คุมปริมาณนักท่องเที่ยวใน 10 อุทยานชื่อดัง ป้องกันทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม

ข่าวท่องเที่ยว Tuesday July 1, 2008 15:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ก.ค.--
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดงานแถลงข่าวการกำหนดขีดความสามารถในการรองรับได้ด้านนันทนาการ และการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ10 แห่งทั่วประเทศ พร้อมเปิดโครงการค่ายเยาวชนคนพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ หวังให้ประชาชนรักษาและเรียนรู้การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะในปัจจุบันอุทยานแห่งชาติหลายแห่งทั่วประเทศอยู่ในภาวะเกินขีดความสามารถในการรองรับได้ อาทิ อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-เกาะเสม็ด, ดอยสุเทพ-ปุย ฯลฯ โดยเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 51
นายเฉลิมศักดิ์ วานิชสมบัติ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “ตามที่ในปัจจุบันอุทยานแห่งชาติหลายแห่งในประเทศไทยมีขีดจำกัดในการรองรับนักท่องเที่ยว ทั้งด้านที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก หากนักท่องเที่ยวมีปริมาณมากเกินไป หรือขาดจิตสำนึกที่ดีในการดูแลธรรมชาติ ผลกระทบที่เกิดตามมาคือทรัพยากรธรรมชาติอาจถูกทำลายจนเกิดความเสียหาย และเพื่อเป็นการป้องกันผลเสียหายดังกล่าว ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้กำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าไปในอุทยานแห่งชาติ 10 แห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 51 โดยเริ่มต้นในอุทยานแห่งชาติดังนี้ 1)ห้วยน้ำดัง ค้างคืนได้ 1,134 คน ไปกลับ 850 คน 2)ดอยอินทนนท์ ค้างคืนได้ 810 คน ไปกลับ 3,160 คน 3)ดอยผ้าห่มปก ค้างคืนได้ 1,000 คน ไปกลับ 1,200 คน 4)ดอยสุเทพ-ปุย ค้างคืนได้ 850 คน ไปกลับ 2,790 คน 5)ภูกระดึง ค้างคืนได้ 5,300 คน ไปกลับ 300 คน 6)เขาใหญ่ ค้างคืนได้ 2,600 คน ไปกลับ 3,285 คน 7)เอราวัณ ค้างคืนได้ 742 คน ไปกลับ 2,030 คน 8)แก่งกระจาน ค้างคืนได้ 1,500 คน ไปกลับ 1,500 คน 9)หมู่เกาะสุรินทร์ ค้างคืนได้ 620 คน ไปกลับ 2,065 คน 10)หมู่เกาะสิมิลัน ค้างคืนได้ 180 คน ไปกลับ 1,410 คน การจำกัดจำนวนในครั้งนี้จะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางในช่วงเทศกาล ลดลงถึง 50% ส่วนช่วงวันธรรมดาจะทำให้ลดลง 20-30% ยอมรับว่ากระทบต่อรายได้การเก็บเข้าชมถึงครึ่ง จากที่เคยเก็บได้ 400 ล้านบาทต่อปี แต่เพื่อเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศภายใน จึงต้องคัดกรองนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพด้วย โดยในส่วนอุทยานแห่งชาติที่เหลือจะดำเนินการต่อไป โดยเริ่มจากที่มีคนมาเข้าไปเที่ยวมากๆ รองจากอุทยาน 10 แห่งที่ประกาศในวันนี้”
ดร.ทรงธรรม สุขสว่าง ผู้อำนวยการ ส่วนศึกษาและวิจัยอุทยานแห่งชาติ สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการจัดงานแถลงข่าวครั้งนี้ เปิดเผยว่า “ขีดความสามารถในการรองรับได้ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ (Carrying Capacity หรือ CC) คือระดับการใช้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งพื้นที่อุทยานแห่งชาติสามารถรองรับได้ โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติที่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ ทั้งยังสามารถให้ประสบการณ์นันทนาการที่มีคุณภาพ เป็นที่พึงพอใจแก่นักท่องเที่ยวได้ โดยในปัจจุบันอุทยานแห่งชาติได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวราคาถูก แต่ผลกระทบที่ตามมาคือความเสื่อมโทรมของอุทยานแห่งชาติหลายแห่ง โดยเฉพาะอุทยานยอดนิยมทรัพยากรถูกทำลายเป็นอย่างมาก อาทิ อุทยานแห่งชาติทางทะเล ปะการังถูกทำลายเสียหายหนัก ซึ่งถ้าหากมีการใช้ประโยชน์หรือการพัฒนามากไปกว่าที่กำหนดแล้ว มีโอกาสอย่างมากที่จะทำให้ทรัพยากรนันทนาการในพื้นที่เสื่อมโทรม ทั้งยังลดความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม การกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าไปในอุทยานแห่งชาติในครั้งนี้ถือว่าเป็นการประชาสัมพันธ์เชิงรุกเปิดเผย ความจริงให้สาธารณชนรับรู้ (The Truth of Carrying Capacity) เป็นการสร้างความรู้สึกร่วมของคนในสังคม ทำให้ลดผลกระทบที่เกิดจากพฤติกรรมด้านการท่องเที่ยวจะถูก ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมในการใช้ทรัพยากรนันทนาการที่เกิดจากการท่องเที่ยว นอกจากนี้ประเทศไทยยังถือเป็นผู้นำร่องแห่งแรกในเอเชียที่ประกาศตัว เพื่อกำหนดวางมาตรการขีดความสามารถในการรองรับด้านนันทนาการของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เพื่อลดผลกระทบความเสื่อมโทรมของทรัพยากร ธรรมชาติ และรองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของโลก ซึ่งประเทศไทยมีปัจจัยที่พร้อมและเหมาะสมสำหรับพื้นที่ ECO-TOURISM ตามความต้องการของกระแสโลกในปัจจุบัน” โดยผู้สนใจเรื่องการกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยว สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่โทรศัพท์ 02-5610777 ต่อ 746 ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
สอบถามรายะเอียดเพิ่มเติมได้ที่
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
โทรศัพท์ 081-6825779, 081-6285141

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ