ส.อ.ท. จัดตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า

ข่าวทั่วไป Tuesday November 22, 2005 11:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 พ.ย.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าเอกชนรวมตัวตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมลำดับที่ 35 ของสภาอุตสาหกรรมฯ เพื่อเป็นศูนย์กลางร่วมมือรัฐวางยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพผู้ผลิตไฟฟ้าไทย รองรับความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมในประเทศและขยายตลาดส่งออก
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดให้มีการจัดตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้าขึ้น เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมลำดับที่ 35 ของสภาอุตสาหกรรมฯ โดยได้รับเกียรติจากรองปลัดกระทรวงพลังงาน นายณอคุณ สิทธิพงศ์ เข้าร่วมพิธีสถาปนากับผู้บริหารระดับสูงของสภาอุตสาหกรรมฯ ทั้งนี้ นายเกียรติพงศ์ น้อยใจบุญ รองประธานสภาอุตสาหกรรมฯ เปิดเผยถึงความเป็นมาของการจัดตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้าว่า เนื่องจากพลังงานไฟฟ้าเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของภาคการผลิตในทุกอุตสาหกรรม โดยราคาและคุณภาพของพลังงานไฟฟ้ามีผลกระทบต่อศักยภาพการผลิตและขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอย่างสำคัญ ซึ่งในปัจจุบัน กำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ กว่าร้อยละ 40 ผลิตโดยโรงไฟฟ้าของเอกชน ดังนั้น สภาอุตสาหกรรมฯ ในฐานะตัวแทนของผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ซึ่งมีหน้าที่ส่งเสริมให้การประกอบธุรกิจของภาคเอกชนสามารถดำเนินการไปได้อย่างคล่องตัว เห็นว่าการรวมตัวของผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าเอกชนในรูปแบบองค์กรกลาง เพื่อเป็นเวทีกลางในการแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจ สร้างโอกาสให้เกิดความร่วมมือด้านการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้สอดรับกับความต้องการของผู้ใช้ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในการประสานความร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อวางยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าของประเทศมีศักยภาพสามารถรองรับความต้องการใช้พลังงานของภาคธุรกิจไทย ตลอดจนยกระดับขีดความสามารถให้พร้อมแข่งขันบนเวทีการค้าโลกได้ จึงเป็นภารกิจที่มีความสำคัญ และเป็นสาเหตุให้สภาอุตสาหกรรมฯ สนับสนุนให้มีการจัดตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้าขึ้น โดยสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มมีทั้งสิ้น 20 ราย และผลการเลือกตั้งประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้าปรากฎว่า นายประมินทร์ พันทวีศักดิ์ บริษัท ไทยออยล์ พาวเวอร์ จำกัด ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มฯ นางศรีประภา สำรวจรวมผล บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) เป็นรองประธานกลุ่มฯ และดร.สุ่น แก้วชาญศิลป์ บริษัท โกลว์ เอสพีพี 2 จำกัด เป็นเลขาธิการกลุ่มฯ
สำหรับสภาวะของอุตสาหกรรมการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยเอกชน นายประมินทร์ ประธานกลุ่มฯ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยประสบความสำเร็จในการสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศ โดยการปฏิบัติการของโรงไฟฟ้าเอกชนมีคุณภาพเทียบเท่ากับกฟผ. และโรงไฟฟ้าชั้นนำของโลก อีกทั้งการซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. กับภาคเอกชนก็เป็นไปด้วยความโปร่งใส และคงความรับผิดชอบต่อการรักษามาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี ซึ่งกำลังการผลิตของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนในปัจจุบัน ที่ประกอบด้วย กลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producers: SPP) และกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producers: IPP) รวมกันทั้งสิ้น 4,377 เมกกะวัตต์ หรือคิดเป็นร้อยละ 17 ของกำลังการผลิตทั้งหมดของประเทศ (25,705 เมกกะวัตต์) และหากรวมโรงไฟฟ้าของบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด ซึ่งได้แยกตัวจาก กฟผ. ออกมาจดทะเบียนในรูปบริษัทมหาชนแล้ว กำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนจะมีทั้งสิ้น 10,200 เมกกะวัตต์ หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของกำลังการผลิตทั้งหมด
โดยแนวนโยบายหลักในการบริหารงานและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า คือ การให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการพัฒนากิจการไฟฟ้าของประเทศ ทั้งในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการออกกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการไฟฟ้า ควบคู่กับคงรักษาการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าที่ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคม
"และเนื่องจากปัจจุบันกิจการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศกำลังอยู่ในช่วงการปรับโครงสร้างกิจการ รวมถึงการแปรสภาพการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง จากรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทมหาชน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อประชาชน โครงสร้างใหม่ของกิจการไฟฟ้ายังอาจมีผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ดังนั้น กลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า สภาอุตสาหกรรมฯ จะติดตามความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และขอให้ภาครัฐแสดงนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการสนับสนุนการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยภาคเอกชนให้ ผู้ประกอบการได้รับทราบ เพื่อเป็นข้อมูลให้ภาคเอกชนปรับแผนการดำเนินธุรกิจให้สอดรับกับสถานการณ์การแข่งขันได้อย่างเท่าทัน" นายประมินทร์ กล่าว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โทร. 0 2345 1000 ต่อ 1017 1013--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ