กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย น้อมนำกระแสพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงตรัสถึงการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยประสานทุกจังหวัดยึดหลักการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ภัยพิบัติ ปรับข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน เตรียมพร้อมด้านบุคลากร เครื่องมือ และประชาสัมพันธ์ให้ความรู้และสร้างความตระหนักกับประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องและปลอดภัยหากเกิดเหตุภัยพิบัติ
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่คณะเอกอัคราชทูตและกงสุลใหญ่ ซึ่งมีความบางส่วนได้ทรงตรัสถึงการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมเมื่อเกิดแผ่นดินไหว กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะหน่วยงานกลางของภาครัฐด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของประเทศ จึงได้น้อมนำกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น โดยได้ประสานผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดดำเนินการเตรียมความพร้อม ดังนี้ ก่อนเกิดภัย ดำเนินการตรวจสอบแผนเกี่ยวกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่จังหวัด ให้ปรับข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้สามารถนำไปปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุการณ์ได้ทันที เตรียมความพร้อมของทีมกู้ภัยจังหวัด ตามโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งทีมกู้ชีพกู้ภัย (OTOS) เครือข่ายอาสาสมัครและอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) พร้อมทั้งประสานให้อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องมือให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพตลอดเวลา รวมทั้งประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ พร้อมทั้งให้คำแนะนำกับประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องและปลอดภัยจากสถานการณ์ภัยพิบัติ ตลอดจนติดตามข้อมูลข่าวสาร ประกาศแจ้งเตือนภัยจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตลอดเวลา ขณะเกิดภัย ให้จังหวัดเร่งจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฯ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการอำนวยการสั่งการ แก้ไขปัญหา และให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย และประสานการปฏิบัติด้านการป้องกันและบรรเทาภัย ภายใต้แผนการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนเขตท้องที่
หลังเกิดภัย ให้แต่งตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัด และระดับอำเภอ เพื่อทำหน้าที่สำรวจและประเมินความเสียหาย และรายงานให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทราบโดยเร็วที่สุด รวมทั้งเร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้น ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๖ และฉบับแก้ไข พ.ศ. ๒๕๔๙ ตามอำนาจหน้าที่ หากความเสียหายเกินกว่าวงเงินที่กำหนด ให้แจ้งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยโดยเร็ว เพื่อดำเนินการขออนุมัติขยายวงเงินในการให้ความช่วยเหลือ ที่สำคัญ ยังได้เน้นย้ำให้จังหวัดดำเนินการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้และเสริมสร้างความตระหนักด้านการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ และวัฒนธรรมความปลอดภัยในสังคมไทยอย่างยังยืนแก่ประชาชนในพื้นที่ได้ทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง