กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--ปภ.
ปภ. เตือนประชาชน ๗ จังหวัดภาคใต้ระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนักในระยะนี้ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล และยะลา ให้ระมัดระวังอันตรายจากภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในระยะ ๑ — ๒ วันนี้ (วันที่ ๒๕ — ๒๖ มิถุนายน) พร้อมประสานกำชับ ๗ จังหวัดให้แจ้งเตือนประชาชนและจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ตลอด ๒๔ ชั่วโมง รวมทั้งจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือให้พร้อมใช้งานทันทีที่เกิดภัยพิบัติในพื้นที่ นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอตุนิยมวิทยาในระยะนี้ พบว่า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังพัดแรงพัดปกคุลมทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทย ทำให้พื้นที่ภาคใต้มีฝนตกชุกหนาแน่นกับมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอเตือนประชาชนที่อาศัย ในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณที่ราบลุ่มเชิงเขาและที่ลุ่มริมแม่น้ำในจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล และยะลา ให้ระมัดระวังอันตรายจากภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในระยะ ๑ — ๒ วันนี้ ( วันที่ ๒๕ — ๒๖ มิถุนายน ) ส่วนคลื่นลมในทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีความสูง ๒ — ๓ เมตร ขอให้ชาวเรือระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือและ เรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับกับอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงฝนตกหนัก ปภ. ได้แจ้งเตือน ไปยัง ๗ จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ให้เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม พร้อมกำชับให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ๑๑ สุราษฎร์ธานี เขต ๑๒ สงขลา และเขต ๑๘ ภูเก็ต รวมทั้ง สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ในพื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบ แจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในระยะนี้ จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ตลอด ๒๔ ชั่วโมง รวมทั้งจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์และเครื่องมือด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ทันทีที่ได้รับการประสานแจ้งเหตุ เพื่อให้สามารถอพยพประชาชนไปยังพื้นที่ปลอดภัย และช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันทีที่เกิดภัยพิบัติในพื้นที่ นายอนุชา กล่าวต่อไปว่า เพื่อความปลอดภัย ขอให้ประชาชนที่อาศัยในบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว ติดตามรับฟัง ข่าวการพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด จัดเตรียมอาหารแห้ง เครื่องเวชภัณฑ์ ตะเกียง ไฟฉาย และวิทยุ ไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน จัดเตรียมกระสอบทราย เพื่อจัดวางเป็นแนวกั้นน้ำ ขนย้ายทรัพย์สินและสิ่งของที่มีค่า และอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดไว้บนที่สูง เพื่อป้องกันการเกิดไฟฟ้ารั่ว ไฟฟ้าซ็อต รวมทั้งจัดเวรยามเฝ้าระวังปริมาณน้ำฝน สังเกตสิ่งบอกเหตุและสัญญาณการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่บ่งชี้ว่า จะเกิดภัยพิบัติ เช่น การส่งเสียงร้องของสัตว์ป่า เสียงดังโครมครามจากต้นน้ำ ลำห้วย สีของน้ำในลำธาร เปลี่ยนเป็นสีเดียวกับสีดินของภูเขาให้เตรียมการอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัยหรือขึ้นที่สูงในทันที สุดท้ายนี้หากประชาชนในพื้นที่ใด ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่มสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่สำนักงานงานป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตหรือทางสายด่วนสาธารณภัย ๑๗๘๔ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง