กทม. นัดผู้รับเหมา500 คนแจงข้อปฏิบัติควบคุมฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง

ข่าวทั่วไป Thursday June 26, 2008 13:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--กทม.
กทม. จัดประชุมผู้ประกอบการ หน่วยงานสาธารณูปโภค หารือแนวทางควบคุมฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง หลังพบถนน 5 สายฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน พร้อมกำหนดข้อปฏิบัติเบื้องต้น 12 ประการร่วมลดมลพิษ หยุดเพิ่มความร้อนใส่กรุงเทพฯ และก้าวเป็นเมืองสิ่งแวดล้อมดีขึ้นอีกระดับ โดยปลายปี 51 เตรียมเวิร์คช้อปนานาชาติถกปัญหามลพิษทางอากาศในเขตเมือง เพื่อให้เกิดความร่วมมือแก้ไขและสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืน
รศ.ดร.บรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อหารือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากการก่อสร้าง ซึ่งสำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักการโยธา กทม. ร่วมกันจัดขึ้นโดยเชิญผู้ประกอบการก่อสร้าง ภาคเอกชน หน่วยงานสาธารณูปโภค และสำนักงานเขต รวมจำนวน 500 คน ร่วมหารือถึง “แนวทางการควบคุมฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง” เพื่อควบคุมมลพิษ และลดปัญหาฝุ่นละออง ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ เขตวัฒนา พร้อมลงพื้นที่ตรวจอาคารก่อสร้างของบริษัท แอล แอนด์ เอช พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ซ.สุขุมวิท 19 เขตคลองเตย
รองผู้ว่าฯ บรรณโศภิษฐ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมลพิษทางอากาศในเขตกรุงเทพมหานคพบว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ยกเว้นปัญหาจากฝุ่นละออง เนื่องจากการตรวจวัดฝุ่นละอองริมถนนในเขตกรุงเทพมหานคร 60 จุด พบถนนที่มีฝุ่นละอองเกินมาตรฐานมากที่สุด 5 ลำดับ ได้แก่ ถ.ประชาชื่น เขตบางซื่อ ถ.บางนา-ตราด เขตบางนา ถ.เกษตรนวมินทร์ เขตบึงกุ่ม ถ.พระรามที่ 4 เขตคลองเตย และ ถ.สุขุมวิท เขตวัฒนา ดังนั้นจำเป็นยิ่งที่จะต้องเร่งกำหนดแนวทางและวิธีการที่จะใช้เพื่อลดปัญหาฝุ่นละออง โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า100 ไมครอน หรือ PM10 ที่เกิดจากการก่อสร้างและฝุ่นควัน เนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจและการเติบโตของเมืองในปัจจุบันส่งผลให้กิจกรรมการก่อสร้างในกรุงเทพมหานครมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2550 มีสถานที่ก่อสร้างในเขตกรุงเทพมหานครถึง 11,000 แห่ง ซึ่งหากไม่มีการควบคุมและจัดการที่ดีจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศในกรุงเทพฯ และสุขภาพของประชาชนโดยตรง โดยกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบได้ง่าย ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคปอด ไข้หวัดใหญ่ และโรคหืด เป็นต้น
สำหรับข้อปฏิบัติเบื้องต้นสำหรับผู้ประกอบการก่อสร้างในการลดมลพิษทางอากาศจากการก่อสร้าง ประกอบด้วย 1. กำหนดขอบเขตก่อสร้างอย่างชัดเจน 2. จัดทำรั้วทึบรอบบริเวณการก่อสร้างมีความสูงจากพื้นดินไม่น้อยกว่า 2 เมตร 3. หากมีการเปิดหน้าผิวดิน ให้ทำเป็นช่วงๆ เท่าที่จำเป็น และมีมาตรการควบคุมฝุ่นจากการดำเนินงาน เช่น การฉีดน้ำป้องกันฝุ่นฟุ้งกระจาย และต้องไม่ให้น้ำที่ฉีดไหลออกนอกบริเวณที่ก่อสร้างลงสู่ผิวถนน 4. จัดทำผ้าใบทึบแสงหรือโปร่งแสงปกคลุมตัวอาคารจนกว่าการดำเนินงานจะแล้วเสร็จ 5.บริเวณปากทางเข้าออกจะต้องทึบตลอดเวลา และเปิดเฉพาะมีรถเข้าออก 6.ฉีดน้ำ หรือปิดคลุมกองวัสดุให้มิดชิดป้องกันฝุ่นฟุ้งกระจาย 7.ทำความสะอาดเศษหิน โคลน ทรายที่ตกหล่นนอกรั้วโครงการทุกวัน 8.หากพื้นที่โครงการไม่ได้ใช้งานก่อสร้างเป็นเวลา 6 เดือนหรือมากกว่าควรดำเนินการปลูกหญ้า หรือฉีดทับด้วยสารเคมีที่ช่วยลดการกระจายของฝุ่น 9.จัดให้มีที่ลำเลียงสำหรับการทิ้งขยะและเศษวัสดุที่เกิดจากการทำงาน 10.ล้างทำความสะอาดตัวรถและล้อรถทุกชนิดก่อนออกนอกโครงการ 11.ล้างทำความสะอาดชั้นต่างๆ ในอาคารที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 12.หากมีโรงคอนกรีตผสมเสร็จตั้งอยู่ในพื้นที่ก่อสร้าง ให้เพิ่มเติมมาตรการควบคุมฝุ่นละอองตามเงื่อนไขและข้อกำหนดตามประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรมด้วย ทั้งนี้กรุงเทพมหานครจะจัดเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบการก่อสร้างในพื้นที่อย่างเข้มงวดต่อไป
รองผู้ว่าฯ บรรณโศภิษฐ์ กล่าวในตอนท้ายว่า การจัดการปัญหามลพิษและเพิ่มประสิทธิภาพคุณภาพอากาศที่ดี เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะหยุดเพิ่มความร้อนใส่กรุงเทพฯ และทำให้กรุงเทพมหานครสามารถยกระดับเป็นเมืองสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น โดยในปลายปี 2551 กรุงเทพมหานครยังจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ หรือ Better Air Quality Workshop 2008 (BAQ) เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ