กทช. เปิดเสวนาร่วม ทศท-TT&T หลังศาลปกครองชี้ขาดอำนาจกำกับดูแลอยู่ที่ กทช.

ข่าวทั่วไป Friday May 27, 2005 08:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 พ.ค.--กทช.
กทช. เปิดเวทีเสวนา "คำสั่งศาลปกครอง "หารือร่วม ทศท. ทีทีแอนด์ที วางแนวทางปฏิบัติในส่วนอำนาจของ กทช.หลังศาลปกครองพิพากษาให้ บมจ.ทศท.ระงับการใช้อำนาจกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคม
นายสุธรรม อยู่ในธรรม กรรมการกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า สำนักงาน กทช. ได้จัดเสวนา เรื่อง "คำพิพากษาศาลปกครอง กับการใช้อำนาจกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมตามสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุน" ซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับคำพิพากษาศาลปกครอง คดีหมายเลขที่ 488/2548 เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ระหว่าง บริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน)(ผู้ฟ้องคดี) กับ บริษัท ทศท.คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งศาลตัดสินให้ผู้ถูกฟ้องคดีระงับการใช้อำนาจกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมตามสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนในส่วนซึ่งเป็นอำนาจของ กทช.
โดยให้ผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีหารือกับ กทช.เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติว่าข้อตกลงใดในสัญญาร่วมการงานฯเป็นการใช้อำนาจกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมซึ่งเป็นอำนาจของ กทช. ในการนี้จึงได้จัดเวทีเสวนา โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมตามสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุน ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมต่างๆ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายปกครองและสัญญาทางปกครอง ร่วมถึงผู้สนใจเข้าร่วมการเสวนาดังกล่าว เพื่อแสดงความคิดเห็นมีจำนวนประชาชนและผู้สนใจยืนยันเข้าร่วมงานเสวนาครั้งนี้ประมาณ 200 ท่าน
ผลจากการตีความของศาลปกครองระบุว่า สัญญาร่วมการงานฯ ศาลเห็นว่า เมื่อมี พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 มาตรา 51 มีบทบัญญัติให้ กทช. มีอำนาจพิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคม และมาตรา 78 วรรคสี่ บัญญัติให้การประกอบกิจการโทรคมนาคมของ ทศท. รวมทั้งผู้ที่ได้รับการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาจาก ทศท.ให้อยู่ในการกำกับดูแลของ กทช.ดังนั้น อำนาจของ ทศท.ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมจึงหมดสิ้นไปโดยผลของกฎหมาย
เมื่อ กทช.เกิดขึ้นแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องออกคำบังคับให้ ทศท.โดยอำนาจกำกับดูแลดังกล่าวมาเป็นของ กทช.อีก เมื่ออำนาจกำกับดูแลของ ทศท.ได้โอนมาเป็นของ กทช. โดยผลของกฎหมายแล้ว เป็นผลให้ข้อตกลงใดในสัญญาร่วมการงานฯที่เป็นอำนาจกำกับดูแลของ กทช. ข้อตกลงนั้นไม่มีผลผูกพันคู่สัญญาอีกต่อไป ส่วนข้อตกลงใดที่มิใช่เป็นการใช้อำนาจกำกับดูแลของ กทช. ข้อตกลงนั้นยังคงมีผลผูกพันคู่สัญญาที่ต้องปฏิบัติตามต่อไป
สำหรับความเป็นมา ข้อเท็จจริงในคดี สืบเนื่องจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) เป็นรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดย พรบ.องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๗ มีอำนาจหน้าที่ประกอบกิจการโทรศัพท์แต่เพียงผู้เดียว โดยจะให้บุคคลอื่นเข้ามาร่วมการงานกับ ทศท.เพื่อประโยชน์แห่งกิจการของ ทศท.ก็ได้ และเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2535 ทศท.ได้ทำสัญญาร่วมการงานฯกับ ทีทีแอนด์ทีฯ เพื่อขยายบริการโทรศัพท์ในเขตภูมิภาค จำนวน 1 ล้านเลขหมาย มีกำหนด 25 ปี นับตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2537 หลังจากนั้นคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้แปลงสภาพ ทศท. เป็นบริษัท ทศท.คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ตาม พรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 โดยการโอนกิจการ หนี้ ความรับผิด และสินทรัพย์ทั้งหมดของ ทศท.ไปเป็นของ บมจ. ทศท.(ตามมาตรา 24 พรบ.ทุนฯ)และได้มี พรฎ กำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2497 ตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค.2545 เป็นต้นไป และได้มีการจดทะเบียบบริษัท เมื่อวันที่ 31 ก.ค.2545
คำขอของผู้ฟ้องคดี ทีทีแอนด์ที ในการขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง คือ 1.ให้ทศท. ปฏิบัติตามสัญญาข้อ 37 โดยให้โอนอำนาจหน้าที่อันเป็นของ ทศท.ตามสัญญาร่วมการงานฯ รวมทั้งอำนาจในการกำหนดมาตรฐานการบำรุงรักษาในส่วนที่มิได้โอนไปยัง กทช. โดยผลของกฎหมายให้ไปเป็นของกระทรวงคมนาคม ซึ่งปัจจุบันอำนาจหน้าที่ตามสัญญาร่วมการงานฯ ได้โอนไปยังกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแล้ว จึงให้โอนอำนาจดังกล่าวไปเป็นของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารภายในระยะเวลาตามที่ศาลเห็นควร และ 2. ให้ ทศท. ระงับการให้อำนาจหน้าที่ตามสัญญาร่วมการงานฯอันเป็นการขัดแย้งกับเจตนารมณ์ในข้อ 37 ของข้อสัญญาดังกล่าว นอกจากนี้ยังขอให้ศาลกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองชั่วคราวเพื่อบรรเทาทุกข์ก่อน พิพากษา โดยมีคำสั่งห้ามมิให้ ทศท.ใช้อำนาจตามสัญญาร่วมการงานฯในการกำกับดูแลการประกอบกิจการของ ทีทีแอนด์ที ตามข้อ 24 ของสัญญาดังกล่าว โดยให้ ทศท. งดเว้นการเข้าไปตรวจสอบหรือขอข้อมูลการดำเนินงาน การเงิน การบัญชี รวมทั้งางด้านเทคนิคของ ทีทีแอนด์ที ไว้ชั่วคราวจนกว่าคดีจะสิ้นสุด--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ