ผนึกแรงกายอย่างทุ่มเท เพื่อให้ชุมชนบ้านป่าสักงาม มีฝายชะลอน้ำที่ทำขึ้นจากวัสดุธรรมชาติใกล้ตัว คือไม้ไผ่ และคันดิน เพื่อนำน้ำกลับมาใช้ประโยชน์ทั้งเพื่อการเกษตรและอุปโภค บริโภค ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว ยังได้สอดคล้องกับพระราชดำรัสของในหลวงที่ว่า “เรียนรู้ เข้าใจ เข้าถึง จึงพัฒนา” ได้เป็นอย่างดี
อนึ่ง โครงการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นเมื่อ 25 มีนาคม 2535 โดยมีพื้นที่ครอบคลุมลุ่มน้ำแม่กวง เป็นเนื้อที่ประมาณ 345,000 ไร่ โดยมีชุมชนบ้านป่าสักงาม ซึ่งตั้งอยู่ภายในลุ่มน้ำแม่กวง และเป็นชุมชนที่มีประวัติการตั้งถิ่นฐานมานานกว่า 200 ปี อยู่ในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นหมู่บ้านที่มีผลงานในการน้อมนำเอาแนวพระราชดำริมาอนุรักษ์และพัฒนา จนจนกระทั่งปัจจุบัน ชุมชนบ้านป่าสักงามสามารถพลิกฟื้นจากสภาพทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ลำห้วยที่เหือดแห้งน้ำ มากว่า 10 ปี กลับมามีน้ำไหลอีกครั้ง นอกจากนี้ วิถีชีวิตของคนในหมู่บ้าน ยังมีส่วนช่วยให้เกิดการเรียนรู้เพื่อการปรับตัวในการดำรงชีวิตตามวิถี “คนอยู่กับป่า” ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย จนหมู่บ้าน ป่าสักงามแห่งนี้ ได้รับรางวัลดีเด่นมากมาย รวมถึงรางวัลล่าสุดเมื่อปี 2550 คือ รางวัลที่ 3 หมู่บ้านที่มีการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 โดยการสนับสนุนของมูลนิธิ โคคา-โคลา ประเทศไทย นี้ด้วยเช่นกัน
คำบรรยายภาพ
01 คุณวีระ อัครพุทธิพร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ องค์กรสัมพันธ์ บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด (คนตัดริบบิ้นกลางภาพ) พร้อมด้วยสักขีพยาน รวมถึง คณะเยาวชนผู้เข้าประกวดแฟนต้ายุวทูตแห่งประเทศไทย รอบชิงชนะเลิศ ประจำภาคเหนือ ร่วมกันทำพิธีเปิดสะพานทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าซับน้ำ ณ ชุมชนบ้านป่าสักงาม อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่
02 สะพานทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าซับน้ำ ที่จะใช้เป็นเส้นทางนำผู้สนใจเข้าไปสัมผัสกับความอุดมสมบูรณ์ ทางธรรมชาติของชุมชนบ้านป่าสักงาม
03 คุณวีระ อัครพุทธิพร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ องค์กรสัมพันธ์ บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด ขณะปลูกต้นไม้เพื่อปรับแต่งภูมิทัศน์ให้กับชุมชนบ้านป่าสักงาม
04 น้องๆ เยาวชนจากโรงเรียนห้องสอนศึกษา จ.แม่ฮ่องสอน และวิทยาลัยนาฏศิลปสุโขทัย จ.สุโขทัย ช่วยกันปลูกต้นไม้อย่างตั้งอกตั้งใจ
05 ช่วยกันคนละไม้ละมือ เดี๋ยวฝายชะลอน้ำก็สำเร็จ
06 น้องวรปัญญ์ ใจปิง (ซ้าย) และน้องคันธรส ยาอุด (ขวา) ช่วยกันเลื่อยไม้เพื่อใช้ในการสร้างฝายชะลอน้ำ
07 จากซ้าย 1.น้องนุชรี ทองคำ 2.น้องน้ำฝน ยศมูล 3. น้องภาณุมาศ ดวงพิชัย จากโรงเรียนวัดถ้ำปลา วิทยาคม จ.เชียงราย ยิ้มระรื่นที่ได้มีส่วนช่วยชาวบ้านสร้างฝายชะลอน้ำ
08 จากซ้าย 1. น้องพงษ์พิทักษ์ จักรใจวงค์ 2. น้องธนิกร สายสร 3. น้องสิทธิชัย ประดิษฐ์วงศ์กูล จาก โรงเรียนเทศบาล 4 (บ้านเชียงราย) จ.ลำปาง ตั้งอกตั้งใจกันทำฝายชะลอน้ำอย่างสุดความสามารถ
09 ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น แล้วฝายชะลอน้ำของพวกเราก็เสร็จสมบูรณ์
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
บริษัท แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์ จำกัด โทร. 0-2434-8300, 0-2434-8547
คุณสุจินดา, คุณแสงนภา, คุณอนุศักดิ์