กรุงเทพฯ--4 ก.ค.--ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
เกษตรกรลพบุรีรับเงินชดเชยประกันภัยพืชผลช่วงแรกหลังปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ ด้าน ธ.ก.ส.พร้อมเดินหน้าขยายพื้นที่การประกันภัย เพื่อลดความเสี่ยงด้านการเพาะปลูกให้เกษตรกร มั่นใจรูปแบบประกันภัยที่ธนาคารโลกและเจบิคช่วยวางระบบเป็นมาตรฐานสากล
วันนี้ ( 4 กรกฎาคม 2551) ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานใหญ่ นายธีรพงษ์ ตั้งธีระสุนันท์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เป็นประธานและสักขีพยานในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามโครงการนำร่องการประกันภัยพืชผลโดยใช้ดัชนีภูมิอากาศให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเขตอำเภอลำนารายณ์ จังหวัดลพบุรี เนื่องจากปริมาณน้ำฝนในช่วงการเพาะปลูกระยะที่ 1 ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด โดยมีเกษตรกรได้รับเงินชดเชยจากบริษัทประกันภัย จำนวน 21 ราย
หลังเสร็จสิ้นพิธี นายธีรพงษ์กล่าวว่าโครงการนำร่องการประกันภัยพืชผลโดยใช้ดัชนีภูมิอากาศได้ดำเนินการรับประกันภัยแล้งในการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2551 ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ 5 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ ลพบุรี นครสวรรค์ สระบุรี และนครราชสีมา มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 344 ราย พื้นที่เอาประกันภัย 6,988 ไร่ วงเงินคุ้มครองจำนวน 7.4 ล้านบาท ซึ่งกรมธรรม์ในชุดแรกเริ่มให้ความคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ช่วงเพาะปลูก (30 วัน) ระยะที่ 2 ช่วงเจริญเติบโต (20 วัน) และระยะที่ 3 ช่วงเก็บเกี่ยว (30 วัน) ซึ่งการให้ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยระยะที่ 1 ช่วงเพาะปลูกได้สิ้นสุดลงแล้ว โดยปริมาณน้ำฝน ณ สถานีตรวจอากาศอุตุนิยมวิทยาบัวชุม จังหวัดลพบุรี เปรียบเทียบกับค่าดัชนีความแห้งแล้งที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ ปรากฏว่าเกษตรกรประสบภัยแล้งเนื่องจากขาดน้ำสะสมต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด 46.80 มิลลิเมตร ทำให้บริษัทประกันภัยต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่เกษตรกรที่ทำประกันภัย ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอลำนารายณ์ จังหวัดลพบุรี จำนวน 21 ราย พื้นที่ประกันภัย 329 ไร่ จำนวนเงินค่าสินไหมทดแทน 43,188.40 บาท โดยกรมธรรม์ดังกล่าวแม้จะจ่ายค่าสินไหมไปแล้วบางส่วนแต่ยังคงให้ความคุ้มครองในระยะที่ 2 และ 3 ต่อไป
นายธีรพงษ์กล่าวอีกว่า การจ่ายเงินชดเชยเพื่อเป็นค่าสินไหมทดแทนแก่เกษตรกรในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่าความเสี่ยงในการเพาะปลูกเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะปัญหาสภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การช่วยเหลือเกษตรกรโดยการช่วยลดความเสี่ยงตามโครงการประกันภัยพืชผล
จึงเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรได้อย่างทันท่วงที ซึ่ง ธ.ก.ส.พร้อมที่จะขยายพื้นที่การจัดทำประกันภัยตามรูปแบบที่ธนาคารโลกและเจบิคได้ช่วยจัดวางรูปแบบไว้เพราะเป็นเกณฑ์วัดในเชิงวิทยาศาสตร์ มีความน่าเชื่อถือและเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง