ปัญหาจากภัยสึนามิ หยั่งรากฝังโคนมูลนิธิแอมเวย์ฯ ช่วยชาวประมงให้หาเลี้ยงชีพเพื่อฟื้นตัว

ข่าวท่องเที่ยว Tuesday June 28, 2005 13:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 มิ.ย.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์
สึนามิ คลื่นร้ายที่ถาโถมในชั่วเพียงข้ามวัน ทำให้ภาพความสวยงามน่าชื่นชมหลงใหลในดินแดนท่องเที่ยวริมฝั่งอันดามันซึ่งได้สมญานามว่าเป็นดินแดนที่ไม่เคยหลับ เศรษฐกิจที่เคยเฟื่องฟู ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใส ได้อันตรธานหายไปในพริบตา เหลือเพียงคราบน้ำตา ความหวังในแววตาจากเหล่าเด็กน้อยที่เฝ้าคอยขนม เสื้อผ้า และอาหารจากผู้ใจบุญทั่วทุกสารทิศบนโลกใบเดียวกันนี้... ช่วงระยะเวลาที่ผ่านมากว่าครึ่งปี ความช่วยเหลือทั้งจากภาครัฐและเอกชนได้หลั่งไหลดั่งสายธารเพื่อเข้ามาช่วยเหลือจนเป็นที่ประจักษ์ว่า “คนไทยไม่เคยทอดทิ้งกัน”
ทว่าในความช่วยเหลือเหล่านั้น มีผู้คนอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่นอกวงโคจรความช่วยเหลือ ทั้งๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิแรงที่สุด เพียงเพราะว่าพวกเขามีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่บนเกาะ การคมนาคมไม่สะดวก มีบ้างที่นานๆ ครั้ง ความช่วยเหลือจะผ่านเข้าไปถึง... และที่ที่กล่าวถึงนี้คือ บ้านนอกนา ตำบลเกาะคอเขา อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา สถานที่ที่มูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทยได้ค้นพบและพยายามเข้าไปช่วยเหลืออีกแรงหนึ่ง โดยรวบรวมทุนและกำลังจากเครือข่ายชาวแอมเวย์จากทุกภูมิภาคเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ซึ่งไม่เพียงเท่านี้ มูลนิธิฯ ยังได้รับข้อมูลเพิ่มเติมว่า สถานศึกษาใน 3 จังหวัดในพื้นที่ประสบภัยสึนามิกำลังขาดแคลนอุปกรณ์เก็บน้ำจำนวนมาก จึงได้นำความช่วยเหลือภายใต้โครงการ “แอมเวย์รวมใจ บรรเทาพิบัติภัยภาคใต้” ซึ่งเป็นการดำเนินกิจกรรมช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิโดยความร่วมมือของเครือข่ายคณะผู้บริหาร พนักงาน สมาชิก และนักธุรกิจแอมเวย์ทั่วประเทศ
นางชุมพฤนท์ ยุระยง กรรมการและเลขานุการมูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทย กล่าวว่า นับตั้งแต่เกิดเหตุ-การณ์อันน่าสลดใจ มูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทยได้รวบรวมพลังประสานงานเครือข่ายทุกส่วน นับตั้งแต่คณะผู้บริหาร พนักงาน สมาชิก และนักธุรกิจแอมเวย์ เพื่อร่วมแรงร่วมใจกันช่วยเหลือผู้ประสบภัยในขั้นต้น ซึ่งประกอบด้วยการมอบเงินและสิ่งของบริจาคผ่านหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข สถานีโทรทัศน์ไอทีวี ฯลฯ เพื่อช่วยเหลือเร่งด่วนในระยะแรก และในระยะต่อมาได้มอบเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่พ่อ แม่ และบุตรเสียชีวิตหรือสูญหาย รวม 239 ราย
สำหรับความช่วยเหลือล่าสุด มูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทยได้พยายามหาข้อมูลเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ตรงกับความต้องการและปัญหาที่แท้จริง โดยเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ที่ผ่านมา มูลนิธิฯ นำโดยคณะกรรมการมูลนิธิพนักงาน สมาชิก และนักธุรกิจแอมเวย์ ได้เดินทางไปมอบอุปกรณ์เก็บน้ำให้แก่โรงเรียนที่ประสบภัยในเขตพื้นที่จังหวัดภูเก็ต กระบี่ และพังงา รวม 200 ชุด มูลค่า 3,100,000 บาท พร้อมมอบทุนการศึกษาให้แก่เด็กนักเรียนที่ประสบภัยในพื้นที่ทั้งสามจังหวัด จำนวน 400 คน มูลค่า 1,000,000 บาท โดยจัดพิธีมอบ ณ โรงเรียนวิชิตสงคราม อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายวินัย บัวประดิษฐ์ เป็นผู้แทนรับมอบ พร้อมตัวแทนเด็กนักเรียนในพื้นที่ประสบภัย และได้เดินทางต่อไปยังจังหวัดพังงาเพื่อมอบทุนการศึกษาและอุปกรณ์ประมง พร้อมเครื่องยนต์เรือ รวมเป็นเงิน 518,000 บาท ให้แก่เด็กนักเรียนและชาวบ้านหมู่บ้านนอกนา ตำบลเกาะคอเขา อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่ประสบความเดือดร้อนอย่างหนักจากเหตุการณ์พิบัติภัยครั้งนี้ โดยมูลนิธิฯ ได้มอบเงินส่วนหนึ่งเป็นกองทุนตั้งต้น เพื่อให้ชาวบ้านผู้ประสบภัยได้บริหารจัดการเป็นกองทุนหมู่บ้านให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสามารถช่วยเหลือตนเองในระยะยาว รวมมูลค่าสำหรับความช่วยเหลือในครั้งล่าสุดนี้เป็นจำนวน 4,618,000 บาท ณ ปัจจุบัน มูลนิธิแอมเวย์ฯ และบริษัทแอมเวย์ได้ร่วมให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิไปแล้วรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 9,152,500 บาท
ความช่วยเหลืออีกทางหนึ่งที่ชาวแอมเวย์ได้มีส่วนร่วมคือ การเป็นอาสาสมัครเข้าร่วมช่วยเหลือผู้ประสบภัย นางศิริพรรณ บุญอริยะ นักธุรกิจแอมเวย์ระดับมงกุฎทูต หนึ่งในชาวแอมเวย์ที่ได้มีโอกาสเข้าไปช่วยเหลือและสัมผัสความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ตั้งแต่เกิดเหตุ เปิดเผยถึงความรู้สึกว่า “ภายหลังเกิดเหตุการณ์สึนามิไม่กี่วัน ได้คุยกันในกลุ่มนักธุรกิจแอมเวย์ และรวมกลุ่มกัน 30 คน เดินทางไปที่วัดย่านยาว พบสภาพตอนนั้นยุ่งเหยิงมาก ทุกคนทำงานช่วยกัน ไม่มีใครเป็นเจ้าภาพ ใครถนัดด้านไหนก็เข้าไปช่วยเหลือ ส่วนเราก็ไปช่วยเรื่องอาหาร ก็จะมีคนก่อนหน้าเราซึ่งเขาดูแลเรื่องอาหารมาก่อน เขาก็บอกเราว่าเขาจะไม่ไหวแล้ว เพราะช่วยงานมาหลายวันแล้ว และส่วนมากก็จะลางานมา เราก็เลยเข้ามารับช่วงต่อจากเขา แล้วขนเตา ขนอาหาร และเครื่องดื่มลงไป มีน้องคนหนึ่งซึ่งเขาเก่งเรื่องการจัดระบบสโตร์ ก็ได้ช่วยเรื่องนี้ ซึ่งช่วยได้มาก การที่เราได้มาช่วยทำให้รู้สึกว่าโชคดีที่เราเป็นนักธุรกิจแอมเวย์ เลยมีเวลา มีแรง และมีเงิน ที่สามารถมาช่วยเหลือได้อย่างเต็มที่ เพราะบางคนทำงานประจำ ขาดลางานก็เกรงใจนายจ้าง แต่เราเป็นนักธุรกิจแอมเวย์ เป็นนักธุรกิจอิสระ เรามีเวลาเต็มที่ ทำให้เรามีเวลาทำประโยชน์เพื่อสังคมมากขึ้น อยากฝากไปถึงผู้ประสบภัยว่า เขาไม่ได้โดดเดี่ยว ยังมีเพื่อนร่วมโลกที่เป็นห่วง คอยช่วยเหลือพวกเขาตลอดเวลา ขอให้สู้ต่อไป อย่าท้อ เราจะเป็นกำลังใจให้คุณเสมอ”
คลื่นชีวิตที่ไม่มีวันหยุดนิ่งของชาวบ้านนอกนา
บ้านนอกนา ตำบลเกาะคอเขา อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เป็นพื้นที่ประสบภัยสึนามิที่ค่อนข้างขาดแคลนปัจจัยในการดำรงชีวิตหลายอย่าง โดยเฉพาะด้านอาชีพหาเลี้ยงครอบครัว เพราะเดิมชาวบ้านส่วนใหญ่จะมีรายได้จากการท่องเที่ยว แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิ ทำให้ชาวบ้านนอกนากลายเป็นบุคคลว่างงานมากว่าครึ่งปีแล้ว มีเรือก็มีแต่โครงเรือ ไม่มีเครื่องยนต์และอุปกรณ์ที่จะออกทะเลหากุ้ง ปู ปลา ในความสิ้นหวังนั้น ได้มีชายหนุ่มอย่าง คุณมนัส ทองสุวรรณ เจ้าหน้าที่ภาคสนามประสานงานฟื้นฟูชุมชน ภายใต้เครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามัน เป็นหนึ่งในเครือข่ายฯ ที่ได้อุทิศตนเพื่อช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบธรณีพิบัติภัยภาคใต้ และได้เป็นผู้ที่เชื่อมต่อความช่วยเหลือระหว่างมูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทยกับชาวบ้านนอกนา “ผมมาจากโครงการจัดการทรัพยากรพื้นบ้านชายฝั่งภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อเกิดเหตุคลื่นยักษ์สึนามิ ผมก็โอนย้ายกำลังมาในจังหวัดพังงา ซึ่งตอนนี้ผมรับผิดชอบฟื้นฟูในพื้นที่ หมู่ 2 บ้านนอกนา อ.ตะกั่วป่า การดำเนินการปัจจุบันได้ใช้งบประมาณและบุคลากรอาสาสมัครขององค์กรสมาชิกของเครือข่าย ลงพื้นที่เพื่อพูดคุยและทำความเข้าใจกับชาวบ้าน เพราะทุกอย่างต้องทำไปพร้อมๆกัน ไม่ว่าจะเป็นการต่อเรือสร้างอาชีพให้ชาวบ้าน การสร้างที่อยู่อาศัย การศึกษาของบุตรหลาน และสภาพจิตใจของคนในชุมชน ซึ่งทำให้การดำเนินการนั้นเป็นไปได้ช้า แต่อีกไม่นาน กลุ่มของประชาชนที่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้จะเกิดขึ้น โดยเราต้องประสานการสนับสนุนทุนเพิ่มเติมสำหรับการสร้างบ้านพักชั่วคราว การซ่อมแซมเรือ และการจัดหาอุปกรณ์ประมงในระยะเฉพาะหน้า ซึ่งหัวใจสำคัญของการบรรเทาทุกข์และฟื้นฟูชุมชนคือ กระบวนการทั้งหมดต้องนำไปสู่การเสริมสร้างพลังของชุมชนให้เป็นองค์กรหลักในการฟื้นฟูชุมชนในระยะยาว โดยมีความจำเป็นต้องจัดหางบประมาณสำหรับใช้ตามวัตถุประสงค์ของการดำเนินงาน โดยที่มาของงบประมาณเหล่านี้ก็มาจาก“กองทุนชุมชนและทรัพยากร” เป็นการระดมทุนจากแหล่งทุนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยส่งเงินช่วยเหลือไปยังส่วนภูมิภาค และบริหารจัดการโดยคณะกรรมการกองทุน ซึ่งได้รับการบริจาคสมทบจากหน่วยงานและมูลนิธิต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยและสลัมสี่ภาค มูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทย เป็นต้น
สำหรับวิถีชีวิตของชาวบ้านแถบนี้ เดิมทีจะประกอบอาชีพประมง พอมีการลงทุนในเรื่องการท่องเที่ยว ชาวบ้านก็จะหันมาทำอาชีพรับจ้าง รับเหมาก่อสร้าง หรือทำงานตามโรงแรม รีสอร์ทต่างๆ เมื่อเกิดเหตุสึนามิ แหล่งท่องเที่ยวได้รับความเสียหาย ชาวบ้านจึงต้องการกลับมาประกอบอาชีพประมงเหมือนเดิม สำหรับพี่น้องชาวประมงแล้ว เรือเป็นมากกว่าอะไรทั้งสิ้นในชีวิต เรือเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการดำรงชีพ ใช้ในการเดินทาง แม้เรื่องที่อยู่อาศัยยังสำคัญรองจากเรือ ชาวบ้านจะเริ่มด้วยทับ (ที่พักชั่วคราว) ในบางที่บางโอกาส จนกว่าจะปลงใจตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชน นั่นแหละทับจึงจะค่อยๆ ถาวรมาเป็นบ้านเป็นหมู่บ้าน”
คลื่นชีวิตของชาวบ้านนอกนาไม่เคยหยุดนิ่งแม้สักวินาทีเดียว แม้ว่าจะมีคลื่นร้ายกาจอย่างสึนามิมาเยือน แต่คลื่นน้ำใจก็ไหลบ่าลงมาปลอบประโลม ขณะเดียวกันทะเล สถานที่ที่เคยเป็นที่ทำมาหากินมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ ก็ส่งสัญญาณเรียกร้องพรานทะเลออกโต้คลื่นลมกันอีกครั้ง ภาพของชาวบ้านนอกนาเหล่านี้ น่าจะช่วยสะท้อนชุมชนอื่นๆ ที่ยังรอความช่วยเหลือในแบบเดียวกันนี้ ให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ร่วมตระหนักและดำเนินการทางใดทางหนึ่งให้พวกเขาได้ดำรงชีวิตด้วยตัวเองและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ 0 2691 6302-4, 0 2274 4782
คุณอุมา พลอยบุตร์, คุณวีรยา หมื่นเหล็ก, คุณวรรณวิสาข์ พรหมมา
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ