ดีเอสไอเดินหน้าปรับโครงสร้าง

ข่าวทั่วไป Tuesday July 1, 2008 16:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ก.ค.--กระทรวงยุติธรรม
ดีเอสไอเดินหน้าปรับโครงสร้าง ตั้ง 11 สำนักคดีพิเศษรองรับงานที่เพิ่มขึ้น จัดคน จัดงาน หวังแก้ปัญหาสำคัญของประเทศให้ได้ พร้อมพัฒนาบุคลากรให้เป็นมืออาชีพ เสนอตั้งสถาบันพัฒนาการสอบสวนคดีพิเศษขึ้นมาหล่อหลอมระยะยาว และให้มีหน่วยคุ้มครองพยานในดีเอสไอ
“เกียรติศักดิ์ เชี่ยวชาญ ซื่อสัตย์” คือสโลแกนและคำขวัญที่เป็นความคาดหวังของประชาชนต่อคนทำงานในกรมสอบสวนคดีพิเศษ เรียกสั้น ๆ ว่า ดีเอสไอ (DEPARTMENT OF SPECIAL INVESTIGATION : DSI)ว่าจะสามารถอำนวยความยุติธรรมใน “คดีพิเศษ” ที่ผู้กระทำผิดนั้น “ไม่ธรรมดา” เพราะมักเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพล แก๊งอาชญากรรมข้ามชาติ ฯลฯ ให้เกิดขึ้นได้อย่างมืออาชีพที่ได้รับการยอมรับและเชื่อมั่น ซึ่งที่ผ่านมาได้เข้าดำเนินคดีพิเศษมากกว่า 400 คดี และสามารถเรียกคืนผลกระโยชน์กลับคืนได้กว่า 105 คดีรวมมูลค่ากว่า 44,000 ล้านบาท
แต่อย่างไรก็ตามสำหรับหน่วยงานที่เพิ่งมีอายุเพียง 5-6 ปี จำเป็นต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาในทุกแนวทาง โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างให้สอดรับกับสถานการณ์และภาระงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งต้องเขย่าและหล่อหลอมทั้งคนและงาน สร้างทัศนคติและวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งมั่นสู่เป้าหมายเดียวกัน
โดยในเรื่องนี้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า จากการระดมความคิดเห็นของบุคลากรในกรมสอบสวนคดีพิเศษรวมทั้งหน่วยงานอื่นเกี่ยวข้อง ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นและแนวทางในการปรับปรุงโครงสร้างและภารกิจของกรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 6-8 มิถุนายนที่ผ่านมา เห็นควรให้มีการพัฒนาโครงสร้างกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อให้สามารถดำเนินการแก้ปัญหาสำคัญ ๆ ของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะคดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ที่ต้องปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับเศรษฐกิจให้สามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้มากขึ้น รวมทั้งคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ คดีที่ใช้เทคโนโลยีสูง คดีเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน การค้ามนุษย์ การฉ้อโกงประชาชน การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และเรื่องความมั่นคงของประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นองค์กรอาชญากรรมที่อาศัยเครือข่ายกว้างขวาง
การปรับครั้งนี้มีมิติสำคัญ ด้านบุคลากรที่เน้นการจัดสรรคนดีเอสไอรวมทั้งผู้บรรจุใหม่ให้ลงในหน้างานปฎิบัติการสืบสวนสอบสวนให้มากขึ้น พัฒนากลุ่มเทคนิคการสืบสวนสอบสวนใหม่ ๆ โดยตั้งสำนักคดีพิเศษ 11 สำนักขึ้นมาดูแล จัดระบบข้อมูลที่ชัดเจนและแม่นยำ เป็นหัวใจของงานสอบสวน รวมทั้งจัดให้มีหน่วยคุ้มครองพยานขึ้นในกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพราะพยานในคดีพิเศษจะเป็นผู้แฉหรือให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวผู้มีอิทธิพล พยานจึงเป็นบุคคลที่มีเกียรติและเสียสละควรได้รับการดูแลที่ดี
ขณะเดียวกันให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์การทำงานร่วมกันระหว่างดีเอสไอกับภาคีทั้งภาครัฐและประชาชนเพื่อแก้ไขปัญหาส่วนรวมของประเทศ รวมทั้งยุทธศาสตร์การทำงานระหว่างประเทศ โดยมีคณะกรรมการคดีพิเศษ ช่วยสร้างมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับ และจัดให้มีสถาบันพัฒนาการสอบสวนคดีพิเศษหรือโรงเรียนการสอบสวนพิเศษขึ้นเพื่อหล่อหลอมและยกระดับมาตรฐานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ
มีการปรับปรุง สร้างทัศนคติและวัฒนธรรมของกรมสอบสวนคดีพิเศษ พัฒนาให้บุคลากรของกรมสอบสวนคดีพิเศษทุกคนเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต ให้ความยุติธรรม มีความเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ซึ่งทุกคนต้องช่วยกันสร้าง และทำให้ดีเอสไอจะเป็นหน่วยงานที่มีความเป็นอิสระในการสั่งหรือพิจารณาคดีพิเศษให้เป็นไปตามข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน ข้อกฎหมาย
เชื่อมั่นว่าภายหลังปรับโครงสร้างและมีการคัดเลือกคนเก่งที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเข้าสู่โครงสร้างใหม่นี้ จะสามารถแก้ปัญหาสำคัญของประเทศที่เป็นคดีพิเศษได้เข้มข้นและมีประสิทธิภาพดีกว่าเดิม ภายใต้การบริหารอัตรากำลังที่กรมสอบสวนคดีพิเศษมีอยู่และรอบรรจุใหม่อีก 400 คน ให้มีศักยภาพสูงสุดและรองรับภารกิจได้อย่างดี
“เรามีหลักคิดว่า คนที่มาเป็นดีเอสไอต้องเป็นคนที่มีความรู้ เชี่ยวชาญและสามารถมีเครือข่ายที่จะร่วมมือกับภาครัฐในหน่วยบังคับใช้กฎหมายด้วยกัน หรือหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบบางปัญหาเช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ตั้งความหวังไว้ว่า 1 คนจะสามารถรวมพลังได้ 100 คนจากบุคคลภายนอกที่จะมาร่วมกันแก้ปัญหา และเมื่อผสานกับบางยุทธวิธีที่ให้ภาคประชาชนเข้ามาร่วมทำและตรวจสอบการทำงานของทั้งดีเอสไอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมอื่นเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ และโปร่งใส ก็จะทำให้งานของดีเอสไอสำเร็จ” พ.ต.อ.ทวี กล่าว
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า คาดว่าในอีก 5 เดือนจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน โดยเฉพาะการคัดเลือกคนให้รองรับกับสถานการณ์อาชญากรรมปัจจุบัน รวมทั้งงานพัฒนาบุคลากร โดยอาจมีการจัดหลักสูตรให้คนดีเอสไอที่อาจจะแยกภารกิจกันอยู่ได้มาหล่อหลอมทำงานร่วมกันในเป้าหมายคดีบางประเภท เช่น คดีการบุกรุกที่ดินหรือป่าไม้ หรือ คดีการทุจริตเกี่ยวกับงบประมาณของรัฐ หรือคดีการทุจริตฉ้อโกงภาคประชาชน เป็นต้น
ด้านนายภิญโญ ทองชัย รองอธิบดีดีเอสไอ ในฐานะประธานคณะทำงานแบ่งส่วนราชการของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้รายละเอียดว่า ในส่วนของโครงสร้างใหม่ที่แบ่งออกเป็น 11 สำนักคดีพิเศษนั้น ได้กำหนดกรอบงานไว้กว้าง ๆ คือ สำนักฯ1-4 ดูแลคดีด้านเศรษฐกิจ, สำนักฯ 5-7 ดูแลคดีด้านความมั่นคง, สำนักฯ 8-9 ดูแลคดีด้านสิ่งแวดล้อมและการคุ้มครองผู้บริโภค, สำนักฯ 10 ดูแลคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ และสำนักฯ 11 ดูแลด้านอาชญากรรมที่มีการใช้เทคโนโลยีสูง ๆ ซึ่งภายใต้โครงสร้างใหม่นี้จะทำให้การทำงานมีความยืดหยุ่นและคล่องตัวมากขึ้น
ขณะเดียวกันได้พัฒนากลไกรองรับภารกิจที่เพิ่มขึ้นโดยมีสำนักยุทธศาสตร์ รีเช็คเพื่อทำหน้าที่ กำหนดยุทธศาสตร์ แนวทาง กลั่นกรองงานของดีเอสไอให้เกิดความสมดุล ให้มีสำนักบริหารคดีและกฎหมาย เป็นกลไกในการควบคุมการทำงานของพนักงานสอบสวนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งสร้างกลไกการทำงานเชิงคุณภาพของงานสอบสวนคดีพิเศษ ด้วยการรวมงานด้านการข่าว การสืบสวน การสะกดรอย การใช้เทคโนโลยี การสืบสวนเชิงลึก เข้ามาเป็นกลุ่มงานปฏิบัติการทางด้านเทคโนโลยีการสืบสวน และเพื่อให้กรมสอบสวนคดีพิเศษสามารถบรรลุวิสัยทัศน์ ของการพัฒนาเพื่อสถาบันที่มีความเชี่ยวชาญด้านคดีพิเศษ การปรับโครงสร้างครั้งนี้ยังได้จัดตั้งสถาบันพัฒนาการสืบสวนสอบสวนขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่พัฒนาบุคลากรของดีเอสไอให้บรรลุวิสัยทัศน์ดังกล่าว
นายภิญโญ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเปลี่ยนแปลงนี้จะทำให้การทำงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตรงตามเจตนารมณ์ของการก่อตั้ง และสามารถตอบสนองได้ทั้งเรื่องการถ่วงดุลในกระบวนการยุติธรรม และความเป็นวิชาชีพได้อย่างเหมาะสม การปรับโครงสร้างดีเอสไอครั้งนี้ จึงเป็นอีกก้าว...เพื่อขจัดอาชญากรรม อำนวยความยุติธรรมให้ผู้เดือดร้อน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ