กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--จักรวาลคอมมิวนิเคชั่น ซีสเท็ม
บริษัท จักรวาลคอมมิวนิเคชั่น ซีสเท็ม จำกัด (UCS) ผู้ให้บริการให้คำปรึกษาทางเทคนิคครบวงจร ในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารโทรคมนาคม จับมือกับพันธมิตร Actelis Networks Inc. ผู้ให้บริการบรอดแบนด์ที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพสูง นำเสนอเทคโนโลยี EFMPLUS (Ethernet in the First Mile Plus) เพื่อช่วยลดปัญหาที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยี Symmetric Broadband เพื่อการรองรับระบบงาน Unified Communication อันได้แก่ ข้อมูล ภาพ และเสียง และช่วยลดต้นทุนตอบสนองความต้องการให้องค์กร โดยจัดสัมมนาหัวข้อ “Fiber like broadband service over bonded copper technology and solutions” ณ โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ กรุงเทพฯ โดยมี คุณเริงชัย บุญธนากร, ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิค บริษัท UCS กล่าวเปิดงาน สำหรับบรรยากาศภายในห้องสัมมนามีการเสนอแนวทางใหม่แก่ผู้ให้บริการ โดยมี Mr. Shai Gill, Director of Sales - APAC บริษัท Actelis Networks Inc. นำเสนอทิศทางและแนวโน้มความต้องการในการใช้งานของเทคโนโลยี EFMPLUS (Ethernet in the First Mile Plus) ในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ทดแทนอุปกรณ์บนคู่สายทองแดงเดิม เพื่อให้มีคุณภาพคล้ายไฟเบอร์ คือ สามารถรองรับการส่งข้อมูลแบบ Symmetric ได้ความเร็วสูงสุด 45 เมกกะบิทต่อวินาที โดยสามารถส่งข้อมูลได้ระยะทางใกล้เคียงกับไฟเบอร์ มีความผิดพลาดน้อยกว่า อีกทั้งมีคุณภาพเทียบเท่าเครือข่ายสาย Fiber และสามารถใช้งานได้กับคู่สายทองแดงปัจจุบันได้โดยไม่ต้องลงทุนใหม่ ซึ่งแนวทางนี้จะสามารถตอบสนองความต้องการขององค์กรต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และมี Mr. Alon Bassman, Vice Present Sales - APAC จาก Actelis Networks Inc. ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีและแอพพลีเคชั่นต่าง ๆ อีกทั้งยังได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ระหว่างผู้เข้าร่วมสัมมนาเกี่ยวกับการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กร โดยได้นำกรณีตัวอย่าง (Case Study) ของปัญหาที่ได้เกิดขึ้นจริงและแนวทางการแก้ไข ที่มีประสิทธิภาพจากประสบการณ์จริงมาให้ความรู้อีกด้วย และในช่วงท้าย คุณเผ่าเทพ ทาวะรมย์ — Product Manager จากบริษัท UCS ร่วมเป็นวิทยากรโดยได้สาธิตการทำงานของอุปกรณ์ เพื่อให้มีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น อีกทั้งตอบข้อซักถามให้กับผู้เข้าร่วมสัมมนาอีกด้วย ภายในงานครั้งนี้ได้รับความสนใจ จากผู้ที่มาร่วมเข้าสัมมนาเป็นอย่างมาก ระบบของ Actelis คุณเผ่าเทพ ทาวะรมย์ Product Manager จากบริษัท UCS เผยถึงระบบของบริษัท Actelis Network ว่าในปัจจุบันมีความต้องการใช้แบนด์วิดธ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง, Lead Line ความเร็วสูง, Video on Demand, IPTV, VoIP และ Application ใหม่ๆ ที่ออกมารองรับความต้องการการใช้งานที่เป็น IP Protocol มากขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นตัวขับเคลื่อน หรือผลักดันให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคม พัฒนาความสามารถของอุปกรณ์ ในการรองรับความต้องการการใช้ความเร็วที่เพิ่มมากขึ้น เช่น FTTH, WiMAX เพื่อใช้ใน Broadband Access Network กันมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบเทคโนโลยีบรอดแบนด์แบบต่าง ๆ แล้ว เช่น DSL, VDSL, Cable/Modem และ PON (Passive Optical Network) ซึ่งเทคโนโลยี PON จะมีข้อดีกว่า เช่น อายุการใช้งานของไฟเบอร์ที่ยาวนาน และที่สําคัญที่สุดคือมีแบนด์วิดธ์ที่สูงมาก และ FTTH ที่ใช้ GE-PON มีแบนด์วิดธ์สูงกว่า DSL เป็นพันเท่า แต่ในปัจจุบันการลงทุนเดินสาย Fiber นั้นใช้ต้นทุนที่สูงมาก หากไม่มีลูกค้าใช้งานเป็นจำนวนมาก ก็ไม่จำเป็นต้องลงทุน ดังนั้นการใช้งานแบนด์วิดธ์ จึงถูกจำกัดแค่ 2.3 Mbps สำหรับการใช้งานแบบ G.SHDSL หรือการใช้ผ่าน E1 ซึ่งต่อผ่านสายเคเบิลทองแดง แบบเดิม แต่สำหรับอุปกรณ์ Actelis จะสามารถช่วยลดช่องว่างระหว่าง สายเคเบิลทองแดงแบบเก่ากับสาย Fiber Optic แบบใหม่ให้ใกล้กันมากขึ้น จากเดิมที่สามารถใช้งานแบนด์วิดธ์ได้ต่ำๆ ประมาณ 2.3 Mbps เราก็สามารถใช้งานแบนด์วิดธ์ได้สูงขึ้นถึง 45 — 80 Mbps สำหรับการส่งข้อมูลผ่านสายทองแดงแบบเดิม ซึ่งการส่งข้อมูลจะเป็นแบบ Synchrony การเปลี่ยนเทคโนโลยีไปเป็น EFM (Ethernet in the first mile) เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อทั้งผู้บริโภคและผู้ให้บริการ เพราะเป็นเทคโนโลยีที่มีการส่งแบนด์วิดธ์ได้มากขึ้น หลักการทํางานของเทคโนโลยี EFM มีสิ่งสําคัญสองอย่างของเครือข่ายความเร็วสูง EFM อันแรกคือ การสนับสนุนอัตราข้อมูลที่สูงกว่าการใช้งานผ่านสายทองแดงแบบเดิม อันที่สองคือ การ Calibration และ Multiple cable ผ่านอุปกรณ์ Actlelis การปรับปรุง Ethernet ให้ดีขึ้น ที่สําคัญก็คือ การเพิ่ม CoS (Class of Service) สําหรับแอพพลิเคชัน เพื่อประกันแบนด์วิดธ์และ Latency ของแอพพลิเคชันเช่นภาพและเสียง และมีการสนับสนุน SLAs (Service Level Agreement) สําหรับหลายแอพพลิเคชัน โดยระบบของ Central Office ที่ใช้ Ethernet และระบบด้านผู้ใช้บริการ (CPE)
ในปัจจุบันนี้สามารถสนับสนุน QoS (Quality of Service) แบบ end-to-end และการแบ่งระดับชั้นของทราฟฟิก ซึ่งทําให้ Ethernet หรือ IP Protocol เป็นพาหนะนําพาอันดีเลิศสําหรับการรับส่งข้อมูลและบริการในอนาคต