กรุงเทพฯ--4 ก.ค.--ก.พ.
สำนักงาน ก.พ เผยผลสำรวจโครงการพัฒนาข้าราชการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ชี้ข้าราชการมีความตื่นตัวเรื่องการเรียนรู้ผ่านระบบ e — Learning เนื่องจาก ความหลากหลายและความน่าสนใจของหลักสูตร การประหยัดค่าใช้จ่าย และสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลาตามความต้องการ
สำนักงาน ก.พ. ได้ริเริ่มจัดอบรมการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (HRD : e — Learning) ในหลักสูตรต่างๆ อาทิ หลักสูตรการบริหาร การเขียนหนังสือราชการ การบริหารทรัพยากรบุคคล และการเสริมสมรรถนะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อสนับสนุนให้ข้าราชการทุกภาคส่วนสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ด้วยตนเอง พร้อมทั้งเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรบุคคลภาครัฐให้มีคุณภาพ และมีความพร้อมสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการยุคใหม่ให้มีทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผล มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546
ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินการตอบสนองความต้องการของข้าราชการและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในระหว่างเดือนมกราคม ถึงเดือนเมษายน 2551 สำนักงาน ก.พ. จึงได้ติดตามและประเมินผล การพัฒนาข้าราชการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยการประเมินผลแบ่งเป็น 2 ส่วน 1. ดำเนินการศึกษาวิจัยการติดตามและประเมินผลโครงการจากผู้เข้าเรียนในปีงบประมาณ 2551 จำนวน 558 คน และผู้ออกกลางคันจำนวน 334 คน จาก 147 ส่วนราชการ และจังหวัด 75 จังหวัด และ 2. การจัดประชุมสัมมนาพบกลุ่มผู้ประสานงานของส่วนราชการเพื่อพัฒนาข้าราชการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 128 คน จาก 114 ส่วนราชการ โดยการประเมินผลดังกล่าวใช้กรอบแนวคิดของ Donald Kirkpatrick’s 4 Levels of Evaluating Training มาใช้เป็นเครื่องสำหรับการติดตามและประเมินผล ซึ่งเป็นการประเมินผลใน 4 ระดับ ที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ที่ได้หลังจากการฝึกอบรม ผสมผสานกับแนวคิดของการบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์ และแนวคิดของทฤษฎีระบบ นอกจากนี้ยังใช้การประเมินผลตามรูปแบบ CIPP Model ซึ่งเป็นการประเมินผลทั้งกระบวนการตั้งแต่ปัจจัยนำเข้า กระบวนการผลผลิต และผลลัพธ์ เพื่อประเมินถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของโครงการ โดยประกอบด้วยเนื้อหาที่เกี่ยวกับการประเมินผล 5 ด้าน คือ 1. การประเมินผลในส่วนของสภาวะแวดล้อม 2. การประเมินผล ในส่วนของปัจจัยนำเข้า 3. การประเมินผลในส่วนของกระบวนการ 4. การประเมินผลในส่วนของผลผลิต 5. การประเมินผลในส่วนของผลลัพธ์
จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (HRD e- Learning) พบว่าสาเหตุสำคัญ 3 อันดับแรก ที่ทำให้ผู้เข้ารับการอบรมส่วนใหญ่ตัดสินใจพัฒนาตนเองผ่าน สื่ออิเล็กทรอนิกส์ คือ 1. ผู้เข้ารับอบรมมองว่าหลักสูตรมีความหลากหลายและน่าสนใจ 2.การอบรมออนไลน์ประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าการอบรมในห้องเรียน 3. การอบรมแบบออนไลน์สามารถเรียนรู้ ได้ทุกสถานที่ที่มีการเชื่อมต่อกับเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถเรียนได้ทุกเวลาตามความต้องการ
ส่วนผลการวิเคราะห์ความพึงพอใจนั้นพบว่า ระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับที่ดีมาก และผู้เข้ารับการอบรมพึงพอใจสูงสุดก็คือ การนำไปใช้ประโยชน์ในการทำงาน รองลงมาคือ ความหลากหลายและความน่าสนใจของหลักสูตร รวมทั้งรูปแบบการนำเสนอและวิธีการพัฒนาผ่าน สื่ออิเล็กทรอนิกส์และปัจจัยที่ส่งเสริมความสำเร็จในการพัฒนาข้าราชการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากที่สุด 3 อันดับแรก คือ 1.ความพร้อมและความมุ่งมั่น ตั้งใจในการพัฒนาตนเอง 2. การสนับสนุน จากหน่วยงานหรือผู้บังคับบัญชา และ 3. ความพร้อมของเครื่องมือ อุปกรณ์และเครือข่ายของผู้เข้ารับ การอบรม ส่วนผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากผู้ที่เลิกเรียนกลางคัน พบว่า สาเหตุที่ทำให้ผู้เข้ารับการอบรมเลิกเรียนกลางคัน เนื่องจากไม่สามารถเข้าเรียนได้อย่างสม่ำเสมอตามเวลาที่ได้กำหนดไว้ และไม่สามารถจัดสรรเวลาให้เหมาะสมกับช่วงเวลาของการฝึกอบรมได้
สำหรับผลการอภิปรายจากการจัดประชุมสัมมนาพบกลุ่มผู้ประสานงานของส่วนราชการเพื่อ การพัฒนาข้าราชการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พบว่า ผู้เข้าร่วมสัมมนาเห็นว่าหลักสูตรมีความหลากหลายดีแต่ควรให้มีเพิ่มมากขึ้น การดำเนินการของส่วนราชการหลายส่วนยังขาดความพร้อมด้านอุปกรณ์ และเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีข้อเสนอแนะว่าควรมีนโยบายให้ผู้บังคับบัญชาให้ความสำคัญต่อการอบรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ยังมีความต้องการให้สำนักงาน ก.พ. จัด e — Learning สัญจรไปตามส่วนราชการ รวมทั้งจัดทำหลักสูตรวิชาเฉพาะให้กับหน่วยงานที่ต้องการ และต้องการให้มีการปรับปรุงบทเรียนให้เข้าใจง่าย รวมทั้งจัดให้มีการอบรมแบบผสมผสานหลายๆ หลักสูตร
โดยสำนักงาน ก.พ. จะนำผลที่ได้จากการประเมินดังกล่าวมาพัฒนาหลักสูตรและ การดำเนินการต่างๆ ให้ตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้เรียนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การพัฒนาข้าราชการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มพูนประสิทธิภาพ และเสริมสร้างแรงจูงใจแก่ข้าราชการให้มีคุณธรรม จริยธรรม คุณภาพชีวิต รวมทั้งมีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ สมตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551