อัจฉริยะทางวิทยาศาสตร์พัฒนากันอย่างไร

ข่าวทั่วไป Friday July 4, 2008 16:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ก.ค.--สสวท.
อัจฉริยะทางวิทยาศาสตร์พัฒนากันอย่างไร เรื่องนี้ยังเป็นหัวข้อสนใจกันอยู่สำหรับผู้ปกครอง คุณครูและบุคลากรทางการศึกษา ในการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเยาวชนครั้งที่ 3 ซึ่งจัดโดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และองค์กรพันธมิตร ที่ศูนย์นิทรรศการและไบเทค บางนา เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการเสวนาในเรื่องนี้กัน
ผู้ร่วมเสวนา หัวข้อ “อัจฉริยะทางวิทยาศาสตร์พัฒนากันอย่างไร” เป็นผู้ที่ดำเนินงานโดยตรงเกี่ยวกับการสร้างเยาวชนที่มีความสามารถทางวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วย รศ. ดร. อุดมศิลป์ ปิ่นสุข ผู้แทนโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน หรือโครงการ JSTP ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) อาจารย์พจนีย์ เจนพนัส ผู้แทนโครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และอาจารย์สถาพร วรรณธนวิจารณ์ ผู้แทนโรงเรียนวิทยาศาสตร์ (โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์)
รศ. ดร. อุดมศิลป์ ปิ่นสุข ผู้แทนโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน หรือโครงการ JSTP กล่าวว่า ก่อนอื่นอยากให้คุณครูปรับทัศนคติของอาชีพนักวิทยาศาสตร์ เพราะนักวิทยาศาสตร์เดี๋ยวนี้ได้รับค่าตอบแทนสูงพอที่จะทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ไม่แตกต่างจากอาชีพแพทย์หรือมีรายได้มากกว่าแพทย์เลยทีเดียว โดยเฉพาะเมื่อได้ทำงานวิจัยแล้ว
รศ. ดร. อุดมศิลป์กล่าวต่อไปว่า ความเป็นอัจฉริยะเพิ่มต้นทุนชีวิต หลังจากนั้นเราต้องสร้างวินัย คุณธรรม จริยธรรม และความสามารถในการแข่งขันให้เกิดมูลค่าเพิ่มต่อสังคมและประเทศชาติ โดยคิดว่า การที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น อาศัยความเป็นอัจฉริยะ (ต้นทุน) 40% ความรู้ ทักษะ (ฝึกได้) 30% และทัศนคติ (ฝึกได้) 30%
สำหรับการส่งเสริมนักเรียนอัจฉริยะ หรือผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ของ สวทช. นั้น สวทช. ได้จัดทำโครงการค่ายวิทยาศาสตร์ถาวร เริ่มสร้างปี 2548 ครม. อนุมัติโครงการให้ดำเนินงานปี 2541-2552 ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ หรือบ้านวิทยาศาสตร์ ส่งเสริมและพัฒนาเด็กที่มีศักยภาพสูงทางวิทยาศาสตร์ 3 กลุ่ม ได้แก่ เด็กที่มีความสนใจทางวิทยาศาสตร์ เด็กที่มีความสามารถพิเศษ และเด็กที่มีแววอัจฉริยภาพ เพื่อกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจและมีเป้าหมายในชีวิตในส่วนของโครงการ JSTP นั้น เป็นการจัดกิจกรรมนอกห้องเรียน ในช่วงปิดภาคเรียน หรือช่วงเวลาที่จัดกิจกรรมพิเศษ เช่น ค่าย การอบรม เป็นการเสริมอาวุธให้เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จได้ในที่สุด นอกจากนั้นเรื่องอารมณ์ การเข้าสังคม ก็จะมีการติดตามผลตลอด นักเรียนในโครงการแต่ละปีรับประมาณ 20,000 คน เด็กพิเศษประมาณ 1,000 คนหรือน้อยกว่า เด็กอัจฉริยภาพปีละประมาณ 100 คน ซึ่งไม่ค่อยจะใช้คำว่าอัจฉริยภาพกับพวกเขา แต่จะบอกว่านักเรียนเป็นคนพิเศษที่สามารถพัฒนาให้พิเศษกว่านี้ได้และเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมลงไป
ตอนนี้โครงการ JSTP ดำเนินมาประมาณ 10 ปีแล้ว นักเรียนในโครงการบางคนกลับมาทำงานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย และเป็นนักวิจัยที่ สวทช. โครงการไม่มีข้อบังคับในการใช้ทุนใด ๆ ทั้งสิ้น
อาจารย์พจนีย์ เจนพนัส ผู้แทนโครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เล่าว่า ผู้ปกครองโทรศัพท์มาถามกันมากว่านักเรียนที่จบจากห้องเรียนวิทยาศาสตร์ ไปแล้วจะต้องเรียนต่อระดับอุดมศึกษาที่คณะวิทยาศาสตร์หรือเปล่า จึงได้ตอบไม่ว่าไม่มีการบังคับให้เรียนต่อ
คณะวิทยาศาสตร์ นักเรียนที่จบจากห้องเรียนพิเศษสามารถเลือกเรียนต่อคณะใดก็ได้ เราต้องการสร้างนักเรียนที่เป็นนักคิด นักวิจัย ไม่ว่าในอนาคตจะเรียนต่อสายอาชีพใดก็ตาม
โครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เป็นโครงการในความร่วมมือระหว่าง สพฐ. และ สสวท. รูปแบบการจัดห้องเรียนวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วย การใช้หลักสูตรการเรียนการสอนพิเศษตามแนวทางของ สสวท. นักเรียนได้รับการพัฒนาและส่งเสริมกิจกรรมทางวิชาการเพิ่มพิเศษ เช่น การเข้าค่ายวิทยาศาสตร์ ศึกษาดูงาน/ทัศนศึกษา ได้ฝึกงานกับนักวิจัยในมหาวิทยาลัย หรือ ในหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน และได้รับการส่งเสริมการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมทั้งได้รับการส่งเสริม สนับสนุนให้ไปนำเสนอผลงานทางวิชาการในระดับจังหวัด ระดับภาคและระดับประเทศ
อาจารย์สถาพร วรรณธนวิจารณ์ ผู้แทนโรงเรียนวิทยาศาสตร์ (โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์) กล่าวว่า โรงเรียนวิทยาศาสตร์มีการพัฒนาครูให้จัดการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ เพื่อให้เด็กได้พัฒนาทางวิทยาศาสตร์จริง ๆ มีการจัดการเรียนการสอนโดยครูประมวลผลความรู้ของตัวเองแล้วพูดให้เด็กฟัง ได้ฝึกปฏิบัติทางวิทยาศาสตร์เยอะ ๆ เชิญนักวิทยาศาสตร์มาบรรยาย พาไปดูงานสถาบันวิจัยต่าง ๆ ให้นักเรียนเห็นบรรยากาศจริง และเข้าไปฝึกงานตามสถาบันวิจัย จัดค่ายวิชาการ ให้นักเรียนทำมินิโปรเจค และทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์
โรงเรียนวิทยาศาสตร์มีผู้สมัครปีละประมาณสองหมื่นกว่าคน คัดไว้เพียงปีละ 240 คน นักเรียนที่เข้ามา ม. 4 มีภาวะความเครียดค่อนข้างสูง เพราะมาจากความเป็นที่ 1 ของห้อง แล้วเขามาพบกับเพื่อนที่ 1 จากโรงเรียนอื่น ๆ ถ้าเขาขาดทักษะทางสังคมจะรู้สึกกดดัน แต่ด้วยความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องก็ จะช่วยให้สามารถปรับตัวได้ เพราะรุ่นพี่ช่วยแนะนำรุ่นน้อง และมีนักจิตวิทยาคุยกับเด็ก
โรงเรียนเป็นโรงเรียนประจำ วันหยุดสามารถกลับบ้านได้ ครอบครัวค่นข้างใส่ใจกับเด็กกลุ่มนี้เยอะ บางคนพ่ออยู่เชียงใหม่มาทุกสัปดาห์เพื่อติวหนังสือให้ลูก บางครอบครัวจัดบรรยากาศการเรียนรู้เหมือนห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ทางโรงเรียนมีการพูดคุยกับพ่อแม่ของนักเรียนเป็นประจำว่าควรจะพัฒนาลูกอย่างไร ให้ลูกเป็นอย่างที่เขาอยากเป็น เขาจะมีความสุขในการเรียนมากกว่าเรียนตามใจพ่อแม่
นักเรียนที่โรงเรียนถึงจะเก่งวิทยาศาสตร์ แต่ความสามารถทางวิทยาศาสตร์ของแต่ละคนต่างกัน บางคนเรียนคณิตศาสตร์ได้เร็ว แต่บางวิชาตามไม่ทันเพื่อนก็มี ทางโรงเรียนแก้ปัญหานี้โดยจัดวิชาเพิ่มเติมให้เลือก แต่ส่วนที่เป็นพื้นฐานก็เรียนเหมือน ๆ กัน สิ่งที่ภูมิใจของโรงเรียนก็คือนักเรียนที่สอนทั้งหมดสามารถสร้างชิ้นงานที่มีประโยชน์ต่อประเทศชาติได้ในอนาคต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ