คต. เตือนผู้ส่งออกระมัดระวังการส่งสินค้าอาหารทะเลและประมงไปสหภาพยุโรป

ข่าวทั่วไป Friday July 4, 2008 17:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ก.ค.--คต.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2551 สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์ได้รายงานว่า สหภาพยุโรปอาจพิจารณาห้ามนำเข้าสินค้าอาหารทะเล แช่แข็งจากประเทศผู้ผลิตบางประเทศในกลุ่มอาเซียนนับตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2551 เนื่องจากมีปัญหา ด้านสุขอนามัย อันเป็นผลจากการที่คณะเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบด้านสุขอนามัยของสหภาพยุโรปได้เดินทางไปตรวจสอบโรงงานผู้ผลิตสินค้าอาหารทะเลและเรือประมงของประเทศดังกล่าวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 ที่ผ่านมาและพบว่า กว่าครึ่งหนึ่งของโรงงานผู้ผลิตและเรือประมงดังกล่าวไม่ผ่านมาตรฐานที่สหภาพยุโรปกำหนด โดยเฉพาะด้านการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) และการออกมาตรการตรวจสอบการแพร่กระจายของเชื้อโรค แม้ว่าสหภาพยุโรปจะได้ให้ความช่วยเหลือโดยการให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่เกี่ยวกับมาตรฐานและระเบียบที่เกี่ยวข้องแก่ประเทศดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2548 แล้ว
นางอภิรดีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า สหภาพยุโรปเป็นประเทศผู้นำเข้าที่กำหนดมาตรฐานสุขอนามัยในการผลิตและการนำเข้าสินค้าอาหารทะเลและประมงค่อนข้างเข้มงวดมาก เช่น ในกระบวนการผลิต ผู้ประกอบการฟาร์ม-เพาะเลี้ยงและสถานประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำจะต้องจดทะเบียนกับหน่วยงาน Competent Authority (CA) ต้องใช้ระบบ Good Hygiene Practice (GHP) และมีระบบการตรวจสอบย้อนกลับ รวมทั้งต้องมีเอกสารระบุ การเคลื่อนย้ายสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ สหภาพฯ ยังกำหนดให้สาร Malachite Green เป็นสารต้องห้ามในการผลิตอีกด้วย สำหรับการนำเข้า สหภาพฯ กำหนดให้ผู้ส่งออกต้องมีใบรับรองสุขอนามัย (Health Certificate) ที่ออกโดยหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับจากสหภาพฯ กำกับมาพร้อมการนำเข้า โดยทุกบรรจุภัณฑ์ต้องมีชื่อประเทศผู้ผลิตและหมายเลขที่ได้รับการรับรองแล้วของโรงงานผู้ผลิตระบุไว้อย่างชัดเจน ยกเว้นกรณีผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแช่แข็งเหมาลำ (in bulk) ที่จะนำไปแปรรูปต่อไป
สำหรับในส่วนของไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 เป็นต้นมา อาหารทะเลและประมงจากไทยที่สหภาพฯ ตรวจพบว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดและได้แจ้งเตือนภายใต้ระบบเตือนภัยเร่งด่วนสำหรับอาหารมนุษย์และอาหารสัตว์ (Rapid Alert System for Food and Feed: RASFF) จำนวนหลายรายการ อาทิ ปลาหมึกแช่แข็ง กุ้งก้ามกรามแช่แข็ง และปลาหมึกกระป๋อง เป็นต้น ฉะนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรระมัดระวังในการผลิต เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานที่สหภาพยุโรปกำหนด ซึ่งจะเป็นการป้องกันปัญหาสินค้าถูกกักกันหรือห้ามนำเข้าจากสหภาพยุโรป
อนึ่ง ในปี 2550 สหภาพยุโรปนำเข้าอาหารทะเลและประมงมูลค่ารวมทั้งสิ้น 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีแหล่งนำเข้าที่สำคัญ อาทิ นอร์เวย์ จีน และไอซ์แลนด์ เป็นต้น โดยนำเข้าจากไทยเป็นลำดับที่ 12 มีมูลค่าประมาณ 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.2 ของการนำเข้าอาหารทะเลและประมงทั้งหมด และในปี 2551(ม.ค. — ก.พ.) สหภาพยุโรปนำเข้าอาหารทะเลและประมงมูลค่ารวมทั้งสิ้น 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยนำเข้าจากไทยมูลค่าประมาณ 59 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2 ของการนำเข้าอาหารทะเลและประมงทั้งหมดของสหภาพยุโรป
ทั้งนี้ ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฎระเบียบการนำเข้าของสหภาพยุโรปสามารดูได้ที่ http://www.dft.moc.go.th/

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ