Virtual World ดินแดนใหม่แห่งโอกาสธุรกิจไทย

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday July 1, 2008 08:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ก.ค.--
Virtual World คืออะไร? Virtual World เป็นแค่เกมออนไลน์หรือเปล่า? เราทำอะไรได้บ้างใน Virtual World? ผมเคยได้ยินคำถามเหล่านี้อยู่บ่อยๆ หลายคนมอง Virtual World เป็นเพียงโลกเสมือนจริงที่มีแต่เรื่องของอนาคต อีกหลายคนรวมทั้งตัวผมมอง Virtual World เป็นปรากฏการณ์ในปัจจุบันที่เขยิบเข้ามาใกล้ตัวผู้คนและธุรกิจบนโลกนี้มากขึ้นทุกวัน
เชื่อหรือไม่ว่าสถิติการใช้อินเทอร์เน็ตระหว่างปี 2000 ถึง 2007 พบว่าจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าเป็นเกือบ 1,200 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 2,000 ล้านคนภายในปี 2010 ด้วยสาเหตุดังกล่าว จึงไม่น่าแปลกใจที่เราได้เห็นพัฒนาการมากมายบนโลกอินเทอร์เน็ต รวมถึง “Virtual World” โลกเสมือนสามมิติที่ทุกอย่างถูกสร้างขึ้นด้วยมือผู้เล่นทั้งสิ้น ภายใน Virtual World ได้ผนวกเอาเครื่องมือ เพื่อให้ผู้เล่น สร้างตัวตนที่ต้องการ หรือที่เรียกว่าอวาตาร์ (Avatar) ขึ้นมา ซึ่งผู้เล่นมีอิสระที่จะสร้างสรรค์วัตถุหรือสิ่งของ หรือเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆได้อย่างไร้ขีดจำกัด และดินแดนสามมิติแห่งนี้ ยังได้เสนอโอกาสทางธุรกิจและสร้างรายได้ให้ผู้คนมหาศาล
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คงหนีไม่พ้น Second Life เว็บไซต์โลกเสมือนที่มีผู้ลงทะเบียนเป็นสมาชิกแล้วกว่า 13 ล้านคนทั่วโลก ในปี 2007 โดยเฉลี่ย ทุกๆวันมีการทำการซื้อขายสินค้าใน Second Life ด้วยการใช้สกุลเงินที่เรียกว่าลินเดนดอลลาร์ (L$) ที่แลกเป็นดอลลาร์สหรัฐได้ถูกต้องตามกฎหมาย คิดแล้วเป็นมูลค่ากว่าล้านเหรียญสหรัฐ (1 USD แลกได้ประมาณ 250 L$) นักธุรกิจและนักการตลาดต่างมองว่าในอนาคตอันใกล้ Second Life จะเป็นทางเลือกของการลงทุนและสื่อโต้ตอบที่ทรงพลังที่สุด และวันนี้ บริษัทชื่อดังมากมาย ได้เลือกลงทุนจับจองพื้นที่และมีร้านค้าใน Second Life แล้ว เพื่อสนองความต้องการของลูกค้าทั่วโลก หากคุณได้ลองเข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์นี้สักครั้ง คุณจะได้ตื่นตาตื่นใจกับการเลือกซื้อและชมสินค้าจากร้านค้าชื่อดัง อาทิ Warner Bros. Circuit City Sony Nike จองโรงแรมห้าดาวอย่าง Westin และ Sheraton หรือทดลองขับรถสปอร์ตรุ่นล่าสุดของ Mercedes Benz ในโลกจำลองสามมิติแห่งนี้
จากการระดมความคิดของนักวิจัย พนักงานไอบีเอ็ม คู่ค้าธุรกิจ และครอบครัวพนักงานทั่วโลกกว่าแสนคนใน InnovationJam เมื่อปี 2007 หนึ่งในนวตกรรมที่จะทำให้รูปแบบการทำงานและการใช้ชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไปภายใน 5 ปีข้างหน้านี้ก็คืออินเตอร์เน็ตสามมิติ ไอบีเอ็มยังได้ประกาศลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีบนโลกสามมิติกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐ และได้เริ่มดำเนินการหลายโครงการที่น่าสนใจ อาทิ
การร่วมมือกับ Linden Lab ยกระดับโลกจำลองสามมิติ ในหลายๆ โครงการ เช่น การอินทริเกรท Virtual World ทั้งหลายด้วยเวบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน การผลักดันเรื่องความปลอดภัยสูงสุดในการค้าขายสินค้าและบริการในโลกเสมือน รวมถึงการพัฒนาคุณภาพการบริการและความเสถียรสู่แพลทฟอร์มของ Virtual World
การเปิด IBM Virtual Healthcare Island เกาะที่ผู้เล่นสามารถเยี่ยมชมห้องแล็บ โรงพยาบาล ห้องฉุกเฉิน หรือแม้กระทั่งร้านขายยา เพื่อศึกษาถึงเรื่องราวที่น่าสนใจทางการแพทย์รวมถึงประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อผู้ป่วยในปัจจุบันและอนาคต
การสร้าง IBM’s Virtual Universe Community ชุมชนที่มีสภาพแวดล้อมเสมือน ไม่ว่าจะเป็น การประชุม การศึกษา การฝึกงาน การจัดงาน การทำกิจกรรมร่วมกับลูกค้า รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ปัจจุบัน ไอบีเอ็มมีพนักงานที่เป็นสมาชิกของชุมชนนี้แล้วกว่าห้าพันคนทั่วโลก
ในมุมมองของผม Virtual World กำลังก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจด้วย 3 ประเด็นหลักๆ
1) จำนวนประชากรในโลกอินเตอร์เน็ตสามมิติ และความต้องการที่เพิ่มขึ้นทุกวัน
เชื่อหรือไม่ ทุกวันนี้ มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วโลกกว่า 1 พันล้านคน และมีผู้สมัครเป็นสมาชิกใน Second Life แล้วกว่า 13 ล้านคนทั่วโลก ผมได้อ่านบทสัมภาษณ์ของ ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานวิทยาลัยศึกษาทางไกลอินเทอร์เน็ตของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ในนิตยสาร Positioning เกี่ยวกับการเปิดคอร์ส e-learning หลักสูตรปริญญาโทและปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญบนเกาะ Charming island ใน Second Life และเห็นว่ามีข้อมูลน่าสนใจทีเดียว ท่านดร.ศรีศักดิ์ กล่าวว่าศักยภาพแท้จริงที่ดึงดูดใจให้ท่านตัดสินใจสร้าง Campus ใน Second Life คือยอดผู้ใช้งานในโลกสามมิตินี้ทั่วโลก ที่ ณ เดือนสิงหาคม 2007 มีสูงถึงราว 9 ล้านรายแล้ว เติบโตจาก 1 ล้านรายเมื่อเดือนมีนาคม 2007 นั่นคือ 9 เท่าในเวลาเพียง 5 เดือน” ท่านยังได้เล่าว่า “ในวิทยาเขตโลกเสมือนนี้ นักศึกษาจะใช้เป็นที่เข้ามาดูและฟังเลกเชอร์ เรียนรู้ในแบบ Interactive พบปะสังสรรค์พูดคุยกับเพื่อนนักศึกษาด้วยกัน หรือจะเหาะออกไปหาเกมเล่น ไปเยี่ยมชมศูนย์ฝึกอบรมพนักงานทั่วโลกของ IBM หรือ General Motor หรือเดินเข้าชมอีเวนต์งานกิจกรรมทางการตลาดของสินค้าบริการแบรนด์ดังอื่นๆ เปิดโลกทัศน์ ส่วนบุคคลภายนอกจากทั่วโลกสามารถเหาะลงไปนั่งเรียนและคุยกับชาวเอแบคที่เกาะ "Charming Island" การเปิดกว้างแบบนี้ช่วยโปรโมตมหาวิทยาลัยไปทั่วโลกด้วยด้วยในตัว”
2) โลกแห่งนวตกรรมและจินตนาการ
เพราะทุกอย่างใน Virtual World ถูกสร้างขึ้นจากจินตนาการของผู้เล่นทั้งสิ้น ดังนั้น ในโลกจำลองสามมิติแห่งนี้ ผู้เล่นทุกคนจะได้รับโอกาสให้แสดงอิสระทางความคิด ความต้องการ และสิ่งนี้เอง ที่จะนำมาซึ่งนวตกรรมสินค้า บริการ กระบวนการ และรูปแบบทางธุรกิจใหม่ๆ ทั้งในโลกเสมือนและโลกธุรกิจจริง และที่สำคัญ ทุกอย่างที่ผู้เล่นหรือบริษัทต่างๆสร้างสรรค์ขึ้นมา จะได้รับการคุ้มครองในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ทุกอย่างที่คิดหรือสร้าง ขึ้นมา สามารถขายได้ แลกได้ หรือมีสิทธิ์มอบให้ใครก็ได้ ถ้ามองในแง่ของจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ โดยส่วนตัว ผมชื่นชม SCB Island ของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นเกาะที่ได้รับการออกแบบเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ความสวยงามของสถาปัตยกรรมไทย ดนตรีไทย มากกว่าการขายสินค้าหรือบริการของธนาคารเท่านั้น คุณสัมพันธ์ ติระวัฒน์ ผู้บริหารสายงานไอทีของธนาคารไทยพาณิชย์ ผู้ควบคุมและดูแลการสร้าง SCB Island ใน Second Life ได้กล่าวไว้ว่า ”Virtual World ถือเป็นโลกเสมือนสามมิติที่เปิดกว้างให้สมาชิกหรือองค์กรต่างๆ เข้ามาใช้จินตนาการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้อย่างเสรีและปลอดภัยจากการลอกเลียนโดยไม่ได้รับอนุญาต จุดประสงค์หลักในการสร้าง SCB Island ของธนาคารไทยพาณิชย์ นอกจากจะเป็นการแนะนำธนาคารผ่านทางช่องทางใหม่ๆ แล้ว เราตั้งใจที่จะส่งเสริมภาพลักษณ์และวัฒนธรรมของไทยให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตา avatar ทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น อาคารที่สร้างเป็นศาลาและบ้านทรงไทย เสาชิงช้า สิ่งก่อสร้างที่อยู่คู่กรุงเทพมหานครมานาน หรือการใช้รถตุ๊กๆ เป็นพาหนะเดินทางภายในเกาะ สิ่งเหล่านี้ เกิดจาดการระดมความคิด จินตนาการของทีมงาน จนออกมาเป็นผลงานที่ประณีตและสวยงาม ธนาคารฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีผู้เข้ามาเยี่มชมเกาะของเรา และได้รู้จักความสวยงามของวัฒนธรรมไทยมากขึ้นเรื่อยๆ”
3) การสร้างประสบการณ์ที่เหนือกว่าให้ลูกค้า
ในปัจจุบัน ผู้บริโภคมีความรู้มากขึ้น และมีอิทธิพลกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อธุรกิจในหลายด้าน ไอบีเอ็มเรียกลูกค้ากลุ่มนี้ว่า “Omni Consumer” หรือ “ผู้บริโภคที่รู้รอบด้าน” คนกลุ่มนี้จะไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ทั้งยังมีความรู้ความสามารถ และใกล้ชิดกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น อีกหนึ่งข้อดีของการดำเนินธุรกิจใน Virtual World คือความสามารถในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าด้วยประสบการณ์ที่เหนือกว่า ยกตัวอย่างเช่น ที่ IBM Business Center ใน Second Life ลูกค้าสามารถติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของเราทั้ง 6 แผนก ได้แก่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ฝ่ายขาย ฝ่ายเทคนิค ฝ่ายนวตกรรม ฝ่ายให้ข้อมูลโดยย่อ และศูนย์ประชุม ได้แบบตัวต่อตัว 24 ชั่วโมง ตลอด 5 วันทำการ ที่สำคัญ avatar ในนั้นคือพนักงานของไอบีเอ็มจริงๆ ไม่ใช่แค่หุ่นยนต์ ดังนั้น ผู้เข้าชมจะสามารถพูดคุยผ่านเว็บกับเจ้าหน้าที่ได้ทันที โดยสามารถเลือกภาษาที่ต้องการ ทั้งอังกฤษ เยอรมัน สเปน ดัทช์ อิตาเลียน ฝรั่งเศส หรือภาษาจีน นอกจากนี้ ลูกค้ายังจะได้สัมผัสกับผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นของไอบีเอ็มแบบสามมิติอีกด้วย
เป็นที่น่ายินดี ในวันนี้ เราได้เห็นบริษัทและหน่วยงานต่างๆ ของไทย เริ่มมีพื้นที่ของตัวเองใน Virtual World และสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างน่าสนใจ ทีเดียว ผมเชื่อว่า Virtual World ยังอาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทยและนักธุรกิจไทยส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำความเข้าใจ ลองนึกถึงวันแรกที่เราได้รู้จักกับการใช้อินเตอร์เน็ต จนถึงวันนี้ อินเตอร์เน็ตกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของเราทั้งในด้านธุรกิจและชีวิตส่วนตัว ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เห็นองค์กรไทยๆ ได้เข้าไปสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆใน Virtual World และประสบความสำเร็จทางธุรกิจบนโลกจำลองสามมิติแห่งนี้ หากพบกับ avartar ของผมใน Second Life ที่ชื่อว่า TigerT Michigan ก็ทักทายกันบ้างนะครับ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ