ดร.แซ็กเชมเบอร์ ออร์เคสตร้า เส้นเสียงเครื่องสาย เยาวชนไทยในเวทีโลก

ข่าวทั่วไป Thursday July 3, 2008 12:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ก.ค.--มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข
คณะเยาวชนวงดนตรีดร.แซ็กเชมเบอร์ออร์เคสตร้า เตรียมโชว์ศักยภาพด้านดนตรี สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยบนเวทีโลกอีกครั้ง โดยเป็นหนึ่งในวงดนตรีจากทั่วโลกที่ได้รับคัดเลือกจากสมาคมเพื่อการศึกษาดนตรีนานาชาติให้เข้าร่วมแสดงดนตรีในงานประชุมดนตรีระดับโลกครั้งที่ 28 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 20 ถึง 25 กรกฎาคมนี้ ณ เมืองโบลอนญ่า ประเทศอิตาลี นับเป็นเวทีแห่งโอกาสที่จะผลักดันให้ทั่วโลกได้รู้จักเพลงไทย ความเป็นไทย ด้วยพลังความสามารถทางดนตรีของเด็กไทย
เวียนมาบรรจบอีกครั้งสำหรับ งานประชุมดนตรีระดับโลก ครั้งที่ 28 (The 28th World Conference of The International Society for Music Education “ISME 2008”) ซึ่งในปีนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 ถึง 25 กรกฎาคม ณ เมืองโบลอนญ่า ประเทศอิตาลี โดยสมาคมเพื่อการศึกษาดนตรีนานาชาติ (International Society for Music Education, ISME) ทั้งนี้จุดเด่นของงานคือเป็นการรวมตัวของเหล่าขุนพลนักดนตรีตั้งแต่ระดับภูมิภาคจนถึงระดับโลกเพื่อมาแลกเปลี่ยนความรู้และความสามารถทางด้านดนตรี และเป็นที่น่ายินดียิ่งเมื่อสมาคมฯได้คัดเลือกวงดนตรี ดร.แซ็กเชมเบอร์ ออร์เคสตร้า หนึ่งเดียวในฐานะตัวแทนประเทศไทยให้เข้าร่วมแสดงดนตรีในรูปแบบ Thai Contemporary Music บนเวทีการแสดงดนตรีร่วมกับตัวแทนวงดนตรีจากทั่วโลก
รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข ผู้อำนวยการวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประธานมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข กล่าวว่า วงดนตรี ดร.แซ็กเชมเบอร์ ออร์เคสตร้า ( Dr.Sax Chamber Orchestra) เป็นวงดนตรีที่เกิดจากการรวมตัวของเยาวชนที่มีใจรักในเสียงเพลง ภายใต้โครงการวิจัยพรสวรรค์ ของ รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข ซึ่งก่อตั้งเมื่อเดือนมีนาคมปี 2540 ซึ่งผลงานที่ผ่านมาวงดนตรีมีประสบการณ์แสดงดนตรีกับศิลปินไทยและศิลปินต่างชาติที่มีชื่อเสียงมาแล้วมากกว่าร้อยคอนเสิร์ต ผลงานที่โดดเด่น คือ การได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดดนตรีนานาชาติ ณ เมืองอินเทอลาเค้น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเดือนกันยายน ปี 2548 ที่ผ่านมา และในปีนี้นับเป็นโอกาสดียิ่งที่เยาวชนไทยจะได้โชว์ฝีมืออวดสู่สายตาประชาคมโลกอีกครั้ง
“งานประชุมดนตรีโลกนับเป็นงานที่มีความยิ่งใหญ่เพราะได้รวมคนดนตรี นักวิชาการดนตรี และนักดนตรีที่มีฝีมือจากทั่วโลก ดังนั้นการที่วงดนตรีดร.แซ็กเชมเบอร์ ออร์เคสตร้า ได้รับเชิญเข้าร่วมแสดงในฐานะตัวแทนประเทศไทยจึงนับเป็นเกียรติอย่างมาก และที่พิเศษยิ่งกว่านั้น คือ ดร.แซ็กเชมเบอร์ ออร์เคสตร้า ได้รับเชิญให้เข้าร่วมแสดงถึง 2 รายการ คือรายการปกติความยาว 35 นาที และการแสดงในรูปแบบคอนเสิร์ตที่มีความยาวถึง 70 นาที โดยจะได้แสดงเป็นวงสุดท้ายในช่วงเวลาประมาณ 21.00 น. ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีมาก”
รศ.ดร.สุกรี กล่าวว่า สำหรับความพิเศษของวงดนตรีดร.แซ็กเชมเบอร์ ออร์เคสตร้า ที่นานาชาติจะได้เห็นจากการแสดงครั้งนี้คือ ความเป็นวงดนตรีระดับเยาวชนที่มีศักยภาพเทียบเท่ามืออาชีพ และแม้จะเป็นเครื่องสายสากลแต่จะนำเสนอด้วยบทเพลงไทยรวมทั้งเล่นร่วมกับเครื่องดนตรีไทย
“การแสดงครั้งนี้จะมีเดี่ยวจะเข้ร่วมกับวงออร์เคสตร้าในบทเพลงกราวใน เพลงหน้าพาทย์ที่มีลักษณะทำนองแสดงความองอาจ สง่างาม เต็มไปด้วยความฮึกเหิม และการเดี่ยวเชลโลร่วมกับวงออร์เคสตร้า ในบทเพลงนกขมิ้น เพลงไทยหวานซาบซึ้งทั้งเนื้อร้องและทำนองในรูปแบบสากล นอกจากนี้ยังมีบทเพลงไทยที่มีความสำคัญ อาทิ เพลงพระราชนิพนธ์แสงเทียน เพลงศรีอยุธยา เพลงกฤดาภินิหาร เพลงแขกเชิญเจ้า รวมถึงเมดเล่สำเนียงภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคอีสาน ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตวัฒนธรรมของคนไทย และอวดเสน่ห์ความเป็นไทยที่ผสมผสานกับเครื่องสายสากลได้อย่างกลมกลืน สำหรับในส่วนเพลงปิดท้าย วงดนตรีเลือกเพลง Serenade E-dur f?r Streichorestra, Op. 22 บทเพลงที่มีชื่อเสียงของ อันโตนิน ดโวชาค เพื่อแสดงให้เห็นได้ว่า ดร.แซ็กเชมเบอร์ ออร์เคสตร้า สามารถเล่นได้ทั้งเพลงไทยและเพลงคลาสสิกอย่างดีเยี่ยม”
ด้านร้อยเอกประทีป สุพรรณโรจน์ ผู้อำนวยเพลงและผู้เรียบเรียงเพลงประจำวง ดร.แซ็กเชมเบอร์ ออร์เคสตร้า กล่าวถึงบทเพลงไทยที่นำไปแสดงครั้งนี้ว่า บทเพลงไทยทุกบทเพลงมีความสำคัญและสื่อถึงความเป็นไทยได้อย่างดี โดยทุกเพลงที่นำมาใช้ในวงออร์เคสตร้าได้มีการนำมาประพันธ์ เรียบเรียงเสียงใหม่ให้เป็นมาตรฐานสากล ยิ่งเฉพาะบทเพลงกราวใน ที่ใช้ในการแสดงเดี่ยวจะเข้ร่วมกับวงออร์เคสตร้านั้น มีการประพันธ์เรียบเรียงเสียงนานถึง 3 ปี
“ เพลงกราวใน เดิมเป็นเพลงหน้าพาทย์ที่ประกอบอากัปกิริยาของตัวละครฝ่ายยักษ์ มีอัตราจังหวะสองชั้น ใช้ประกอบการยกทัพตรวจของเทพฝ่ายลงกา เพื่อสื่อความหมายถึงการเสด็จมาของเจ้าฝ่ายอสูร ซี่งทางวงได้มีการนำมาเรียบเรียงใหม่ให้มีลักษณะเหมือนการประชันระหว่างจะเข้และวงออร์เคสตร้า ซึ่งความยากคือการปรับทางเสียงของจะเข้และออร์เคสต้าซึ่งมีความแตกต่างอย่างมากให้มาบรรจบกันอย่างลงตัว นอกจากนี้ยังได้มีการนำเพลงพื้นบ้านซึ่งเป็นที่รู้จักดีจากทั้งสามภาคมาเรียบเรียงเสียงใหม่ โดยในเพลงเมดเล่สำเนียงภาคเหนือ ประกอบด้วย เพลงฤาษีหลงถ้ำ ฟ้อนสาวไหม ปราสาทไหว ส่วนเพลงเมดเล่สำเนียงภาคใต้ นำเสนอความโดดเด่นของ“ดนตรีร็องเง็ง” ผ่านเพลงลากูดูวอ เพลงปราคำเปา เพลงบุหงารำไป สำหรับเพลงเมดเล่สำเนียงภาคอีสาน ประกอบด้วยเพลง เพลงเซิ้ง แห่ปราสาทผึ้ง แว่วเสียงโปงลาง แหย่ไข่มดแดง ซึ่งล้วนมีท่วงทำนองเพลงคึกคัก สนุกสนาน สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตชาวอิสานได้เป็นอย่างดี และแม้ทุกบทเพลงจะถูกเรียบเรียบเสียงใหม่ให้เหมาะกับเครื่องสายสากล ทว่าเสียงเพลงที่ได้ยินก็ยังคงเสน่ห์และเอกลักษณ์ของความเป็นไทย”
นาวสาวผ่องพรรณ อังคสุภณ หัวหน้าวงดร.แซ็กเชมเบอร์ ออร์เคสตร้า กล่าวถึงความเตรียมพร้อมในการเดินทางไปแสดงในงานประชุมดนตรีโลกครั้งนี้ว่า ขณะนี้สมาชิกทุกคนในวงต่างทุ่มเทฝึกซ้อมกันอย่างหนัก โดยภายในหนึ่งอาทิตย์จะซ้อมกัน 2 วัน เฉลี่ยวันละ 3-4 ชั่วโมง และจะเพิ่มตารางการซ้อมมากขึ้นเมื่อใกล้เวลา ทั้งนี้เพราะปกติเมื่อขึ้นเวทีความมั่นใจจะลดลงไป 20-50% เพราะฉะนั้นสมาชิกทุกคนจึงต้องซ้อมอย่างเต็มที่ เล่นจนชำนาญให้มีความมั่นใจในระดับ 150-180 % เพื่อให้เวลาขึ้นเวทีจะได้เต็มที่ 100 % โดยการได้รับโอกาสที่ดีในครั้งนี้นับเป็นความภาคภูมิใจซึ่งสมาชิกทุกคนในวงจะทำให้ดีที่สุดเพื่อให้ชาวต่างชาติประทับใจและเห็นถึงฝีมือความสามารถของนักดนตรีจากประเทศไทย
ส่วน นางสาวอรนาถ จันทรโอภากร ผู้บรรเลงเดี่ยวจะเข้ร่วมกับวงออร์เคสตร้าในบทเพลงกราวใน กล่าวว่า การแสดงครั้งนี้นับเป็นตัวแทนทางดนตรีที่จะเชื่อมให้เห็นถึงการผสมผสานระหว่างความเป็นไทยและความเป็นสากลได้อย่างกลมกลืน โดยส่วนตัวในฐานะมือเดี่ยวจะเข้ขณะนี้ได้พยายามฝึกซ้อมอย่างเต็มที่ เพราะแม้ว่าการเล่นจะเข้ในบทเพลงกราวในจะยึดถือการเล่นตามโน้ตดนตรีไทยแบบเดิม แต่การออกแบบการเล่น การกำหนดเสียงหนักเบา เพื่อให้กลมกลืนสอดประสานกับเสียงรับของวงออร์เคสตร้านั้น ถือว่าเป็นโจทย์ที่ยากทีเดียว ต้องอาศัยทักษะ การฝึกซ้อม และเข้าถึงอารมณ์ของบทเพลง เพื่อถ่ายทอดออกมาให้ไพเราะที่สุด และเชื่อว่าการแสดงครั้งนี้จะช่วยเผยแพร่ให้ชาวต่างชาติได้รู้จักเครื่องดนตรีไทยมากขึ้น
ขณะที่ นางสาวปุญญวาสน์ มโนมัยพิบูลย์ สมาชิกวงดร.แซ็กเชมเบอร์ ออร์เคสตร้า ตำแหน่งไวโอลิน 2 กล่าวว่า การได้ไปแสดงดนตรีในเวทีโลกครั้งนี้ ไม่เพียงเป็นประตูบานหนึ่งที่ทำให้เธอก้าวสู่ความเป็นมืออาชีพในระดับนานาชาติ ทว่าดนตรียังมีคุณค่าสอนให้รู้จักทักษะการใช้ชีวิต
“ดนตรีให้อะไรหลายอย่างๆกับชีวิต ทำให้รู้จักการใช้เวลาว่างอย่างมีประโยชน์ การฝึกซ้อมที่หนักสอนให้รู้จักการแบ่งเวลา มีวินัย มีสมาธิ การรวมวงต้องใช้ความสามัคคี ความอดทน ความเข้าใจซึ่งกันและกัน จึงเกิดความพร้อมเพรียง ที่สำคัญคือ วงดร.แซ็กเชมเบอร์ ออร์เคสตร้า สอนให้ทุกคนมีความมุ่งมั่น ทุ่มเท และกล้าที่จะเดินไปสู่จุดหมายอย่างมั่นคง ด้วยความเชื่อที่ว่าพรสวรรค์เป็นสิ่งที่สร้างได้ หากเรารักและทำให้ดีที่สุด ” มือไวโอลินประจำวงกล่าวทิ้งท้ายด้วยความมุ่งมั่น
เวทีแห่งโอกาสและความภาคภูมิใจของ วงดร.แซ็กเชมเบอร์ ออร์เคสตร้า ที่จะทำให้ทั่วโลกได้รู้จักเพลงไทย ยกระดับเพลงไทยสู่สากล ด้วยพลังความสามารถทางดนตรีของเยาวชนไทย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข โทร 0-2270-1350-4 ต่อ 110 หรือ iandihome@gmail.com

แท็ก สุกร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ