กรุงเทพฯ--3 ก.ค.--ธนาคารเอชเอสบีซี
***ปรับความเห็นจาก “ลดน้ำหนัก” ขึ้นมา “เป็นกลาง”***
***ลดน้ำหนักการถือเงินสด และ ตลาดหุ้นจีนเริ่มคึกคัก***
ธนาคารเอชเอสบีซี เผยผลสำรวจความคิดเห็นบริษัทจัดการกองทุนชั้นนำ 12 แห่ง1 พบว่าส่วนใหญ่เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ เพราะปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของเอเชียยังคงแข็งแกร่ง ส่วนกลยุทธ์การจัดสรรเงินลงทุนในตลาดตราสารต่างๆ พบว่าผู้จัดการกองทุนได้ปรับความเห็นจาก “ลดน้ำหนัก” ขึ้นมา “เป็นกลาง” สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้น และปรับลดน้ำหนักในการถือเงินสด
ผลสำรวจความคิดเห็นของผู้จัดการกองทุนชั้นนำทั้ง 12 แห่งที่ธนาคารเอชเอสบีซีจัดทำ ประจำไตรมาส 2/2008 มีสาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้
- มีเพียงร้อยละ 10 ของกลุ่มสำรวจที่ยังคงลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้น (เทียบกับร้อยละ 38 จากการสำรวจในไตรมาส 1/2008) และร้อยละ 60 มีความเห็นเป็นกลาง (เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 38 ในการสำรวจคราวก่อน)
- มีผู้จัดการกองทุนจำนวนน้อยลงที่คงให้น้ำหนักกับการถือเงินสด โดยลดลงจากร้อยละ 63 ของกลุ่มสำรวจในไตรมาสก่อนหน้า เหลือเพียงร้อยละ 30 ในการสำรวจคราวนี้
- ผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่เริ่มให้น้ำหนักกับการลงทุนในตลาดหุ้นจีน (Greater China) เพิ่มขึ้น โดยกลุ่มสำรวจที่เพิ่มน้ำหนักการลงทุน เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 75 ในไตรมาสก่อนหน้า มาเป็นร้อยละ 86 ในไตรมาส 2/2008 และเกินกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มสำรวจ หรือร้อยละ 56 ยังคงให้น้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมตลาดญี่ปุ่น) ซึ่งลดลงจากไตรมาสก่อนหน้านี้ ที่ผู้จัดการกองทุนทุกรายมีความเห็นเดียวกันนี้อย่างเป็นเอกฉันท์ นอกจากนี้ร้อยละ 44 ของกลุ่มสำรวจได้ลดการลงทุนในตลาดหุ้นภูมิภาคนี้ โดยปรับความเห็นจาก “เพิ่มน้ำหนัก” ลงมาเหลือ “เป็นกลาง” ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นเกิดใหม่ เริ่มมีสัญญาณชะลอตัวลง โดยร้อยละ 20 ของกลุ่มสำรวจลดน้ำหนักการลงทุนในภูมิภาคนี้ (เทียบกับร้อยละ 0 จากการสำรวจครั้งก่อน)
ผู้จัดการกองทุนโดยทั่วไปมีความเห็นว่าตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรปมีความน่าสนใจน้อยลง ซึ่งสะท้อนให้เห็นความกังวลเรื่องผลกระทบของภาวะวิกฤติสินเชื่อที่อาจลุกลามต่อไปสู่เศรษฐกิจภาคอื่นๆ
มร. บรูโน ลี ผู้อำนวยการบริหาร แผนกบริหารความมั่งคั่ง ฝ่ายบุคคลธนกิจ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ธนาคารเอชเอสบีซี กล่าวว่า “ความเห็นของผู้จัดการกองทุนในกลุ่มสำรวจที่เริ่มหันกลับมาให้ความสนใจตลาดหุ้นเอเชียอีกครั้ง สะท้อนให้เห็นว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ยังคงแข็งแกร่งอยู่ แม้ในระยะสั้น ภาวะเงินเฟ้อ เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง และจิตวิทยานักลงทุนอาจส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นบ้าง แต่ก็ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจของเอเชียจะยังคงเข้มแข็งด้วยอุปสงค์ภายในประเทศและอัตราค่าจ้างที่ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับจีน ในระยะอันใกล้นี้ ความกังวลที่มีต่อแนวนโยบายของรัฐบาลจีนในเรื่องปัญหาเงินเฟ้อ อาจมีอิทธิพลต่อจิตวิทยานักลงทุนบ้าง แต่ในระดับโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ จีนยังมีความมั่นคงแข็งแกร่งอยู่”
ด้านตลาดพันธบัตร ผู้จัดการกองทุนยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่บ้าง เช่นเดียวกับการสำรวจครั้งก่อน โดยไม่มีความเห็นสรุปแน่ชัดเรื่องการจัดสรรเงินลงทุน อย่างไรก็ตาม ตลาดพันธบัตรยุโรปยังคงมีความน่าสนใจที่สุด โดยร้อยละ 40 ของกลุ่มสำรวจให้น้ำหนักการลงทุนสูง ที่น่าสนใจคือ ผู้จัดการกองทุนที่ลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดพันธบัตรสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐมีจำนวนมากขึ้น (เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 50 จากร้อยละ 25 ในไตรมาสก่อนหน้า) ซึ่งความเห็นดังกล่าวสะท้อนว่าตลาดไม่คิดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับลดดอกเบี้ยอีก
กระแสเงินลงทุนสุทธิ ในไตรมาส 1/2008
นอกจากนี้ ธนาคารเอชเอสบีซียังได้สำรวจและติดตามความเคลื่อนไหวของกระแสเงินลงทุนทั่วโลก (Global fund flows) เป็นรายไตรมาสอีกด้วย โดย ณ สิ้นไตรมาสแรกของปีนี้ ปริมาณเงินทุนภายใต้การบริหารของบริษัทจัดการกองทุนที่ร่วมในการสำรวจทั้ง 12 แห่ง คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 4.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 18 ของยอดเงินทุน ณ สิ้นปี 2007 ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 26.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ข้อมูลจาก Investment Company Institute)
ยอดเงินทุนไหลออก ณ สิ้นไตรมาส 1/2008 คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 124 พันล้านเหรียญสหรัฐ (หรือลดลงร้อยละ 2.52% จากไตรมาสก่อนหน้า) เป็นผลมาจากเงินทุนที่ไหลออกจากกองทุนหุ้นรวมทั้งสิ้น 273 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่ผลกระทบดังกล่าวได้รับการบรรเทาเพราะมีเงินไหลเข้าสู่ตลาดพันธบัตร ตลาดเงิน และกองทุนอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง
ส่วนกระแสเงินลงทุนสุทธิ 2 (Net fund flow) ที่ธนาคารฯ คำนวณโดยแยกผลกระทบเรื่องความผันผวนต่างๆ ของตลาดออกไปเพื่อให้ได้ภาพรวมของกิจกรรมการลงทุนของนักลงทุนในตลาดตราสารต่าง ๆ ทั่วโลก ณ สิ้นไตรมาส 1/2008 สรุปประเด็นสำคัญได้ ดังต่อไปนี้
- เงินลงทุนไหลออกจากตลาดหุ้นยุโรปมากที่สุด อันดับแรกคือ ตลาดหุ้นอังกฤษ (ติดลบร้อยละ 9.5 เทียบกับร้อยละ 0.4 ในไตรมาส 4/2007) รองลงมาคือ ตลาดหุ้นญี่ปุ่น (ติดลบร้อยละ 7.7% เทียบกับร้อยละ 1.9) และตลาดหุ้นทั่วโลก (ติดลบร้อยละ 5.9 เทียบกับติดลบร้อยละ 1.8) ในขณะที่ตลาดหุ้นที่มีเงินทุนไหลเข้ามาก ได้แก่ ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกามีเงินทุนไหลเข้าร้อยละ 1.5 (เทียบกับติดลบร้อยละ 2 ในไตรมาส 4/2007) ตลาดหุ้นเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมตลาดญี่ปุ่น) มีเงินทุนไหลเข้าร้อยละ 6.3 (เทียบกับร้อยละ 14.3) และตลาดหุ้นเกิดใหม่ มีเงินทุนไหลเข้า 4.9% (เทียบกับติดลบร้อยละ 7.2 )
- เงินลงทุนไหลเข้าสู่ตลาดพันธบัตรเกิดใหม่มากที่สุด ที่ร้อยละ 15.5 (เทียบกับร้อยละ 4.4 ในไตรมาส 4/2007) เนื่องจากให้ผลตอบแทนสูง ตามด้วยตลาดพันธบัตรยุโรปและอังกฤษ ที่ร้อยละ 9.3 (เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.4) ตลาดพันธบัตรทั่วโลก ที่ร้อยละ 7.8 (เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.4) และตลาดพันธบัตรสหรัฐอเมริกา ที่ร้อยละ 4.7% (เพิ่มขึ้นจากติดลบร้อยละ 1.4)
“การที่ปริมาณเงินทุนภายใต้การบริหารของบริษัทจัดการกองทุนที่ร่วมในการสำรวจลดลง แสดงให้เห็นว่าตลาดยังมีความผันผวนและบรรยากาศการลงทุนโดยทั่วไปยังไม่สดใสนัก ปัจจัยเหล่านี้ทำให้นักลงทุนต้องลงทุนอย่างระมัดระวังและไม่หวือหวานัก โดยเลือกลงทุนในตลาดพันธบัตรที่ปลอดภัยและให้ผลตอบแทนแน่นอน โดยมีเงินทุนไหลเข้าสุทธิในพันธบัตรทุกประเภทในไตรมาสแรกปีนี้” มร. ลี กล่าว
สำหรับนักลงทุนในฮ่องกง มร. ลี แนะนำกลยุทธ์ในการจัดพอร์ตลงทุนให้สมดุลในภาวะตลาดเช่นนี้ว่า “ในช่วงตลาดขาลงอย่างนี้ นักลงทุนควรกระจายการลงทุนในตลาดตราสารต่างๆ โดยเน้นที่ตลาดที่ยังมีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งในการรองรับการเติบโต แม้นักลงทุนส่วนใหญ่ยังกังวลกับภาวะเงินเฟ้อ แต่ผมเชื่อว่ายังพอมีโอกาสดีสำหรับนักลงทุนระยะยาว”
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วรนันท์ สุทธปรีดา, สาวิตรี หมวดเมือง โทรศัพท์ 0-2614-4609, 0-2614-4606