DSI เร่งปราบ "รุกที่รัฐและป่าไม้" ทวงคืนสมบัติชาติ

ข่าวทั่วไป Thursday June 26, 2008 16:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 มิ.ย.--กระทรวงยุติธรรม
ภายหลังคณะกรรมการคดีพิเศษ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้นำปัญหาการบุกรุกที่รัฐและการทำลายทรัพยากรธรรมชาติขึ้นเป็นคดีพิเศษ โดยมอบหมายให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เป็นเจ้าภาพบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางการดำเนินการคดีที่เกี่ยวข้องกับการรุกที่รัฐและป่าไม้ ในฐานะคณะอนุกรรมการฯ จึงได้จัดให้มีการสัมมนาโครงการเพิ่มประสิทธิภาพในการปราบปรามการบุกรุกที่ดินของรัฐและการทำลายทรัพยากรป่าไม้ โดยเชิญเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานเกี่ยวข้อง อาทิ กรมป่าไม้ กรมอุทยาน กรมทรัยากรป่าไม้ ฯลฯ กว่า 500 คนเข้าร่วม
ทั้งนี้ในการอภิปรายเรื่อง ยุทธศาตร์การปราบปรามการบุกรุกที่ดินของรัฐและการทำลายทรัพยากรป่าไม้ มีการนำเสนอให้เห็นภาพรวมของปัญหาจากการทำงานของตำรวจและหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีปัญหาซับซ้อนโดยเฉพาะในกรณีที่มีกลุ่มอิทธิพล ผู้เสียผลประโยชน์อยู่เบื้องหลัง ซึ่งจะทำการขัดขวางการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ทุกวิถีทางและมีความรุนแรงของปัญหาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
พลตำรวจเอก วงกต มณีรินทร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ภาพรวมของปัญหาการบุกรุกทำลายป่ามีเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกันอีก 3 เรื่องคือ การลักลอบเก็บของป่า ค้าสัตว์ป่า ลักลอบค้าพันธุ์พืช และอีกประเด็นหนึ่งที่เป็นประเด็นที่นำไปสู่การบุกรุกที่สาธารณะคือ การทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างอื่น เช่น การระเบิดหิน ขุดดิน ขุดบ่อทราย แนวทางการดำเนินคดีต้องใช้ศาสตร์หลายศาสตร์และอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน
ในการทำงานของตำรวจขณะนี้มีการขึ้นบัญชีผู้ที่เป็นเครือข่ายใหญ่ในการบุกรุกที่ดิน ระดับกองบัญชาการ 38 ราย ระดับกองบังคับการกว่า 188 ราย และระดับสถานีตำรวจซึ่งอยู่ระหว่างรอแปลงเข้าสู่กระบวนการสืบสวนเพื่อนำผู้กระทำความผิดไปสู่ศาลอีก 3,000 กว่าราย นอกจากนี้ยังมีการสำรวจพื้นที่ที่มีแนวโน้มถูกบุกรุกอีกประมาณ 1,376 แห่ง แหล่งดูดทราย 600 แห่ง แหล่งขุดดินลูกรังกว่า 300 ราย
ในแต่ละเดือนมีผลการจับกุมเฉพาะเรื่องการบุกรุกที่ป่า 200-300 ราย ซึ่งนับว่าอยู่ในระดับรุนแรง ส่วนด้านการตัดไม้มีประมาณ 300 ราย และบางช่วงที่มีการปราบปรามอย่างหนักมีการจับกุมได้ถึง 500 รายต่อเดือน ส่วนการค้าสัตว์ป่ายังมีไม่มาก โดยมีขบวนการใหญ่อยู่ในประเทศลาว ส่วนมากผู้กระทำความผิดจะรวบรวมสัตว์จากพื้นที่ทางใต้ของไทย ทั้งอินโดนีเซีย และไทย เข้าสู่ประเทศลาว เข้าสู่ประเทศจีน ส่วนการระเบิดหินและลักลอบดูดรายจับกุมได้มากกว่า 30 รายต่อเดือน
ทั้งนี้ รอง ผบ.ตร. ได้ยกตัวอย่างกรณีของไม้พะยูงที่มีการจับระหว่างพ.ศ. 2548-2550 มีการจับกุมจากกองบัญชาการต่างๆ รวม 250 คดี ได้ผู้ต้องหา 300 กว่าคน มีไม้พะยูงของกลางประมาณ 30,000 ท่อน ส่วนพื้นที่ที่มีการลักลอบมากที่สุดทางภาคอีสานเหนือ และเป็นที่น่าสังเกตว่าในจำนวนคดีที่จับกุมนั้น ในชั้นพนักงานสอบสวนคดียังสอบสวนไม่เสร็จ 82 คดี งดการสอบสวน 50 คดี ทั้งที่จับได้ในขณะกำลังขนไม้ ส่งสำนวนสั่งฟ้อง 76 คดี ตำรวจสั่งไม่ฟ้อง 43 คดี ในจำนวน 76 คดี อัยการสั่งฟ้อง 16 คดี
นอกจากนี้ยังมีการตามไปจับกุมและยึดของกลางได้ที่ด่านศุลกากรกรุงเทพฯ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา แหลมฉบัง สำโรงใต้ขณะนี้กำลังลงไปแถวภาคใต้ จับได้อีก 154 ราย จำนวนไม้ของกลางกว่า 100,000 ท่อน มีการติดตามคดีขอให้ส่งพนักงานสอบสวนแล้ว 108 คดี ซึ่งในจำนวนนี้ตำรวจพบมีตัวการใหญ่อยู่ 6 รายซึ่งจะประสานกับกรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการขยายผลต่อไป
ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวถึงแนวทางในการทำงานเรื่องนี้ว่า จากที่พล.ต.อ. วงกต กล่าวถึงเรื่องไม้พะยูงไปถึงศาลเพียง 16 คดีจากการจับกุมได้ 250 คดีนั้นเป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก ตนคิดว่ามิติใหม่ในการแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะการกระทำผิดเรื่องการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เป็นปัญหาที่ไทยเราเสียอธิปไตย อย่างที่ดินที่ภูเก็ต บนยอดเขาสมุย หรือที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แม้ว่าดินแดนจะเป็นของรัฐ แต่จะเห็นว่า บ้าน รีสอร์ทเป็นของต่างชาติเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะมีคนไทยยอมขายตัวเป็นนอมินีของต่างชาติ
"ปัจจัยความสำเร็จในการแก้ไขปัญหานี้น่าจะมีตำรวจในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายมาร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด โดยเฉพาะกรมที่ดิน กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ต้องเข้ามาร่วมกันกับผู้ดูแลพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นทหาร ราชพัสดุ ต้องมาช่วยกัน" พ.ต.อ.ทวี กล่าว
อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาการทำดำเนินคดีกับตัวการใหญ่ผู้อยู่เบื้องหลังการรุกที่ดินรัฐและป่าไม้ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ต้องเอากฎหมายคดีพิเศษซึ่งมีช่องทางที่พิเศษมากเข้ามาจับ โดยอาจจะต้องร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ ทั้งกรมสรรพากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องภาษี หรืออัยการที่มีประสบการณ์ตรงเห็นช่วงโหวของกฎหมาย กระทรวงพาณิชที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการเข้ามาทำธุรกิจของคนต่างชาติ เข้ามาให้ความเห็นในการวางรูปคดีก่อนทำสำนวนส่งศาลของกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อให้คดีไปถึงชั้นศาลและนำคนที่อยู่เบื้องหลังจริงๆ มาเอาผิดให้ได้ ปัจจุบันเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการบุกรุกที่ดินมีอยู่มากมาย การสอบสวนร่วมกันจะเป็นเครื่องมือสำคัญ และมีกรณีที่ว่าทำไมคนไทยเพียงคนเดียวแต่ไปถือครองบริษัทให้ต่างชาติถึงกว่า 600 คน ในเร็วๆ นี้กรมสอบสวนคดีพิเศษอาจจะต้องทำเรื่องใหญ่ของประเทศ แม้อาจถูกมองในแง่ร้ายแต่ก็เป็นเรื่องจำเป็น
อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวอีกว่า ปัญหาการบุกรุกที่รัฐและป่าไม้ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานหลายรัฐบาล แต่ที่ผ่านมายังไม่มีหน่วยงานใดสามารถแก้ไขปัญหาได้โดยลำพัง ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกันการวางยุทธศาตร์ที่ดี โดยมีกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นเจ้าภาพ ต้องทำให้ประชาชนทั้งประเทศเห็นตรงกันเช่นเดียวกับเราทุกหน่วยงานว่า การบุกรุกที่ดินป่าไม้เป็นปัญหาของส่วนรวม เป็นเรื่องความมั่นคงของชาติ การทำเรื่องปัญหาบุกรุก เป็นการทวงเอาสมบัติของส่วนรวมคืน ดีเอสไอจะต้องทำเรื่องใหญ่ที่สำคัญๆ และไปให้ถึงผู้ที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งที่ผ่านมามักมีปัญหาในข้อพิสูจน์ทางกฎหมายยังสาวไปไม่ถึง ดังนั้นการทำคดีอาจจะต้องใช้บุคลากรเชี่ยวชาญเป็นพิเศษเรื่องที่ดิน และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องไม่จำเป็นต้องเป็นพนักงานสอบสวนเท่านั้น
ด้านนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ รองอัยการสูงสุด กล่าวว่า สิ่งสำคัญต้องให้ความรู้ประชาชน ให้เห็นถึงข้อเสียของการบุกรุกที่ดิน ให้เข้าใจไว้ก่อนว่าเมื่อบุกรุกไปแล้วไม่ใช่สิทธิการครอบครอง ที่จะเอาไปขายได้ เขาต้องรู้ว่าที่ดินตรงไหนซื้อขายได้ หรือไม่ได้ เพราะบางครั้งแม้มีโฉนดที่ดินบางทีอาจถูกเพิกถอนได้ ถ้าต้นเรื่องของการไปออกโฉนดนั้นเป็นโฉนดที่บวมไปเรื่อย ๆ อย่างเช่น ที่แปลงหนึ่งเดิมแจ้งครอบครอง 7 ไร่ พอมาออกโฉนดแบบที่ชาวบ้านเรียก นส.3 ก. กลายเป็น 70 ไร่ ต่อมาเพิ่มเป็น 80 ไร่ ทำให้มูลค่าที่จากไม่กี่ล้านก็กลายเป็นหลายร้อยล้านบาท เป็นต้น การทำคดีเกี่ยวกับการบุกรุกนั้นมีกฎหมายหลายฉบับเจ้าหน้าที่จึงต้องศึกษากฎหมายให้แม่น อีกทั้งการใช้ภาพถ่ายทางอากาศที่มีการถ่ายไว้ทุกปีก็จะช่วยในทางคดีได้มาก
รองอัยการสูงสุด ยกตัวอย่างเรื่องหนึ่งที่เกาะสมุย ซึ่งการรับฟังพยานในศาลชั้นต้นมีปัญหามาก เพราะพยานไม่ยอมมาเบิกความ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้การไม่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดี เนื่องจากคดีเหล่านี้มีผู้นำท้องถิ่นบางส่วน หรือผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นและในต่างประเทศเข้าไปเกี่ยวข้อง และย้ำว่าควรให้เรื่องการพิสูจน์สิทธิตกอยู่กับฝ่ายจำเลยจะดีมาก แต่ในกรณีที่ดินสาธารณะกรมที่ดินต้องดูแลรับลูกในเรื่องนี้ เจ้าหน้าที่ระดับใดมีอำนาจในการออกโฉนดได้บ้าง และควรมีผู้เชี่ยวชาญให้มากกว่านี้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
งานเผยแพร่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ
กระทรวงยุติธรรม โทร.0-22701350-4 ต่อ 113

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ