กรุงเทพฯ--4 ก.ค.--เวเบอร์ แชนด์วิค
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการลงทุน ประจำภาคพื้นเอเชีย ธุรกิจ Private Wealth Management (PWM) ธนาคารดอยช์แบงก์เผย แม้ตลาดทุนทั่วโลกยังมีความกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อและถือเป็นเรื่องใหญ่ แต่วิกฤติทางการเงินคงไม่เกิดซ้ำเหมือนเมื่อกว่า 30 ปีก่อน ซึ่งในขณะนั้นประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ต่างต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในระดับเกินร้อยละ 10
ชิว ซุน เก็ค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการลงทุนประจำภาคพื้นเอเชีย ธุรกิจ PWM ของธนาคาร ดอยช์แบงก์ กล่าวในการพบปะกับลูกค้าที่กรุงเทพฯ ว่า ปัจจุบันมีความเสี่ยงจากแนวโน้มที่สูงขึ้นของต้นทุนด้านพลังงานและอาหารของประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่ และอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต อย่างไร ก็ดี ในปัจจุบันยังไม่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำระลอกสองในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว นอกจากนี้รายได้เฉลี่ยค่าแรงต่อชั่วโมงในสหรัฐก็ลดลง และธนาคารกลางของสหภาพยุโรปก็ได้ออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อป้องกันไม่ให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มมากไปกว่านี้
“อัตราเงินเฟ้อน่าเป็นห่วงมากในประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ซึ่งมีอาหารและพลังงานเป็นปัจจัยสำคัญต่อดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังจำเป็นจะต้องมีการปรับนโยบายทางการเงินให้มีความเข้มงวดมากขึ้นเนื่องจากปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังติดลบ หลายๆ ประเทศในเอเชีย เช่น จีน อินเดีย และมาเลเซีย ก็เริ่มที่จะลดการสนับสนุนด้านการเงินในบางส่วน เช่น การพยุงราคาพลังงาน ทำให้ต้องมีการลดการใช้พลังงานด้วย” ชิว กล่าวเสริม
จากปัจจัยทางเศรษฐกิจต่างๆ ฝ่าย PWM ของธนาคารดอยช์แบงก์ชี้แนวโน้มการลงทุนไว้ดังนี้
ราคาน้ำมัน ปัจจัยแปรผันหลัก
ราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งขึ้นไปแตะ 140 เหรียญต่อบาร์เรลแล้ว “ราคาน้ำมันจะยังคงเป็นประเด็นใหญ่ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก” ชิวกล่าว “ปริมาณน้ำมันดิบสำรองของกลุ่มประเทศโอเปคที่ลดลง การลงทุนลดลง และปัญหาทางการเมืองในประเทศผู้ผลิตน้ำมันของโลกบางประเทศ อาจทำให้น้ำมันขาดตลาดได้ในระยะสั้นๆ และกระตุ้นให้ทุกฝ่ายหันมาให้ความสำคัญต่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน โดยรวมแล้ว เราคาดว่า กำลังการผลิตจะยังคงไม่สอดคล้องกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากประเทศในเอเชีย จึงเป็นไปได้ว่า ราคาน้ำมันจะยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
สินค้าโภคภัณฑ์ — กันชนป้องกันเงินเฟ้อ
สินค้าประเภทอุปโภคบริโภค (พลังงาน โลหะมีค่า เกษตร) และพันธบัตรประเภทคุ้มครองความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะใช้ป้องกันอัตราเงินเฟ้อ ฝ่าย PWM ของธนาคารดอยช์แบงก์ยังเชื่อมั่นในกองทุนรวมหุ้นที่ลงทุนในภาคสินค้าเกษตรและพลังงาน บริษัทในธุรกิจบริการน้ำมันและที่ดินที่สมบูรณ์ แนวโน้มด้านราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะยังคงทรงอยู่เช่นนี้นานกว่าที่เคยเป็นมา และธนาคารฯ แนะนำให้ลงทุนในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิดคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 10 ของพอร์ตการลงทุนในสินทรัพย์หลายชนิดอย่างสมดุล
ตลาดทุน น่าลงทุนต่อ
“ในปัจจุบัน ปัจจัยต่างๆ อาทิ ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น นโยบายทางการเงินที่มีความเข้มงวดมากขึ้น และแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังคงไม่แน่นอนส่งผลต่อตลาดพอสมควร” ชิวกล่าวเสริม “วันนี้ อัตราส่วนราคาตลาดต่อกำไรต่อหุ้น (PE Ratio) ของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ชั้นนำของโลกนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยในระยะยาว หุ้นที่ขายอยู่ในปัจจุบันมี PE ที่ 13 เท่าเทียบกับ 16 เท่าในอดีต นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา หุ้นจึงไม่ได้มีมูลค่าในระดับที่น่าสนใจมากอีกต่อไป ดังนั้นจึงจำเป็นที่เราจะต้องคอยติดตามต่อไปว่า ประมาณการณ์กำไรต่อหุ้นจะดำเนินไปในทิศทางใดต่อไป หากจะมีการปรับลดกำไรต่อหุ้นในปีนี้ และมาร์จินจะลดลงขณะที่ต้นทุนจะสูงขึ้น” ธนาคารฯ ยังคงให้น้ำหนักในตลาดหุ้นสหรัฐ สิงคโปร์ ไต้หวัน และจีน ส่วนในประเทศในเอเชียที่ต้องพึ่งพาน้ำมันจากต่างประเทศมาก (เช่น ไทย ฟิลิปปินส์ เกาหลี และอินเดีย) และคาดว่าต้องมีการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเพื่อรักษาระดับอัตราเงินเฟ้อ (เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย อินเดีย และฟิลิปปินส์) อาจจะยังคงได้รับผลกระทบในเชิงลบอยู่
ในระยะ 12 เดือนข้างหน้า ธนาคารฯ มีความเชื่อมั่นในประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่ที่ยังต้องมีการเจริญ เติบโตเชิงโครงสร้างและมีความเชื่อมั่นในตลาดทุนของสหรัฐมากกว่าตลาดทุนยุโรป เนื่องจากหลายประเทศได้เริ่มใช้นโยบายทางการเงินที่เข้มงวดและมาตรการอื่นๆ ทำให้เชื่อได้ว่าเอเชียจะยังคงเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพในการเติบโตเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว นอกจากนี้ การขยายตัวของคนชั้นกลาง ความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภค และการสร้างสาธารณูปโภคจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมการเติบโตในระยะกลาง
เศรษฐกิจโลก: โตแม้จะมีอุปสรรค
เศรษฐกิจโลกจะยังคงมีการขยายตัวแม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะประสบวิกฤติด้านสินเชื่อและราคาน้ำมัน ซึ่งเห็นได้จากการเติบโตของตลาดใหม่ๆ อย่างน่าจับตา ธนาคารฯ คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะเริ่มฟื้นตัวช้าๆ ในปี 2552 หลังจากที่เศรษฐกิจของโลกมีการเติบโตในอัตราประมาณร้อยละ 5 ในปี 2549 และ 2550 คาดว่าในปีนี้และปี 2552 จะขยายตัวในอัตราร้อยละ 3.5 ต่อปี
ตลาดพันธบัตร: โอกาสยังมีในตลาดหุ้นกู้ภาคเอกชน
ธนาคารฯ เชื่อมั่นในหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชนที่ได้รับการจัดอันดับที่สามารถลงทุนได้มากกว่าพันธบัตรรัฐบาล โดยส่วนต่างของผลตอบแทนที่สูงกว่าของหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชนทำให้เป็นตราสารที่น่าลงทุน และธนาคารฯ เห็นว่าหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชนที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นดียังเป็นโอกาสที่น่าสนใจต่อการเข้าลงทุน อย่างไรก็ดี หากความเสี่ยงของระบบลดลง ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอาจมีแนวโน้มสูงขึ้นเนื่องจากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น
การลงทุนในตัวเลือกอื่นยังคงน่าสนใจ
จากความผันผวนด้านเศรษฐกิจและนโยบาย ควรเฉลี่ยการลงทุนโดยกระจายเงินลงทุนให้หลากหลาย โดยเฉพาะในเฮดจ์ฟันด์ นอกจากจะลงทุนในพันธบัตรและหุ้นแล้ว ควรจะลงทุนในตัวเลือกอื่นๆ ที่ทำให้พอร์ตการลงทุนมีความหลากหลาย และสร้างเสถียรภาพความมั่นคงในด้านผลตอบแทนพอสมควร การกระจายพอร์ตการลงทุนในเฮดจ์ฟันด์มักให้ผลตอบแทนคงที่จึงดีกว่าการลงทุนในหุ้นเป็นหลัก แนะนำให้ลงทุนในหลายประเภท เช่น ลงทุนร้อยละ 30 ในเฮดจ์ฟันด์ และตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และความสามารถในการแบกรับความเสี่ยงของผู้ลงทุนแต่ละราย
ข้อมูลเกี่ยวกับธนาคารดอยช์แบงก์
นาคารดอยช์แบงก์ เป็นธนาคารชั้นนำในด้านวาณิชธนกิจ ที่มีฐานลูกค้ามั่นคงและทำกำไรในด้านธนบดีธนกิจ เป็นธนาคารชั้นแนวหน้าของเยอรมันและยุโรป และกำลังขยายฐานในตลาดอเมริกาเหนือ เอเชีย และกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ธนาคารมีพนักงาน 78,275 คน ที่นำเสนอบริการด้านการเงินให้กับลูกค้าใน 76 ประเทศทั่วโลก ธนาคารมีความตั้งใจที่จะเป็นผู้นำระดับโลกในการให้บริการที่ครบวงจรทางด้านการเงินให้กับลูกค้าที่มีความต้องการบริการที่ดีที่สุด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มที่โดดเด่นให้กับผู้ถือหุ้นและประชาชนทั่วไป สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.deutsche-bank.com
ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจ Private Wealth Management (PWM) ธนาคารดอยช์แบงก์
ธุรกิจ Private Wealth Management (PWM) เป็นหน่วยงานภายใต้ธนาคารดอยช์แบงก์ที่เจาะกลุ่มลูกค้าชั้นนำทั่วโลกที่ต้องการสร้างผลกำไรจากการลงทุน โดยเป็นผู้บริหารสินทรัพย์รวมมูลค่ากว่า 1.94 แสนล้านยูโร ผ่านทางเครือข่ายสำนักงาน 85 แห่งในกว่า 30 ประเทศทั่วโลก สำหรับในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก PWM มีพนักงานกว่า 760 คนในสำนักงาน 15 แห่ง ใน 9 ประเทศทั่วเอเชียเหนือ ออสเตรเลีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอินเดีย
ธุรกิจ PWM ของธนาคารดอยช์แบงก์นำเสนอบริการด้านการลงทุนที่หลากหลายครอบคลุมให้แก่ลูกค้า พร้อมทั้งให้คำปรึกษาเชิงกลยุทธ์เพื่อช่วยให้ลูกค้าเป็นผู้นำตลาดอยู่เสมอ บริการต่างๆ ที่ธนาคารนำเสนอได้แก่ การลงทุนในหลักทรัพย์และกองทุน เงินตราต่างประเทศ บริการด้านการเงินอื่น การลงทุนในช่องทางที่เป็นทางเลือก บริการทางการเงินที่มีสภาพคล่องและสินเชื่อ รวมถึงการให้คำปรึกษาในด้านทรัสต์และการลงทุนในกองทุนอิสระ สินทรัพย์ที่ธุรกิจ PWM ของธนาคารดอยช์แบงก์ลงทุนในเอเชียแปซิฟิกในปี 2550 การเติบโตร้อยละ 19 และธุรกิจ PWM ของธนาคารดอยซ์แบงก์บริหารสินทรัพย์มูลค่ารวม 2.2 หมื่นล้านยูโรให้กับลูกค้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ข้อได้เปรียบที่ทำให้ธนาคารฯ แตกต่างไปจากคู่แข่งคือ การมีสำนักงานสาขาทั่วภูมิภาค ทั้งในฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ โตเกียว นิวเดลี บังกาลอร์ เชนไน ไทเป กรุงเทพฯ สิงคโปร์ จาการ์ตา สุราบายา ซิดนีย์ และ เมลเบิร์น
สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.dbpwm.com/pwm/en/
ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
รุ่งนภา ชาญวิเศษ, อรอนงค์ ประทักษ์พิริยะ
เวเบอร์ แชนด์วิค
โทรศัพท์ 0-2343-6000 ต่อ 061, 056
อีเมล์: rungnapa@webershandwick.com; Onanong@webershandwick.com