กรุงเทพฯ--3 ก.ค.--กระทรวงพลังงาน
กฟผ.จับมือกระทรวงศึกษาธิการ ต่อยอดโครงการ “พูดเพื่อชาติ” และ “Coal to school” ดึงเด็กมัธยมปลายกว่า 270 คน จาก 47 โรงเรียนร่วมกิจกรรม เปิดโลกทัศน์ใหม่ให้เยาวชน ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง เพื่อสร้างโครงงานคุณภาพเผยแพร่ต่อสาธารณชน
นายอภิชาต ดิลกโศภณ รองผู้ว่าการควบคุมระบบ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ กฟผ. ได้จัดกิจกรรมเพื่อเยาวชนอย่างต่อเนื่องภายใต้โครงการ “พูดเพื่อชาติ” ซึ่งเป็นโครงการประกวดพูด เพื่อรณรงค์เกี่ยวกับการใช้พลังงานในรูปแบบดราม่าทอล์คโชว์ และโครงการ “Coal to School” ที่สนับสนุนการถ่ายทอดความรู้ และข้อมูลข่าวสารด้านพลังงานไปสู่สาธารณชนผ่านการจัดทำโครงงานและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ในปีนี้ กฟผ. ได้นำโครงการทั้ง 2 มาบูรณาการ และสร้างสรรค์โครงการใหม่ในชื่อ โครงการ Energy Learning เพื่อให้เยาวชนเป้าหมายเกิดทักษะในการถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารได้อย่างน่าสนใจและลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น
โครงการดังกล่าวจัดขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนไทยได้มีโอกาสเรียนรู้ วิธีการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง และพลังงานรูปแบบต่างๆ จากประสบการณ์จริง ผ่านกิจกรรมสันทนาการ การแสดงนิทรรศการ การทัศนศึกษา การบรรยายให้ความรู้ ฯลฯ โดยมุ่งเน้นให้เยาวชนเกิดความอยากรู้อยากเห็น สนใจ และมุ่งมั่นศึกษาในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งเกิดการรับรู้ และเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการผลิตพลังงานไฟฟ้า การรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถนำความรู้และประสบการณ์ไปถ่ายทอด ขยายผลให้กับบุคคลอื่นในสังคมได้รับทราบอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
รองผู้ว่าการควบคุมระบบ กฟผ. กล่าวต่อไปว่า กิจกรรมในโครงการจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ กิจกรรม Energy Visit ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการเดินทางไปศึกษาดูงานแหล่งผลิตไฟฟ้า เช่น เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก สถานีพลังงานแสงอาทิตย์สันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ โรงไฟฟ้า แม่เมาะ จังหวัดลำปาง โดยมีวิทยากรของ กฟผ. และหน่วยงานภายนอก ดูแลและให้ความรู้ทั้งด้านพลังงานไฟฟ้าและด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ เทคนิคการนำเสนอ การพูดให้น่าสนใจ และการสร้างสรรค์โครงงาน ซึ่งภายหลังจากการเข้าร่วมกิจกรรม Energy Visit แล้ว แต่ละโรงเรียนจะสร้างสรรค์โครงการเพื่อเข้าประกวดตามหัวข้อที่กำหนด โดยคณะกรรมการจาก กฟผ. กระทรวงศึกษาธิการ และผู้ทรงคุณวุฒิ จะร่วมกันตัดสินจนได้ผู้เข้ารอบสุดท้ายเพียง 15 โรงเรียน เพื่อนำเสนอโครงงานในกิจกรรม Energy Project เพื่อหาผู้ชนะเลิศในทุกประเภทเข้ารับประทานโล่รางวัลจาก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ซึ่งจะเสด็จเป็นองค์ประธานและทอดพระเนตรนิทรรศการ ส่วนกิจกรรม Energy Project จะจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน ในวันแรกจะเป็นกิจกรรมการนำเสนอ และประกาศรางวัล ซึ่งประกอบด้วย รางวัลชนะเลิศคะแนนรวม รางวัลชนะเลิศประเภทโครงงานดีเด่น ประเภทการนำเสนอดีเด่น นิทรรศการดีเด่น รองชนะเลิศอันดับ 1 รองชนะเลิศอันดับ 2 และรางวัลชมเชย รวมทั้งสิ้น 12 รางวัล
นางสมัย เทวฤทธิ์ ตัวแทนจากกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กิจกรรม Energy Learning ของ กฟผ. มีความน่าสนใจตรงที่เป็นการรวม 2 โครงการที่มีความโดดเด่นทั้งด้านวิทยาศาสตร์ ด้านศิลปะการพูด และการนำเสนอโครงการเข้าด้วยกันอย่างลงตัว ซึ่งจะทำให้เยาวชนที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมได้ประสบการณ์ที่แปลกใหม่ และได้ฝึกฝนตนเองให้เก่งทั้งด้านวิชาการ และสามารถนำองค์ความรู้มาถ่ายทอดและนำเสนอได้อย่างน่าสนใจอีกด้วย โดยกระทรวงศึกษาธิการมีบทบาทเป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการ และร่วมกำหนดรูปแบบการประกวดให้เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อเยาวชนผู้เข้าประกวดทุกคนสามารถนำความรู้ และประสบการณ์ไปใช้ได้จริงในอนาคต โดยในปีนี้จะมีนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวนกว่า 270 คน จาก 47 โรงเรียนเข้าร่วมกิจกรรม
นายธาตรี ริ้วเจริญ หนึ่งในคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า เกณฑ์การตัดสินแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ด้านโครงงาน ที่มีคะแนนรวม 100 คะแนน โดยจะพิจารณาจาก ชื่อโครงงาน ความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่ทำ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ขั้นตอน / กระบวนการทำงาน เอกสารรายงาน รูปเล่ม โครงงาน ประโยชน์และคุณค่าในการนำไปใช้เผยแพร่ รวมถึงเวลาที่ใช้ และอีกส่วนคือ ด้านการนำเสนอ ซึ่งมีคะแนนรวม 100 คะแนนเช่นกัน และจะพิจารณาจากเนื้อหา การนำเสนอ ความสามารถในการใช้ภาษา การพูด และการควบคุมเวลา
รายละเอียดเพิ่มเติม www.egat.co.th หรือสอบถามได้ที่ โทร. 02 436 4822 , 02 436 4864