ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารไทยพาณิชย์ แนวโน้มมีเสถียรภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 27, 2008 10:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ดังต่อไปนี้
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Foreign Currency Issuer Default Rating (“IDR”)) ที่ระดับ ‘BBB+’
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ระดับ ‘F2’
- อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ระดับ ‘C’
- อันดับเครดิตสนับสนุนที่ระดับ ‘2’
- อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor) ที่ระดับ ‘BBB-’ (BBB ลบ)
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันที่ระดับ ‘BBB+’
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ระดับ ‘BBB’
- อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวที่ระดับ ‘AA(tha)’
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ ‘F1+(tha)’
- อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันระยะสั้นที่ระดับ ‘F1+(tha)’ และ
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ระดับ ‘AA-(tha)’ (AA ลบ (tha))
แนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารคงเดิมที่มีเสถียรภาพ
อันดับเครดิตของ SCB สะท้อนถึงการฟื้นตัวที่ต่อเนื่องของผลกำไรจากการดำเนินงานและความสามารถในการทำกำไร เนื่องจากคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้นและการขยายตัวของสินเชื่อ ระดับค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญและสถานะของเงินกองทุนของธนาคารยังคงแข็งแกร่ง SCB เป็นหนึ่งในธนาคารที่มีเครือข่ายการให้บริการภาคบุคคลที่แข็งแกร่งที่สุดในประเทศไทย โดยมีสัดส่วนสินเชื่อเพื่อการอยู่อาศัยที่ 24% และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ 9% ของสินเชื่อรวม อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงความเป็นไปได้อย่างสูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลหากต้องการความช่วยเหลือเนื่องจากความสำคัญของธนาคารที่มีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของ SCB ขณะนี้ถูกจำกัดโดยอันดับเครดิตของประเทศไทย ฟิทช์มองว่าหากธนาคารสามารถลดระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และหนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่องและมีนัยสำคัญ รวมถึงสามารถเพิ่มความสามารถในการทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิตของธนาคารในอนาคต
ในปี 2550 ผลกำไรสุทธิของ SCB เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 17.5 พันล้านบาท จาก 13.6 พันล้านบาทในปี 2549 เนื่องจากสินเชื่อมีการขยายตัวที่สูงถึง 16% ในขณะที่หนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญลดลง ผลกำไรสุทธิที่แข็งแกร่งอย่างมากในไตรมาสแรกปี 2551 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกำไรจากการขายเงินลงทุน โดยภาพรวมผลการดำเนินงานในปี 2551 น่าจะยังคงแข็งแกร่ง ถึงแม้ว่าธนาคารจะต้องเผชิญกับสภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแอซึ่งอาจทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น การเติบโตของสินเชื่อลดลงอยู่ในระดับปานกลาง และการกลับมาของปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ โดยเฉพาะการขยายตัวของสินเชื่ออย่างเร็วของ SCB ในภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในปี 2550 (เพิ่มประมาณ 40% จากปีก่อน) อาจทำให้หนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นได้
ระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ SCB ลดลงอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ 49.7 พันล้านบาท หรือ 5.8% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2551 จาก 54.4 พันล้านบาท หรือ 6.3% ณ สิ้นปี 2550 สาเหตุหลักเนื่องจากการขายหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จำนวน 8 พันล้านบาท ธนาคารตั้งเป้าที่จะลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ให้ต่ำกว่า 5% ของสินเชื่อรวมภายในสิ้นปี 2551 ระดับค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของธนาคารอยู่ที่ประมาณ 80% ของหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และเงินกองทุนขั้นที่ 1 อยู่ที่ประมาณ 11% ซึ่งเป็นระดับที่แข็งแกร่ง การปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ Basel II น่าจะส่งผลกระทบต่ออัตราส่วนเงินกองทุนประมาณ 1.5% ภายในสิ้นปี
ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งก่อตั้งโดยพระบรมราชานุญาต ในปี 2447 เป็นธนาคารที่เก่าแก่ที่สุดและใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศไทยโดยมีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 14% SCB มีบริษัทในเครือชั้นนำในการดำเนินงานด้านวาณิชธนกิจ การบริหารกองทุนและธุรกิจประกัน สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และกระทรวงการคลังต่างมีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ประมาณ 24%
ติดต่อ
ดรุณี เพียรมานะกิจ, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4752/4759
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฎข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ