กรุงเทพฯ--1 ก.ค.--กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ซึ่งเป็นเรือธงของกรีนพีซจะมาเยือนประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง ที่จังหวัดสงขลา เพื่อรณรงค์ “หยุดถ่านหิน ก้าวสู่การปฏิวัติพลังงาน” ในเอเชียแปซิฟิก และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนและผลักดันรัฐบาลให้ลงมือแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ภัยพิบัติทางธรรมชาติรุนแรงขึ้นและเกิดบ่อยครั้งขึ้น เช่น อุทกภัย ภัยแล้ง พายุ ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น ผลผลิตทางการเกษตรลดลง การแพร่กระจายของโรคระบาด และการสูญสิ้นสายพันธุ์
ถ่านหินเป็นมหันตภัยหมายเลขหนึ่งของการทำลายสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่สกปรกและมีคาร์บอนสูงที่สุดในบรรดาเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหลาย ถ่านหินปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยพลังงานมากกว่าน้ำมันร้อยละ 29 และมากกว่าก๊าซร้อยละ 80 การเผาไหม้ถ่านหินยังปล่อยสารพิษออกมาในปริมาณมาก เช่น ปรอทและอาร์เซนิก ซึ่งเป็นโลหะหนักที่เป็นพิษต่อสุขภาพของคนและก่อให้เกิดผลกระทบที่ทำลายล้างต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น
การปฏิวัติพลังงานเป็นทางออกของปัญหาโลกร้อน
กุญแจสำคัญของการกู้วิกฤตโลกร้อนคือการเลิกพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลและเปลี่ยนผ่านไปสู่อนาคตพลังงานที่ยั่งยืน เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่ปลอดภัยและสะอาด ประสิทธิภาพด้านพลังงาน และระบบพลังงานแบบกระจายศูนย์ ซึ่งเป็นหัวใจของความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ
เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ (นักรบสายรุ้ง) เป็นเรือรณรงค์ของกรีนพีซ ชื่อของเรือมาจากแรงบันดาลใจของคำพยากรณ์ของหญิงอินเดียนแดงชราเผ่าครีในอเมริกาเหนือที่ทำนายถึงโลกที่เจ็บป่วยจากความโลภของมนุษย์จนยากเกินเยียวยา ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป ชนเผ่าต่างๆทั่วโลกจะหลอมรวมจิตวิญญาณเข้าด้วยกัน และสอนทุกคนให้เคารพต่อโลก และร่วมกันเป็นนักรบสายรุ้ง
เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ มีประวัติการเดินทางรณรงค์อันยาวนานและมีกิจกรรมรณรงค์ที่หลากหลาย ทั้งการช่วยอพยพชาวเกาะแปซิฟิกตอนใต้ที่ได้รับสารกัมมันตภาพรังสีที่ตกค้างจากการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ สนับสนุนภารกิจฟื้นฟูความเสียหายของเหยื่อสึนามิในเกาะสุมาตราเมื่อปี 2548 ออกท้องทะเลลึกทั่วโลกเพื่อต่อต้านการล่าวาฬ การก่อสงคราม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และท้าทายอาชญากรรมสิ่งแวดล้อม แต่มีหัวใจหลักของการรณรงค์เพียงสิ่งเดียว นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้ดีขึ้น
หลังจากการรณรงค์ที่ประสบความสำเร็จในนิวซีแลนด์และฟิลิปปินส์แล้ว เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์มุ่งหน้ามายังประเทศไทยเพื่อรณรงค์ “หยุดถ่านหิน ก้าวสู่การปฏิวัติพลังงาน” ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดซึ่งเป็นทางออกที่มั่นคง ปลอดภัยและยั่งยืนในการแก้ปัญหาโลกร้อน
การมาเยือนประเทศไทยครั้งนี้ประกอบด้วยกิจกรรมรณรงค์ที่เต็มไปด้วยสีสันและตื่นตาตื่นใจ ทั้งการเยี่ยมชมเรือ ใกล้ชิดกัปตันและอาสาสมัครกรีนพีซจากทั่วโลก นิทรรศการ การสาธิตต่างๆ ดนตรี และกิจกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของกรีนพีซที่จังหวัดสงขลา ประจวบคีรีขันธ์ และกรุงเทพฯ
เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ลำปัจจุบันออกเดินเรือเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2532 หลังจากที่ลำก่อนถูกรัฐบาลฝรั่งเศสจมลง เนื่องจากประท้วงการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ที่มหาสมุทรแปซิฟิก ถึงแม้จะถูกทำลายไปด้วยแรงระเบิด การเผา หรือถูกโจมตีจากผู้ต่อต้าน เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ก็ถูกสร้างขึ้นใหม่และกลับมาต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมอีกครั้ง รวมทั้งรณรงค์คัดค้านการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในมหาสมุทรแปซิฟิกจนประสบความสำเร็จ การกลับมาในครั้งนี้ เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่า “ไม่มีใครสามารถจมเรนโบว์ วอร์ริเออร์ได้”
สถานที่จดทะเบียน: อัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์
ปีที่ได้รับกรรมสิทธิ์: 2530
ห้องนอน: 28 ห้อง
เรือเล็ก: เรือโครงติดเครื่องท้าย 1 ลำ เรือสูบลม 4 ลำ
ประเภท: เรือใบติดมอร์เตอร์
สัญญาณเรียก: PC 8024
สร้างเมื่อ: พ.ศ. 2500 โดย บริษัท Cochrane & Sons, Selby สหราชอาณาจักร
น้ำหนัก : 555 ตัน
ความยาว: 55.20 เมตร
ความกว้าง: 8.54 เมตร
ความยาวโครงเรือ: 4.6 เมตร
ความเร็วสูงสุด: 22.8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
เครื่องยนต์: Deutz M.W.M. 2 x 6 Cylinder แบบดีเซล ขนาด 2 x 500 กิโลวัตต์
ความเร็วในการแล่น: โดยเฉลี่ย 9-12 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
แรงดันของส่วนหัวและส่วนท้าย: ส่วนละ 400 HP
ใบเรือ: 650 ตารางเมตร
ระยะจากระดับน้ำถึงจุดสูงสุดของเรือ: 41 เมตร
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
วิริยา กิ่งวัชระพงศ์ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โทร 02-357-1921 ต่อ 115 หรือ 089-487-0678
กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
138/1 ชั้น 2 อาคารทอง ถนนสุทธิสาร แขวงสามเสนใน
เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400
โทร 02-357-1921 แฟกซ์ 02-357-1929
www.greenpeace.or.th