ผู้ว่าฯอภิรักษ์เปิดเวที ASEAN +6 ขยายแนวร่วมแก้ภาวะโลกร้อน

ข่าวทั่วไป Friday June 27, 2008 11:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--กทม.
เปิดประชุม Asean +6 คณะผู้นำนานาชาติร่วมถกปัญหาโลกร้อนจากสภาพอากาศเปลี่ยน พร้อมหารือแนวทางแก้ไข หลังประกาศปฏิญญาร่วมกัน หวังสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อรับมือผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างจริงจังและยั่งยืน
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนและสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง “ASEAN+6 City Forum on Climate Change Bangkok 2008” ณ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี โดยมีผู้นำเมืองในภูมิภาคเอเซียน อาทิ เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ จีน ลาว กัมพูชา มาเลเซีย ญี่ปุ่น (ฟูกูโอกะ) อินโดนีเซีย อินเดีย พร้อมด้วยองค์การ UNEP, UNDP , UNESCAP , Holcim Foundation รวมถึงผู้แทนที่รับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เข้าร่วมการประชุม
การประชุมสุดยอดผู้นำเมืองด้านสิ่งแวดล้อมในครั้งนี้จะเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือและหาแนวทางในการลดภาวะโลกร้อนระดับภูมิภาค เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการดำเนินงาน ซึ่งจะผลักดันให้เกิดความร่วมมืออย่างจริงจังและยั่งยืนในการจัดการกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศในระดับอาเซียน อีกทั้งยังเป็นการแสดงออกถึงความตั้งใจจริงในความร่วมมือของประเทศกลุ่มอาเซียนเพื่อแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนร่วมกัน และเป็นแนวทางในการนำกรุงเทพมหานครไปสู่เมืองหลวงด้านสิ่งแวดล้อมในระดับสากลต่อไป
นายอภิรักษ์ กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้ทำงานหนักเพื่อหาแนวร่วมในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนมาเป็นเวลา 14 เดือน โดยจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อดึงความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน องค์กรต่างๆ เพื่อช่วยกันลดปัญหาภาวะโลกร้อน ถึงวันนี้เป็นที่น่าพอใจ ที่ได้เห็นชาวกรุงเทพฯ มีความตื่นตัวกันมากขึ้น หลายคนหันมาใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก และเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประหยัดไฟฟ้า และแยกขยะ อย่างไรก็ดีสิ่งที่กรุงเทพมหานครจะดำเนินการต่อไปคือ การส่งเสริมให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล หันมาใช้ รถสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า รถโดยสารด่วนพิเศษ หรือใช้รถจักรยาน ลดการเดินทางโดยใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร รวมทั้งใช้พลังงานทดแทนอื่นๆ เช่นเดียวกับประเทศที่ประสบความสำเร็จในการใช้พลังงานทางเลือกซึ่งมีราคาถูก และมีคนใช้จำนวนมาก ซึ่งประเทศไทยจะต้องมีการผลักดันในระดับรัฐบาลต่อไป สำหรับภารกิจที่กรุงเทพมหานครกำลังเร่งดำเนินการคือ โครงการจักรยานชุมชน โดยจะร่วมมือกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ในการกำหนดเส้นทางจักรยานเมืองนำร่องในย่านธุรกิจ สีลม - สาทร ให้เป็นเส้นทางที่ปลอดภัย มีจุดจอดให้สามารถต่อรถไฟฟ้า หรือรถโดยสารด่วนพิเศษบีอาร์ทีได้สะดวก และสำรวจพื้นที่ทั้ง 50 เขตเพื่อหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการทำโครงการจักรยานชุมชนเพิ่มเติม
นอกจากนี้กรุงเทพมหานครได้เปิดตัววาระกรุงเทพสีเขียว Bangkok Green Agenda 2008 เพื่อเป็นแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ด้วยความร่วมมือจากภาคีต่างๆ และประชาชนกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้เฉพาะในกรุงเทพมหานครซึ่งมีประชากรอาศัยประมาณ 10-12 ล้านคนมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 40-50 ล้านตันต่อปี คิดเป็น 0.6% ของปริมาณก๊าซที่ปล่อยทั้งประเทศ ส่วนใหญ่มาจากภาคการคมนาคมถึง 80% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับเมืองใหญ่ทั่วโลก และส่งผลกระทบในวงกว้าง เช่น อุณหภูมิสูงขึ้น เกิดภัยน้ำท่วม พื้นที่บางส่วนที่ติดทะเลหายไป เกิดโรคระบาดรุนแรงมากขึ้น
รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิดการสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม หรือ Green Generation เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการสร้างอนาคตของประเทศ โดยมีสถาบันพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานคร (Urban Green Development Institue) เป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดองค์ความรู้ ทั้งในระดับเมือง ภูมิภาค และระดับนานาประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการสัมมนาถ่ายทอดความรู้ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและขยายเครือข่ายความร่วมมือในการสร้างโลกเย็นให้แก่ผู้นำเทศบาลนครทั่วประเทศ
Session 1 “วิสัยทัศน์การพัฒนาเมืองภูมิภาคอาเซียนในอนาคต”
Mr.Hiroshi Nishimiya รองผู้อำนวยการส่วนภูมิภาค UNEP กล่าวว่า ประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลกอาศัยอยู่ในเขตเมือง โดยเฉพาะเมืองใหญ่ ซึ่งคาดว่ามีประมาณ 5 พันล้านคน และส่วนใหญ่อยู่ในเขตเมืองยากจน ไม่มีความมั่นคงในที่ดิน ไม่มีน้ำที่สะอาด ไม่มีที่อยู่อาศัย ส่งผลถึงปัญหาต่างๆ เช่น อาชญากรรม สุขอนามัย ประกอบกับในปัจจุบันราคาอาหารและพลังงานสูงขึ้นทำให้เกิดความตึงเครียดในเมือง จากการที่มีประชากรหนาแน่นในเขตเมืองจึงเป็นสาเหตุของการเกิดสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาจำนวนมาก อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น เกิดภัยพิบัติต่างๆ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ โรคร้ายต่างๆ มีมากขึ้น เมืองที่อยู่ใกล้ทะเลได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเนื่องจากน้ำทะเลสูงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข
สำหรับแนวทางที่เสนอแนะ คือ แต่ละเมืองต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการกับทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งการจัดการขยะ ของเสีย การออกแบบอาคาร การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการเมือง และที่สำคัญคือการเน้นใช้ระบบขนส่งมวลชน เนื่องจากเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน นอกจากนั้นยังต้องดึงภาคการตลาด ธุรกิจ เข้ามามีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องหาแนวทางร่วมกันในการลดต้นทุนสำหรับผลิตภัณฑ์เหล่านั้นด้วย โดยแต่ละเมืองต้องสร้างการรับรู้ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ที่มี และนำแบบอย่างการพัฒนาที่ดีมาประยุกต์ใช้ โดยมีการวางแผนพัฒนาเมืองที่ดี และรัฐบาลทุกประเทศต้องให้ความสำคัญและขยายผลจากนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง กว้างขวางและยั่งยืน
จากนั้น Mr.Tay Kheng Soon ผู้แทน Holcim Foundation ได้กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาเมืองในอนาคต ว่า การพัฒนาเมืองที่ได้ผลดีคือการมองถึงสภาพความเป็นเมืองกับชนบทเป็นพื้นที่เดียวกัน ไม่มีการแบ่งแยก จากนั้นพัฒนาและบริหารจัดการเชื่อมโยงกันให้ต่อเนื่อง เช่น การลงทุนต้องมีการลงทุนกระจายออกไปยังพื้นที่ชานเมืองหรือเมืองรอบนอก เพื่อไม่ให้เกิดการกระจุกตัวของประชากรที่หลั่งไหลเข้ามา ซึ่งเมืองศูนย์กลางมีหน้าที่ 4 อย่าง คือ 1. เป็นศูนย์กลางในการกำหนดนโยบาย ออกกฎหมาย และดำเนินกิจกรรมทางการเมือง 2. เป็นศูนย์กลางการวิจัย ศึกษา วิชาการ 3. เป็นศูนย์กลางการบริการทางการแพทย์ สาธารณสุข และ 4. เป็นศูนย์กลางด้านความบันเทิงและการค้าขาย ส่วนการผลิตนั้นควรกระจายไปยังพื้นที่รอบนอกแล้วเชื่อมโยงการสื่อสารด้วยระบบสารสนเทศ หรือระบบ Internet ซึ่งเห็นว่าระบบเทคโนโลยีใหม่ๆมีอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่ถูกนำไปใช้ จึงต้องมีผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่จะเปลี่ยนการดำรงชีวิตและการทำงานไปในทิศทางที่ดีขึ้น
Mr.Tay Kheng Soon กล่าวอีกว่า การจะพัฒนาเมืองในอนาคตนั้นผู้สร้างเมืองหรือนักผังเมืองต้องให้ความสำคัญกับพื้นที่สำหรับคนให้พิจารณาถึงพื้นที่อยู่อาศัยต่อประชากร 1 คน แล้วนำมาเป็นแนวทางการพัฒนาไม่ให้เกิดความแออัด พร้อมกับการกระจายที่อยู่อาศัยไปยังรอบนอก การปรับปรุงรูปแบบการบริโภคโดยใช้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทดแทน มีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่มั่นคง การจัดการด้านการศึกษาแบบเรียนรู้ตลอดชีวิต ลดเวลาเรียนลง แต่เน้นการเรียนรู้รอบนอกมากขึ้น โดยสิ่งสำคัญ คือ การส่งเสริมจริยธรรม ลดค่านิยมบริโภคนิยม หรือวัตถุนิยม การเปลี่ยนวิถีชีวิตจากในเมืองออกสู่ชนบท เป็นต้น
นอกจากนั้นยังเสนอแนะการก่อสร้างอาคารให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยออกแบบให้ใช้เครื่องปรับอากาศน้อยที่สุด ใช้วัสดุลดความร้อน การออกแบบท่อน้ำทิ้งที่เป็นระบบ 2 ท่อ คือ น้ำทิ้งที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้และน้ำทิ้งที่ต้องบำบัด ตลอดจนการใช้หลอดไฟฟ้าแบบประหยัดพลังงานด้วย
MIT ย้ำเมืองเติบโตต้องควบคู่ดูแลสิ่งแวดล้อม ด้านฟูกูโอกะโชว์วิธีลดโลกร้อนสำเร็จจริง
ศ.ลอว์เรนซ์ วอลล์ ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาซูเซต หรือ MIT และ นายทาเคชิ ทาเคอิ รองผู้ว่าการจังหวัดฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น แสดงความคิดเห็นช่วงที่ 2 เกี่ยวกับนโยบายและกลยุทธ์ของเมืองหลวงในการจัดการสิ่งแวดล้อมและนโยบายต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ซึ่งประชากรกว่าครึ่งโลกกำลังประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้อันเนื่องมาจากการเติบโตของเมือง โครงสร้างพื้นฐาน การแข่งขันทางเศรษฐกิจ และการดำเนินวิถีชีวิตในสังคม
ผู้เชี่ยวชาญจาก MIT กล่าวเน้นถึงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในเขตเมืองว่า ต้องเติบโตและพัฒนาไปควบคู่กับการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และการวางแผนการใช้พื้นที่เพื่อให้พร้อมรับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากปัจจุบันพลเมืองในโลกถูกคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ อาทิ การอพยพย้ายถิ่นฐานเข้าสู่เขตเมืองส่งผลต่อปัญหาแรงงานและการบริหารจัดการสาธารณูปโภค รวมไปถึงการกัดเซาะของพื้นที่ชายฝั่งทะเล เป็นต้น โดยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะต้องดำเนินการแก้ไขอย่างเป็นองค์รวมไม่สามารถกำหนดให้กระทรวงใดกระทรวงหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบเพียงลำพังได้ ต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารเมือง และพื้นที่ใกล้เคียง ตลอดจนภาคเอกชนในการร่วมแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการดึงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มาใช้ประโยชน์ เช่น ไบโอเทคโนโลยี และการจัดการน้ำ โดยความร่วมมือระหว่างผู้บริหารเมืองและนักวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้แนวคิดในการสร้างเมืองใหม่และการขยายตัวของเมืองอุตสาหกรรมในหลายประเทศ ควรกำหนดเอกลักษณ์ของเมืองให้มีความโดดเด่นมีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นเมืองที่ปราศจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีการออกแบบอาคารให้เหมาะสมสอดคล้องและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญจาก MIT ชื่นชมการดำเนินงานเพื่อลดโลกร้อนของกรุงเทพมหานคร เช่น การให้บริการ Wi-Fi ซึ่งช่วยลดการเดินทาง ลดการใช้พลังงาน และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมากขึ้น
รองผู้ว่าการจังหวัดฟูกูโอกะ กล่าวในที่ประชุมถึงนโยบายในการจัดการและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในจังหวัดฟูกูโอกะ พร้อมทั้งยกตัวอย่างการดำเนินงานและความร่วมมือของประชาชนรวมถึงภาคธุรกิจในจังหวัด ซึ่งที่ผ่านมาฟูกูโอกะเคยได้ชื่อว่าเป็นเมืองหมอก 7 สีที่เกิดจากปัญหามลพิษ แต่ปัจจุบันกลายเป็นเมืองที่มีอากาศดีที่สุดในญี่ปุ่น แต่ยังคงมีปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นต้นเหตุภาวะโลกร้อน โดยในปี 2005 ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 60 ล้านตัน ทางจังหวัดจึงตั้งเป้าหมายที่จะลดก๊าซเรือนกระจกลง 6% โดยในเดือนมีนาคม 2006 ได้กำหนดแผนลดโลกร้อนของฟูกูโอกะและดำเนินโครงการหลายโครงการ เช่น การจัดทำปฏิทินแจกจ่ายให้ครัวเรือนซึ่งมีข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการร่วมลดภาวะโลกร้อน และวิธีการคำนวณค่าใช้จ่ายจากการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน ซึ่งสามารถลดการใช้พลังงานได้ถึง 4-40% หากครัวเรือนใดสามารถลดการใช้พลังงานได้มากที่สุดจะได้รับคำยกย่องจากรัฐบาล ในส่วนของการกำจัดขยะ ได้จัดโครงการย่อยสลายขยะด้วยจุลชีพขนาดเล็ก ลดการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซที่อันตรายกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 20 เท่า โดยโครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากและมีนักวิจัยและผู้สนใจจากเมืองใหญ่ทั่วโลกเดินทางมาดูงาน อีกทั้งด้านการอนุรักษ์ป่า ตั้งแต่เดือนเมษายน 2008 ได้ทำการจัดเก็บภาษีบำรุงรักษาป่า โดยนำรายได้ไปปลูกป่าตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่า 29,000 เฮกเตอร์ (หรือคิดเป็น 179,147.5 ไร่) ภายในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ยังมีโครงการการใช้พลังงานไฮโดรเจน โดยมหาวิทยาลัยคิวชิวศึกษาการนำไฮโดรเจนจากโรงงานเหล็กมาใช้และดำเนินโครงการนำร่องติดตั้งเครื่องผลิตพลังงานในครัวเรือน 150 หลังคาเรือน โครงการใช้ไฮโดรเจนเป็นพลังงานสำหรับรถยนต์ โดยตั้งสถานีเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ที่เมืองคิตะคิวชิว ห่างจากฟูกูโอกะ 70 กิโลเมตร และการจัดเก็บภาษีขยะอุตสาหกรรม มุ่งส่งเสริมให้นำขยะกลับมาใช้ใหม่ได้ และนำภาษีที่ได้ไปจัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศในทุกๆ ปี
ด้านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวชื่นชมต่อแนวคิดในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาเมืองสีเขียวของฟูกูโอกะจากที่เคยเกิดปัญหาสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมจากการขยายเมืองอุตสาหกรรมตั้งแต่ปี 1960 ซึ่งส่งผลต่อสภาพแวดล้อมในฟูกูโอกะอย่างต่อเนื่อง ทำให้ฟูกูโอกะเร่งกำหนดแนวทางและนโยบายใหม่ที่มีความชัดเจนโดยส่งเสริมให้ครัวเรือนซึ่งเป็นประชาชนจำนวนมาก และภาคธุรกิจซึ่งนับมีส่วนสำคัญยิ่งในการสร้างความเติบโตให้กับประเทศร่วมกันเดินหน้าแก้ไขปัญหาโลกร้อนควบคู่ไปกับรัฐบาล อย่างจริงจัง ทั้งนี้กรุงเทพมหานครและฟูกูโอกะในฐานะเป็นบ้านพี่เมืองน้องจะได้มีการแลกเปลี่ยนกิจกรรมและความร่วมมือในระดับผู้บริหารเพื่อนำแนวทางการทำงานที่ประสบความสำเร็จมาประยุกต์ใช้ในกรุงเทพฯ ให้เกิดเป็นรูปธรรมชัดเจนต่อไป
ผู้แทนภาคธุรกิจไทยร่วมเสนอแนวทางประหยัดพลังงาน
การแสดงความคิดเห็นในช่วง Private Sector’s Best practices เป็นการนำเสนอมุมมองของภาคเอกชนในการดำเนินธุรกิจ โดยใช้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นโอกาสในการดำเนินธุรกิจ โดยมี ผู้บริหารจากกลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา, บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน), เทรน ประเทศไทย และเทสโก้ โลตัส มาร่วมนำเสนอมุมมองเพื่อช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นายประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทศุภาลัย ได้รับรางวัลดีเด่นบ้านจัดสรรอนุรักษ์พลังงาน 2 ปีซ้อน คือ ในปี 2005 และ 2007 โดยการออกแบบบ้านในโครงการศุภาลัยใช้หลักการประหยัดพลังงาน เช่น การออกแบบให้ตัวบ้านหลีกเลี่ยงการรับแสงแดดทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตกโดยตรง การระบายอากาศทางหลังคา การใช้ฉนวนกันความร้อนที่มีประสิทธิภาพสูง ใช้กระจกตัดแสงสีเขียว รวมทั้งออกแบบห้องนอนให้ประหยัดพลังงาน โดยกันพื้นที่ที่ไม่จำเป็นออกจากห้องนอน เช่น ห้องน้ำ ห้องแต่งตัว เพื่อลดพื้นที่ใช้เครื่องปรับอากาศ รวมถึงการเลือกใช้หลอดไฟแบบ T5 ซึ่งเป็นหลอดประหยัดพลังงาน และการใช้ Photo Cell นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการออกแบบอาคารประหยัดพลังงาน ซึ่งแนะนำว่าควรออกแบบอาคารให้ลดการเก็บกักความร้อน เช่น การออกแบบอาคารเป็นรูปวงรี เพราะนอกจากจะได้พื้นที่ใช้สอยเพิ่มขึ้นแล้วยังช่วยให้ตัวอาคารไม่เกิดการสะสมความร้อน พร้อมแนะนำให้หันตัวอาคารส่วนที่แคบที่สุดไปทางทิศตะวันออกหรือตะวันตก เพื่อลดพื้นที่รับความร้อนจากแสงอาทิตย์
ทางด้าน นายธีระชาติ นุมานิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มเซ็นทรัลพัฒนามีธุรกิจในเครือข่ายหลากหลายประเภท ซึ่งทางบริษัทมีนโยบายด้านพลังงาน มีการฝึกอบรมพนักงานโดยมุ่งสร้างให้ความตระหนักรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงาน โดยแบ่งมิติการจัดการพลังงานเป็น 3 ด้าน คือ ด้านองค์กร ด้านเทคนิค และด้านประชากร ซึ่งด้านองค์กรมีการกำหนดยุทธศาสตร์ 3 ด้าน คือ Green Mind, Green Space และ Green Building และมีเป้าหมายที่จะลดการใช้พลังงานไฟฟ้าให้ได้ 10% ในปี 2010 ด้านเทคนิคมีการนำน้ำเสียที่ได้รับการบำบัดแล้ว ไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ ของบริษัท เช่น นำไปรดต้นไม้ เป็นต้น ด้านประชากรจะให้ความร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชน โดยเน้นการมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ อาทิ การร่วมโครงการ “ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน” กับกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 51 เป็นต้น
ดร.ดามพ์ สุคนธทรัพย์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด หรือ เทสโก้ โลตัส กล่าวว่า การประหยัดพลังงานและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นนโยบายสำคัญในการดำเนินงานของเทสโก้โลตัส โดยกำหนดเป้าหมายต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ลงให้ได้อย่างน้อย 50% ในปี ค.ศ. 2020 ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการริเริ่มโครงการต่างๆ เช่น กำหนดมาตรการวัดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์เป็นระยะ เพื่อควบคุมให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ปรับปรุงระบบขนส่งสินค้า สร้างห้างสรรพสินค้าสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแห่งแรกบน ถ.พระราม 1 โดยนำระบบพลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้บริเวณพื้นที่จอดรถ การนำน้ำทิ้งจากระบบห้องเย็นมาหมุนเวียนใช้รดน้ำต้นไม้ และต่อมาเทสโก้ โลตัสได้ก่อสร้างห้างสรรพสินค้าสีเขียวแห่งที่ 2 ที่ อ.ศาลายา จ.นครปฐม โดยได้นำพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ไบโอแก๊ส และไบโอดีเซล มาใช้เป็นแหล่งพลังงานเสริม การใช้หลอดผอมประหยัดพลังงาน การติดตั้งป้ายรณรงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกแก่ประชาชนในการร่วมกันประหยัดพลังงาน รวมทั้งจัดศูนย์การเรียนรู้ธรรมชาติเกี่ยวกับการประหยัดพลังงานเพื่อให้ความรู้แก่เยาวชนรุ่นใหม่และประชาชนทั่วไปได้ศึกษา นอกจากนี้เทสโก้ โลตัส ยังริเริ่มโครงการปลูกต้นไม้จำนวน 9 ล้านต้นในจังหวัดน่านเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวอีกด้วย ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมการประชุมจะเดินทางไปศึกษาดูงานอาคารประหยัดพลังงาน ณ ห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส สาขาศาลายา ในวันศุกร์ที่ 27 มิ.ย. 51 ด้วย
นายอดิศร์ พฤกษ์พัฒนรักษ์ ผู้จัดการอาวุโส ประจำประเทศไทย—อินโดจีน จากบริษัท เทรน ไทยแลนด์ จำกัด ได้นำเสนอทางเลือกของการประหยัดพลังงาน โดยชี้ให้เห็นว่าพลังงานที่ใช้ในอาคารส่วนใหญ่ หรือประมาณ 60% เป็นการสร้างความเย็นหรือระบบปรับอากาศ รองลงมาคือหลอดไฟ 18% อุปกรณ์ไฟฟ้า 8% ระบบระบายอากาศ 5% ลิฟต์ 5% และอื่นๆ 4% ดังนั้นการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดจึงต้องสร้างระบบทำความเย็นให้มีประสิทธิภาพ โดยกลุ่มบริษัทเซ็นทรัลพัฒนาและเทสโก้โลตัสเป็นองค์กรที่จัดว่าสามารถดำเนินการในเรื่องดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งช่วยให้มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่ต่ำกว่าผู้ประกอบการรายอื่นๆ อย่างไรก็ตาม การลงทุนเพื่อสร้างอาคารที่มีระบบการทำความเย็นที่มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องใช้งบประมาณลงทุนที่ค่อนข้างสูง ในขณะที่กลุ่มธุรกิจต่างๆ มักคำนึงถึงต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ดังนั้น หากกลุ่มธุรกิจต่างๆ หันมาคำนึงถึงจุดนี้จะพบว่าการลงทุนดังกล่าวมีความคุ้มค่าเป็นอย่างมาก
“ปฏิวัติพลังงาน” คือ คำตอบแก้ไขปัญหาภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง
ภาคบ่าย เป็นการอภิปราย เรื่อง การปฏิวัติพลังงาน โดย Mr.Thiyagarajan Velumail จาก UNDP กล่าวว่า การจัดการกับสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งท้าทายสำหรับทุกเมือง โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งต้องเริ่มดำเนินการในทันที ซึ่งในระยะเวลา 10 ปีต่อจากนี้จะต้องทำให้เกิดความยั่งยืนและต่อเนื่องในการจัดการ ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นจะส่งผลกระทบต่อคนยากจนมากที่สุด เนื่องจากไม่มีความรู้ และไม่สามารถจะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของปัญหาที่เกิดขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีมาตรการบรรเทาและแสวงหาความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อให้ประชาชนเหล่านั้นปรับตัวให้เข้ากับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยตัวอย่างของปัญหา เช่น ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ทำให้สูญเสียพื้นที่ติดทะเล เป็นต้น ซึ่งปัญหานี้ส่งผลต่อประชากรที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดเป็นส่วนใหญ่
สำหรับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อคนยากจนทุกภูมิภาคในวงกว้าง เนื่องจากคนเหล่านี้ต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เช่น น้ำมันก๊าซ แก๊สโซลีน น้ำมันดีเซล และมีปริมาณการใช้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับเป็นเรื่องท้าทายที่ผู้บริหารประเทศหรือเมืองต่างๆ จะต้องจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น อีกทั้งเนื่องจากภาวะน้ำมันแพงขึ้นทำให้ประชาชนที่ยากจนเหล่านั้นกลับมาใช้พลังงานดั้งเดิมมากขึ้น เช่น ฟืน มูลสัตว์ ต้นไม้ ถ่าน เป็นต้น จะเห็นได้ว่ามีทางเลือกในการบริหารจัดการพลังงานจำนวนมาก เพียงแต่เมืองจะจัดการอย่างไรให้สามารถตอบสนองประชาชนได้ทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ
Mr.Thiyagarajan กล่าวอีกว่า ปัญหาอุปสรรคที่พบในการดำเนินการเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนของเมืองต่างๆ คือ 1. การที่ไม่มีนโยบาย กฎระเบียบที่ชัดเจน แนวปฏิบัติไม่สนองการดำเนินการ เช่น มาตรฐานสลากผลิตภัณฑ์ การกำหนดกฎเกณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การกำหนดการก่อสร้างอาคารประหยัดพลังงาน 2. ไม่มีสถาบันหรือโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนที่ชัดเจน ขาดการประสานงานให้เกิดการใช้อย่างกว้างขวาง และขาดการวิจัยและพัฒนาอย่างจริงจัง 3. ด้านเทคนิค ไม่มีการพัฒนาให้สังคมได้รับรู้ว่ามีเทคโนโลยีด้านพลังงานหมุนเวียนที่สามารถใช้ได้แล้ว 4. ด้านการตลาด การนำเทคโนโลยีจากต่างประเทศเข้ามาต้องมีค่าใช้จ่ายมหาศาล และไม่มีรูปแบบการตลาดรองรับที่ดีพอ 5. การส่งเสริมและอุดหนุนราคาน้ำมันหรือราคาพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทางเลือก และ 6. ขาดการให้ข้อมูลข่าวสารเพื่อให้ประชาชนตระหนัก รับรู้ และความไม่ชัดเจนในการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้โดยกล่าวในตอนท้ายว่า เมืองใหญ่จะช่วยให้เกิดการจัดการพลังงานสะอาด ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อนโยบายระดับเมือง ระดับชาติ และระดับประเทศ ในการดึงผู้มีส่วนได้เสียเข้ามาช่วยทำงานเพื่อลดการใช้พลังงาน
ด้าน Mr.Mann Chhoeurn ผู้แทนจากกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน กล่าวว่า ปัญหาภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงเป็นปัญหาที่อยู่ใกล้ตัวมนุษย์และส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโลก ประเทศจีนเป็นประเทศขนาดใหญ่มีการใช้ทรัพยากรและพลังงานจำนวนมาก จึงต้องแสดงความรับผิดชอบต่อปัญหาดังกล่าว ซึ่งได้มีการลงนามในข้อตกลงต่างๆ เพื่อจัดการภาวะโลกร้อนมากมาย และนโยบายของรัฐได้ให้ความสำคัญกับการประหยัดพลังงาน ซึ่งจีนมีเทคโนโลยีล้ำสมัยเกี่ยวกับการประหยัดพลังงานมากมาย เช่น มีรถประหยัดพลังงาน มีพลังงานสีเขียว มาตรการประหยัดพลังงานและความคุ้มค่าของการใช้ การเสริมสร้างการรับรู้ ตระหนักแก่ประชาชน ซึ่งมีแผนปฏิบัติงานเพื่อสิ่งแวดล้อม 5 ปี เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งผ่านมาปีที่ 2 มีการรณรงค์อย่างเข้มแข็งให้ประชาชนประหยัดพลังงาน เพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดให้มากขึ้น เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ เทคโนโลยีป้องกันความร้อน เน้นการใช้พลังงานหมุนเวียนในระดับครัวเรือน
Mr.Mann กล่าวอีกว่า ทุกประเทศทั่วโลกต้องร่วมมือกันและให้การสนับสนุนซึ่งกันและกันในการส่งเสริมพลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียน การร่วมมือกันแก้ปัญหาการขยายเมืองที่จะต้องใช้พลังงานมากขึ้น รวมถึงพัฒนาประเทศควบคู่กับการประหยัดพลังงานอย่างสมดุล
จากนั้น Mr.Bounchanh Sinthavong ผู้แทนกรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กล่าวว่า ประเทศลาวยังไม่ได้รับผลกระทบมากนักเกี่ยวกับสภาวะโลกร้อนหรือสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง แต่ได้มีนโยบายสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เนื่องจากเห็นว่าอาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่มาจากภาคการเกษตร และป่าไม้ถูกทำลาย แต่ได้มีการปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น ซึ่งได้มีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นอกจากนั้นยังส่งเสริมการลดการใช้ถุงพลาสติก การหาน้ำสะอาด การดูแลความสะอาดเรียบร้อยของบ้านเมือง และการเพิ่มสวนสาธารณะในเมืองให้ประชาชนมาใช้ประโยชน์ด้วย
ด้าน Mr.Masakasu Ichimura ผู้แทนจาก UNESCAP กล่าวว่า การลดปริมาณการใช้พลังงานเป็นสิ่งที่ทุกเมืองและทุกประเทศต้องให้ความสำคัญควบคู่ไปกับการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน และควบคู่กับการต่อสู่กับภาวะวิกฤติพลังงาน โดยต้องหาจุดสมดุลกับพลังงาน โดยผู้นำแต่ละเมืองหรือแต่ละประเทศต้องให้ความสำคัญและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการลดการใช้พลังงาน รวมถึงการจัดการกับภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง
ภาคบ่ายยังคึกคักแนะแนวทางลดก๊าซเรือนกระจก
สำหรับการประชุมภาคบ่ายช่วงที่ 2 กรุงเทพมหานครได้เชิญผู้นำเมืองประกอบด้วย ประเทศฟิลิปปินส์ กรุงเดลี ประเทศอินเดีย จาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ผู้แทนจากธนาคารโลก และคาร์ฟูร์ อภิปรายถึงแนวทางและวิธีการ ของแต่ละเมืองและองค์กรในการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมรวมถึงแผนปฏิบัติการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
โดยแต่ละเมืองมีแนวทางที่คล้ายคลึงกันในการกำหนดยุทธศาสตร์และเป้าหมายในการพัฒนาเมืองโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ อาทิ หยุดใช้พลังงานถ่านหินและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและพลังงานสะอาด ส่งเสริมการใช้รถจักรยาน พัฒนาประสิทธิภาพระบบขนส่งมวลชนทุกรูปแบบ เพิ่มการปลูกต้นไม้และเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากยิ่งขึ้น การฉีดพ่นละอองน้ำจากอาคารสูง การใช้ระบบภาษีในการกำกับผู้ผลิตที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อคงไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติให้แก่ลูกหลานจากรุ่นสู่รุ่น อีกทั้งการเก็บค่าเข้าเมืองเพื่อลดการคับคั่งและแออัดบนท้องถนน ตลอดจนการสร้างความตระหนักให้แก่เยาวชนในทุกระดับชั้น กระตุ้นภาคประชาชนให้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและปรับวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ และตั้งคณะกรรมการเพื่อเดินหน้าแก้ไขปัญหาโลกร้อนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง ซึ่งทั้งหมดนี้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องและตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สาเหตุภาวะเรือนกระจกให้มากที่สุด
ด้านผู้แทนจากธนาคารโลก (World Bank) ชี้แจงถึงแนวทางเพิ่มเติมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยใช้กลไกตลาดเพื่อสนับสนุนโครงการต่างๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ทั้งนี้ยังมีปัจจัยที่เป็นปัญหาต่อการดำเนินงานได้แก่ ภาวะทางการเมือง พฤติกรรมของประชาชนในการบริโภค ขีดความสามารถของผู้บริหาร ทรัพยากร เทคโนโลยี และการประสานงานระหว่างองค์กรต่างๆ ในการที่จะสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างกัน อย่างไรก็ตามยังมีวิธีการบริหารจัดการกองทุนคาร์บอน การซื้อขายความสามารถในการลดการปล่อยก๊าซ เช่น ในบางประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกินกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดจำเป็นต้องร่วมหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนกับประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณที่ต่ำมากเพื่อสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม และจัดทำบัญชีรายการปล่อยก๊าซเพื่อแสดงผลการใช้และหาวิธีการลดจำนวนลงให้ได้มากที่สุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ