กรุงเทพฯ--24 ม.ค.--ก.ล.ต.
ก.ล.ต. ร่วมกับสภาวิชาชีพบัญชี กำหนดแนวปฏิบัติให้ถูกต้อง เกี่ยวกับการบันทึกบัญชีเงินลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วม สำหรับกรณีที่บริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมถือหุ้นไขว้กลับไปในบริษัทใหญ่
ตามที่มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 45 เรื่อง การบัญชีสำหรับเงินลงทุนในบริษัทร่วม ได้กำหนดวิธีบันทึกบัญชีสำหรับเงินลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วม (คือบริษัทใหญ่ถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละ 50 และ 20 ตามลำดับ) ตามวิธีส่วนได้เสียไว้ แต่มีกรณีหนึ่งที่ยังมิได้มีการตีความชัดเจน กล่าวคือกรณีที่บริษัทใหญ่ซึ่งเป็นบริษัท
จดทะเบียนถือหุ้นในบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วม และบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมก็ถือหุ้นไขว้กลับในบริษัทใหญ่ด้วยนั้น เวลาหุ้นของบริษัทใหญ่ราคาเปลี่ยนไป บริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมก็จะบันทึกกำไรขาดทุนจากการ mark to market ซึ่งเป็นเรื่องถูกต้อง แต่เกิดปัญหาว่าในการจัดทำงบการเงินรวม บริษัทใหญ่จะนำกำไรขาดทุนของบริษัทย่อยและบริษัทร่วมเข้ามารวมแสดงเป็นกำไรของบริษัทใหญ่เองด้วย จะเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทใหญ่บันทึกกำไรขาดทุนที่เกิดขึ้นจากราคาหุ้นของตนเองที่เปลี่ยนไป ซึ่งไม่ถูกต้อง นั้น
ก.ล.ต. จึงได้ร่วมกับสภาวิชาชีพบัญชี กำหนดแนวปฏิบัติในเรื่องนี้ให้ชัดเจนว่า เมื่อบริษัทใหญ่แสดงเงินลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมตามวิธีส่วนได้เสีย บริษัทใหญ่จะต้องตัดกำไรขาดทุนที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง ที่บริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมบันทึก จากการ mark to market หุ้นของบริษัทใหญ่เองออกไป จะบันทึกได้เฉพาะกำไรขาดทุนที่เกิดขึ้นการจากการที่บริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมได้ขายหุ้นของบริษัทใหญ่ออกไปแล้วจริง ๆ เท่านั้น
ทั้งนี้ หากบริษัทใดมีการบันทึกบัญชีไม่เป็นไปตามความเห็นดังกล่าว ขอให้ดำเนินการแก้ไขข้อผิดพลาด
ทันที โดยใช้วิธีปรับย้อนหลังเพื่อให้ข้อมูลเปรียบเทียบในงบการเงินงวดปัจจุบันถูกต้อง นอกจากนี้ ในกรณีที่บริษัทย่อยถือหุ้นไขว้กลับในบริษัทใหญ่ บริษัทใหญ่ยังคงต้องปฏิบัติตามแนวปฏิบัติทางการบัญชีเกี่ยวกับหุ้นทุนซื้อคืน ด้วย
แม้ว่า ก.ล.ต. ตรวจพบว่าบริษัทจดทะเบียนที่ปฏิบัติเช่นนี้ในปี 2547 มีจำนวนน้อย แต่ก็เห็นว่าจำเป็นต้องกำหนดมาตรการดังกล่าว เพื่อช่วยป้องกันการแต่งบัญชีของบริษัทจดทะเบียนที่เกิดขึ้นเพียงจากการที่ราคาหุ้นของตนเองเคลื่อนไหว และเป็นการยกมาตรฐานการปฏิบัติบัญชีของประเทศโดยรวม--จบ--