ซิสโก้ฉลองความสำเร็จ 1 ทศวรรษโครงการ Networking Academy ประกาศย้ำความเป็นผู้นำด้านวิสัยทัศน์การเรียนรู้ ศตวรรษที่ 21 ทั่วโลก พร้อมแนะนำทีมชนะเลิศตัวแทนไทยเข้าร่วมการแข่งขันระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในเดือนพฤศจิกายนนี้

ข่าวเทคโนโลยี Thursday June 26, 2008 10:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--พีซี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง
ซิสโก้ ซีสเต็มส์ ฉลองความสำเร็จ 1 ทศวรรษโครงการ Networking Academy ขับเคลื่อนเศรษฐกิจผลิตบุคลากรที่มีความรู้และทักษะด้านเครือข่ายออกมารองรับการเติบโตของตลาดเน็ตเวิร์ก ประกาศตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านวิสัยทัศน์การเรียนรู้ ศตวรรษที่ 21 ทั่วโลก พร้อมแนะนำทีมผู้ชนะเลิศและทีมผู้เข้ารอบการแข่งขัน National Networking Skills Competitions 2008 พร้อมคณาจารย์ในโครงการ เพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันในระดับภูมิภาคเอเชีย
ดร.ธัชพล โปษยานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า “โครงการ Networking Academy เริ่มต้นมาเกือบ 10 ปีในไทย ซิสโก้มีความภูมิใจถึงความก้าวหน้าของโครงการฯ และผลตอบรับที่ดีจากทั้งสถาบันการศึกษาและผู้เรียนรู้ ด้วยความร่วมมือจากพันธมิตรต่างๆ อาทิ อาจารย์ผู้สอน มหาวิทยาลัย และความสนใจจากผู้เรียน เราหวังว่าโครงการ Networking Academy จะมีการพัฒนาขยายวงกว้างออกไปมากขึ้น ซิสโก้เข้าใจอย่างแท้จริงในการที่อินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตการทำงานและวิธีการเรียนรู้ของผู้คน ซึ่งโครงการฯ นี้ถือได้ว่าเป็นเส้นทางที่มีประสิทธิภาพในการเผยแพร่การเรียนรู้ตลอดเวลา ออนไลน์ที่ครอบคลุมทั้งเนื้อหา, หลักสูตร, การประเมินค่า และการให้คำแนะนำ เพื่อให้การเรียนรู้ของนักเรียนมีการพัฒนา ซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จทางด้านเศรษฐกิจที่ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นพื้นฐานที่สำคัญ”
โครงการ Networking Academy นับเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ซิสโก้ให้ความสำคัญในด้านการลงทุนเพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้ทั่วโลก กระบวนการพัฒนาการเรียนรู้ หรือระบบการศึกษาจะประสบความสำเร็จได้ขึ้นอยู่กับความร่วมมือในหลากหลายระดับ และในหลากหลายรูปแบบ ทั้งในระดับสถาบันการศึกษา, ผู้สนับสนุนและองค์กรที่ไม่หวังผลตอบแทน หรือแม้กระทั่งผู้เรียนหรือผู้สอนเอง ซึ่งโครงการ Networking Academy จะให้ความรู้แก่ผู้เรียนในเรื่องการออกแบบ, การสร้าง และดูแลรักษาระบบเครือข่าย ที่ผสมผสานการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎี (ออนไลน์) และภาคปฏิบัติ ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนได้รับและฝึกทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่มีความเกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการทำงาน รวมถึงการเรียนรู้ในสาขาวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ พร้อมทั้งยังทำให้บริษัทไอทีชั้นนำทั่วโลกเห็นว่า การผ่านประสบการณ์ทางด้านเทคโนโลยีจะมีความสำคัญมากต่อการได้งาน ถึงแม้ว่าผู้ที่เรียนเองไม่ได้สนใจที่จะทำงานด้านไอที แต่ความรู้พื้นฐานทางด้านนี้ จะเป็นที่ต้องการในตลาด ดังนั้นนักเรียนในโครงการ Networking Academy จะได้เปรียบทางการแข่งขันในตลาดสูง โดยปัจจุบันไทยมีสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ 60 แห่ง และมีนักเรียนที่สำเร็จการศึกษา และอยู่ในหลักสูตรกว่า 20,000คน
โครงการ Networking Academy สามารถช่วยภาคอุตสาหกรรมผลิตบุคลากรที่มีทักษะทางด้านเครือข่ายออกมารองรับการเติบโตของตลาดเน็ตเวิร์ก เนื่องจากปัจจุบันทั่วโลกต้องการบุคลากรที่มีความรู้ทักษะทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศได้เป็นอย่างมาก” จากผลสำรวจของไอดีซีใน 12 ประเทศภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ได้แก่ ไทย เวียดนาม เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ จีน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย ฮ่องกง และออสเตรเลีย คาดว่าในปี 2552 จะมีการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะเฉพาะด้านระบบเครือข่ายจำนวน 396,000 คนหรือเทียบเท่า 23% โดยเพิ่มจากปี 2550 ที่ขาดแคลนอยู่กว่า 279,000 คน (21%) สำหรับในประเทศไทย ผลสำรวจดังกล่าวระบุว่าอัตราการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะเฉพาะทางระบบเครือข่ายจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 6,600 คนหรือเทียบเท่า 15 % ใน ปี 2552 เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ที่ขาดแคลนอยู่ 5,300 คน ทั้งนี้ผลสำรวจยังระบุถึงรายละเอียดของทักษะด้านระบบเครือข่ายว่า การขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะความรู้ทางด้านระบบเครือข่ายขั้นสูง ทางด้านระบบเครือข่ายไร้สาย (Wireless) คิดเป็น 25%และขาดแคลนบุคลากรด้านวอยซ์ โอเวอร์ไอพี (VoIP) คิดเป็น 25% บุคลากรที่มีความรู้ทางด้านระบบการรักษาความปลอดภัย (Security) จะขาดแคลนอยู่ที่ 17%
พร้อมกันนี้ ดร.ธัชพล กล่าวเพิ่มเติมว่า หัวใจของการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 คือ ระบบการศึกษาที่ยอดเยี่ยมตั้งอยู่บนพื้นฐานของผู้สอนที่มีพรสวรรค์และมีความสามารถ ผู้นำระบบที่เข้มแข็ง หลักสูตรที่แม่นยำ ชัดเจน และการวัดผลสัมฤทธิ์ที่มีประสิทธิภาพ ทั่วโลกต้องมีการเตรียมความพร้อมนักเรียน/ผู้เรียนทุกคนสำหรับโอกาสในการประกอบอาชีพและช่วยให้นักเรียนทั้งหลายบรรลุความสำเร็จในระดับที่สูงที่สุด ต้องมีการยกระดับมาตรฐานการศึกษา ระบบโรงเรียนทั่วโลกให้สามารถตอบสนองความต้องการของทั้งผู้เรียนและนายจ้างในศตวรรษที่ 21 ได้ ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนา หรือจำนวนคนหนุ่มสาวที่หันมานิยมใช้เทคโนโลยีเครือข่ายทางสังคมเพิ่มขึ้นเพื่อการเชื่อมต่อ, การร่วมมือระหว่างกัน, การเรียนรู้ และการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ในขณะเดียวกันผู้จ้างงานได้เริ่มที่จะค้นหาทักษะใหม่ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในตลาด ในขณะที่ระบบการศึกษามีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก โรงเรียนยังคงไม่สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ วิธีการและรูปแบบการสอนเพื่อให้สะท้อนและตอบสนองสถานการณ์และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบัน
ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงของการเรียนรู้ในศตวรรษะที่ 21 จำเป็นต้องมีการยกร่างทั้งระบบการศึกษา แนวทางดังกล่าวจะได้รับการชี้แนะด้วยแผนที่เดินทางด้านหลักสูตรและการเปลี่ยนแปลงระบบการวัดผลที่ชัดเจน ดังนั้นการคัดเลือกผู้สอนใหม่ๆ และกลยุทธ์ในการฝึกอบรม การพัฒนาความเป็นผู้นำ และการบูรณาการผลประโยชน์ร่วมกันด้านเทคโนโลยี สิ่งเหล่านี้จะได้รับการถ่ายทอดโดยผู้สอนชั้นยอด และการแลกเปลี่ยนเนื้อหาวิชาในระหว่างนักเรียนที่จะทำในรูปแบบของโครงการต่างๆ, โครงงานที่มอบหมายให้ทำร่วมกันระหว่างห้อง ที่เอื้อและสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมและการร่วมมือข้ามวัฒนธรรม และประยุกต์ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ของเหล่านักเรียน เพื่อสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง ถึงแม้ว่าวิสัยทัศน์ดังกล่าวจะเป็นระดับโลก หนทางไปสู่การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ต้องการการสื่อสารระดับท้องถิ่น ต้องการผู้ซึ่งตระหนักรู้และตอบสนองต่อความท้าทายและโอกาสอันเฉพาะนี้ ดังนั้นเป้าหมายสุดท้ายคือการพัฒนาระบบการศึกษาทั้งด้านคุณภาพและการเข้าถึงการศึกษาของประเทศทั่วโลก”
สำหรับทีมนักศึกษาที่ชนะเลิศการแข่งขัน National Networking Skills Competition 2008 ได้แก่
- นายสานิต กาญจนอุทัย (โอ๋) สำเร็จการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปีการศึกษา 2550 ปัจจุบันทำงานอยู่ที่บริษัท โตโยต้า ทูโช อีเล็กทรอนิกส์ ไทยแลนด์ จำกัด
- นางสาวชยาภรณ์ แก้วพรหมมาลย์ (มิน) สำเร็จการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปีการศึกษา 2550 ปัจจุบันทำงานอยู่ที่บริษัท เดอะ คอมมิวนิเคชั่น โซลูชั่น จำกัด (มหาชน)
- นายธนุวัตร คุ้มไข่น้ำ (ป๊อบ) กำลังศึกษาอยู่ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ปัจจุบันทำงานอยู่ที่บริษัท แคดเดสท์ จำกัด ที่จังหวัดระยอง
โดยทีมนี้จะเป็นตัวแทนนักศึกษาโครงการ Networking Academy จากประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันเอเชีย AsiaPacific Academy - NetRiders (Remote Skills Competition) จัดขึ้นในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2551 นี้ ร่วมกับตัวแทนนักศึกษาของโครงการในระดับภูมิภาคเอเชียเป็นการแข่งขันแบบออนไลน์ โดยนักศึกษาที่เข้าแข่งขันจะทำการออนไลน์จากสำนักงานของซิสโก้ประเทศต่างๆ 22 ประเทศเพื่อทำการแข่งขัน ทั้งภาคทฤษฎีและการแก้ไขปัญหากรณีต่างๆ เป็นต้น และในปีนี้นักศึกษาที่เข้าร่วมการแข่งขันรอบสุดท้ายจะได้เกียรติเป็น Cisco Ambassador ทำหน้าที่เผยแพร่และนำความรู้ที่เรียนมาในโครงการ Cisco Networking Academy ออกไปพัฒนาและทำประโยชน์ให้กับสังคม เพื่อแบ่งปันความรู้และลดช่องว่างการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศไทย
เกี่ยวกับซิสโก้ ซีสเต็มส์
บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทผู้นำทางด้านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตระดับโลก รวมถึงเทคโนโลยีที่ทำให้มีการถ่ายโอนการเชื่อมโยง ติต่อสื่อสาร และร่วมมือกันระหว่างบุคคล โซลูชั่น ข้อมูลและข่าวสารความเคลื่อนไหวของบริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ อิงค์ สามารถหาอ่านได้จาก http://www.cisco.com และข้อมูลความเคลื่อนไหวของสาขาในประเทศไทย สามารถอ่านได้ที่ http://www.cisco.co.th
เกี่ยวกับ เน็ตเวิร์คกิ้งอะคาเดมี
โครงการ Networking Academy เปิดตัวเมื่อเดือนตุลาคม 2540 โดยเริ่มจากสถานศึกษา 64 แห่งใน 7 รัฐเข้าร่วมโครงการนี้ และปัจจุบันโครงการได้ขยายขอบเขตครอบคลุมกว่า 150 ประเทศ นับตั้งแต่ที่เริ่มโครงการ มีผู้เรียนกว่า 1.6 ล้านคนสมัครเข้าเรียนในสถาบันที่เปิดสอนหลักสูตรดังกล่าวหรือที่เรียกว่า Academy กว่า 10,000 แห่ง โดยสถาบัน Academy เหล่านี้ตั้งอยู่ตามโรงเรียนมัธยม โรงเรียนอาชีวะศึกษา วิทยาลัย มหาวิทยาลัย และองค์กรต่างๆ ในชุมชน
สำหรับในประเทศไทย เริ่มนำโครงการนี้มาสู่สถาบันการศึกษาไทยตั้งแต่ปี 2542 ปัจจุบันมีสถาบันที่เข้าร่วมโครงการ 60 แห่งทั่วประเทศ ทั้งสถาบันการศึกษาของภาครัฐ และเอกชน สถาบันการศึกษาที่รับผิดชอบบทบาท ครูผู้สอนiระดับภูมิภาค (Regional Academy) มี 3 แห่ง สำหรับหลักสูตร CCNA ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สำหรับหลักสูตร Fundamentals of Network Security, หลักสูตร Fundamentals of Wireless LANs และหลักสูตร IT Essentials ครูผู้สอนระดับภูมิภาค (RA) ของ 3 หลักสูตรนี้ คือ มหาวิทยาลัยรังสิต
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
อุษณีย์ เอื้ออริยะทรัพย์
บริษัท พีซี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง จำกัด
โทร: 0 2971 3711
โทรสาร: 0 2521 9030
อีเมล์:
สุจิตรา โกวิทวณิชกานนท์
บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด
โทร: 0 2263 7055 (สายตรง)
โทรสาร: 0 2253 8440
อีเมล์: skovitwa@cisco.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ