แฟนต้า ปั้นเยาวชน “18 ยุวทูต รักษ์โลก รักถิ่นกำเนิด” เผยแพร่วัฒนธรรมและทัศนศึกษาโครงการสิ่งแวดล้อมที่ประเทศญี่ปุ่น

ข่าวทั่วไป Friday July 4, 2008 17:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ก.ค.--แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์
และแล้วก็ถึงเส้นชัยกับเวทีประกวด โครงการแฟนต้ายุวทูตแห่งประเทศไทย ที่เน้นให้เยาวชนคิดนอกกรอบ รู้จักการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ มีวุฒิภาวะสมวัย และรู้จักการทำงานเป็นทีม ทำให้วันนี้ โครงการแฟนต้ายุวทูตฯ ได้ค้นพบดาวเด่นจากทั่วประเทศจำนวน 18 คน ที่เหมาะสมกับตำแหน่ง “แฟนต้ายุวทูต” นำมาซึ่งความภาคภูมิใจของผู้จัดโครงการประกวดฯ อันได้แก่ บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) และ สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ (สท.) ที่ได้เติมเต็มประสบการณ์อันมีค่าให้กับเยาวชนไทย และจัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 13 รวมระยะเวลากว่า 20 ปี โดยเฉพาะปีนี้ ซึ่งเป็นปีที่พลิกโฉมการประกวด สู่เวทีเยาวชนในวัยรุ่นตอนต้น คือระดับ ม.1 โดยนำเสนอโครงการสิ่งแวดล้อมที่อินเทรนด์ เกาะกระแสภาวะโลกร้อน สอดคล้องกับยุค โลกาภิวัตน์ ภายใต้แนวคิด “รักษ์โลก รักถิ่นกำเนิด”
หลังจากได้เฟ้นหาสุดยอดเยาวชนจากทั่วทุกภาค รวมทั้งกรุงเทพฯ มาเป็นระยะเวลา 6 เดือน โครงการแฟนต้ายุวทูตฯ ก็ได้สมาชิกใหม่ของครอบครัวครบ 18 คน เป็นที่เรียบร้อย โดยเป็นเยาวชนชาย 6 คน และหญิง 12 คน จาก 6 โรงเรียนทั่วประเทศ ด้วยโครงการด้านสิ่งแวดล้อมที่นำเสนอวิธีคิด และปฏิบัติได้จริงต่อชุมชนและสังคม ซึ่งได้แก่ แฟนต้ายุวทูตทีมล่าสุดจากภาคตะวันออก โรงเรียนเทศบาลขลุง (บุรวิทยาคาร) จ.จันทบุรี ภาคใต้ โรงเรียนบูรณะรำลึก จ.ตรัง ภาคกลาง โรงเรียนชุมแสงชนูทิศ จ.นครสวรรค์ กรุงเทพฯ โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โรงเรียนพระกุมารร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด และภาคเหนือ โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ จ.เชียงใหม่ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีดีกรียอดเยี่ยมของความคิดสร้างสรรค์ด้านสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน และด้วยบุคลิกภาพที่สมกับความเป็นยุวทูต ประกอบกับไหวพริบปฏิภาณในการแสดงความคิดเห็นเพื่อเผยภูมิความรู้และประสบการณ์จากโครงการที่ได้สร้างสรรค์ขึ้น ทำให้วันนี้ รางวัลแห่งความสำเร็จของน้องๆ คือการได้ครองถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมทุนการศึกษาคนละ 10,000 บาท และการเดินทางไปเผยแพร่วัฒนธรรมตลอดจนทัศนศึกษาโครงการด้านสิ่งแวดล้อมที่ประสพความสำเร็จ ณ ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนตุลาคม ศกนี้
โครงการสร้างสรรค์ของเยาวชนทั้ง 6 โรงเรียน ประกอบด้วย โครงการล่าสุดของโรงเรียนเทศบาลขลุง (บุรวิทยาคาร) จ.จันทบุรี คือ โครงการ “กระดาษทุเรียนเพื่อท้องถิ่นไทย” โดย น้องปวีณนุช หงส์ร่อน, น้องเวธกา นฤมล และน้องศิลาธร ภูพาที โดยมีจุดเด่นของโครงการคือ ได้นำกระบวนการทดลองในห้องเรียนวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ และ รีไซเคิลให้เกิดเป็นกระดาษที่ผลิตจากเยื่อของเปลือกทุเรียนที่ถูกทิ้งขว้างไร้ประโยชน์ ประดิษฐ์เป็นของแต่งบ้านสวยงามต่างๆ หรือบรรจุภัณฑ์เพื่อใส่ของที่ระลึก ทั้งนี้ได้เผยแพร่ไปยังชุมชนให้แม่บ้านได้ทดลองทำ เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ครัวเรือนอีกทางหนึ่งด้วย น้องปวีณนุช ตัวแทนของเพื่อนๆ กลุ่มนี้ เล่าให้ฟังว่า “ได้นำทำนองเพลงพื้นบ้านของจังหวัดจันทบุรีที่หาฟังได้ยาก ได้แก่ เพลงหงส์ฟาง และเพลงเท่งตุ๊ก นำมาใส่เนื้อหาการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและประโยชน์ที่ได้จากเยื่อกระดาษทุเรียน พร้อมสอดแทรกกระบวนการผลิตเยื่อกระดาษ ด้วยเพลงแอ่วซุ้ม เพลงพื้นบ้านของภาคกลาง ซึ่งมีปราชญ์ชาวบ้านในท้องถิ่น เป็นผู้แต่งบทเพลงจากคำบอกเล่าถึงโครงการ เพื่อสร้างความเข้าใจให้ง่ายขึ้น”
สำหรับผลงานชนะเลิศของเยาวชนภาคใต้คือ โครงการ “สร้างเครือข่ายส่งเสริมการบริโภคข้าวซ้อมมือเพื่อสุขภาพของคนในชุมชน” ของ โรงเรียนบูรณะรำลึก จ.ตรัง นำโดย น้องศุภวิชญ์ ตันติมาภรณ์, น้องศุภณัฐ บรรจงธุระการ และ น้องสืบสกุล ทวิสุวรรณ เป็นโครงการที่ได้บอกถึงคุณค่าของข้าวซ้อมมือ ที่เล่าเรื่องผ่านการแสดงละคร ซึ่งน้องๆ ได้อธิบายถึงคุณประโยชน์ของการรับประทานข้าวซ้อมมือ ส่วนโครงการที่ชนะเลิศประจำภาคกลางคือ โครงการ “ลดภาวะโลกร้อนด้วยวิถีชีวิตอย่างพอเพียง” ของ น้องจักกฤษณ์ โคมณี, น้องสุพิชฌาย์ วิหกโต และน้องนัฎสาท์ ทองศรี เยาวชนจาก โรงเรียนชุมแสงชนูทิศ จ.นครสวรรค์ โดยได้นำเสนอการดำรงชีวิตประจำวันอย่างพอเพียงในครอบครัว มาเผยแพร่ให้เยาวชนและคนไทยได้ซึมซับแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง โดยผ่านการแสดงแบบทอล์คโชว์บนเวที ซึ่งขั้นตอนปฏิบัติตามโครงการนั้น ใช้หลักง่ายๆ 3 ประการคือ 1) ต้องรู้จักความพอประมาณ การใช้จ่ายอย่างสมเหตุสมผล ไม่ฟุ้งเฟ้อ 2) ต้องมีเหตุผล ดูว่าสิ่งที่ต้องใช้จ่ายนั้นคุ้มค่าและไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน และ 3) ต้องรู้จักสร้างภูมิคุ้มกัน คือ การเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นอย่างมีสติ มีการวางแผน คิดให้รอบคอบและไม่ประมาท
เยาวชนในเขตเมืองหลวง อย่างกรุงเทพฯ ซึ่งเต็มไปด้วยปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม ทำให้โครงการ “ขยะทั่วทิศ มลพิษทั่วโลก” ของ น้องชวิภา ศุภนิมิตตระกูล, น้องสรัลพร วิชญชาติ และ น้องพิชญา มณีทัพ แห่ง โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย ซึ่งเป็นโครงการเกี่ยวกับการผลิตสื่อการ์ตูน และนิยายที่สอดแทรกเนื้อหาการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี แล้วเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ต่างๆ เป็นที่ประทับใจกรรมการถึงวิธีการนำเสนอ “สาร” ได้เข้าถึง “กลุ่มเป้าหมาย” ได้อย่างตรงประเด็น ทำให้เยาวชนได้หันมาสนใจกับปัญหาขยะให้มากขึ้น และยังได้มีการสานต่อโครงการไปยังบุคคลภายนอก โดยยังคงยึดเรื่องของนิยายอยู่ แต่มีการเปลี่ยนสำนวนให้เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น และยังได้มีการจัดพิมพ์เป็น 2 ภาษา รวมถึงทำเป็น VCD เรื่องการแยกขยะให้ดูน่าสนใจมากขึ้น ส่วน “โครงการแบ่งปันความรัก ความสุขของคนสู่ท้องถิ่น” ของคนเก่งโรงเรียนพระกุมารร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด ที่มี น้องวิภาวดี ฉัตรอุทัย, น้องทรัพย์สถิตย์ ทองดี และน้องวิศวะ ชาลี เล่าเรื่องของโครงการผ่านการแสดงละครว่า ได้ร่วมกันรณรงค์ให้เพื่อนนักเรียนได้แบ่งปันความสุขเล็กๆ น้อยๆ ด้วยการบริจาคเงินและสิ่งของเหลือใช้ให้กับเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีจากพ่อแม่และยังถูกทอดทิ้ง, เด็กกำพร้า, เด็กที่ได้รับการกดขี่จากการใช้แรงงาน และเด็กติดสารเสพติดต่างๆ ที่อยู่ในความอนุเคราะห์ของ “มูลนิธิสุธาสินี น้อยอินทร์ เพื่อเด็กและเยาวชน” โดยโครงการมุ่งเน้นให้คนทั่วไปรู้จักการเป็น “ผู้ให้” ซึ่งเมื่อทำแล้วจะนำความสุขทางใจมาให้อย่างหาที่เปรียบไม่ได้ และโครงการที่โดดเด่นไม่น้อยหน้า ทำให้ผู้ชมที่เป็นคนท้องถิ่นล้านนาได้ตระหนักในคุณค่าภาษาถิ่น คือ โครงการ “ยุวชนล้านนา อู้ภาษากำเมือง” ของ โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ จ.เชียงใหม่ ที่มีน้องแพรวพลอย ณ ลำพูน, น้องพรรณราย ชัยชมภู และน้องภควดี วงค์คำแสน เป็นผู้นำความภาคภูมิใจมาให้ชาวเชียงใหม่ และย้ำว่าแม้ภาษากลาง เป็นภาษาที่ใช้เพื่อการสื่อสารให้คนต่างถิ่นได้เข้าใจถึงความคิดของเราว่าต้องการจะพูดอะไร แต่สำหรับคนทางภาคเหนือด้วยกันแล้ว น่าจะใช้ภาษาท้องถิ่นสนทนากัน ซึ่งนอกจากจะส่งเสริมให้เยาวชนรู้สึกรักและภูมิใจในเอกลักษณ์ของล้านนาแล้ว คนที่ใช้ภาษาเหนือเองทั่วทั้งภาคก็จะได้มีความภาคภูมิใจในวัฒธรรมท้องถิ่นอีกด้วย
ผศ.เฉลิมพล ดาวเรือง ประธานกรรมการตัดสิน โครงการแฟนต้ายุวทูตฯ เผยภายหลังจากได้สัมผัสความสามารถของเยาวชนทั่วประเทศแล้ว พบว่า “เด็กไทยสมัยนี้ เก่งเทคโนโลยีฯ มากขึ้น ใช้คอมพิวเตอร์กันคล่องแคล่ว และที่สำคัญ ยังมีความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ของชาติไทยอย่างไม่จางหาย ไม่ได้หลงไปกับวัฒนธรรมต่างชาติ และไม่ลืมศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของไทย เห็นได้จากหลายๆ ภาคที่ผ่านมา เช่น ภาคเหนือ นำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านภาษา มาส่งเสริมให้ทุกคนได้กลับมาใช้ภาษาเหนือกันให้แพร่หลายมากขึ้น ตลอดจนโครงการต่างๆ ของเยาวชนที่มุ่งสร้างจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม ก็มีส่วนทำให้เยาวชนเกิดสามัญสำนึกที่จะคิดและทำเพื่อท้องถิ่นของพวกเขา นอกจากนี้ยังฝึกให้เด็กได้รู้จักการทำงานเป็นทีม เรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งประเด็นที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ได้นำมาประยุกต์เป็นเกณฑ์ตัดสินที่อาศัยทฤษฎีอนาคตนิยมเป็นหลัก เพื่อออกแบบกติกา คิดสร้างสรรค์กิจกรรมที่เหมาะสมกับวัย ซึ่งหน้าที่สำคัญต่อไปหลังจากนี้คือ ผู้ใหญ่ต้องให้การสนับสนุนเยาวชนอย่างถูกทิศทาง และมีเวทีสร้างสรรค์ให้พวกเขาได้แสดงออกมากขึ้น เพื่อลดปัญหาสังคมด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนได้อีกทางหนึ่งด้วย”
ส่วนหนึ่งของความรู้สึกของผู้ใหญ่ ที่ได้เล็งเห็นคุณภาพของเยาวชนไทยว่ายังมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม ซึ่งกว่าที่คณะกรรมการจะได้กลั่นกรอง “แฟนต้ายุวทูต” ทั้ง 18 คน จากทั่วทุกภาคนั้น มิใช่เรื่องง่าย กิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่ผู้จัดโครงการฯ พยายามสอดแทรกให้เยาวชนได้เห็นถึงการร่วมมือร่วมใจกันของภาคส่วนต่างๆ นับเป็นตัวอย่างที่ดีที่เยาวชนผู้เข้าประกวดได้รับจากประสบการณ์จริง อาทิ การบำเพ็ญประโยชน์ให้กับชุมชนอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ทั้งการช่วยกันโยนจุลินทรีย์ก้อนเพื่อปรับสภาพน้ำในคลองแหให้ใสสะอาด ของเยาวชนภาคใต้ การปลูกต้นไม้ ทาสีรั้วสนามเด็กเล่น ให้กับชุมชนหมู่บ้านเมืองทองนิเวศน์ 1 ของเยาวชนภาคกลางและกรุงเทพฯ การช่วยกันทำความสะอาดโบราณสถานคู่บ้านคู่เมืองโคราช ของเยาวชนตะวันออกเฉียงเหนือ การร่วมแรงร่วมใจสร้างฝายชะลอน้ำ ให้กับชุมชนบ้านป่าสักงาม ของเยาวชนภาคเหนือ และการเก็บกวาดขยะทำความสะอาดสถานที่ท่องเที่ยวบริเวณชายหาดเมืองพัทยา ของเยาวชนภาคตะวันออก แต่มิใช่ว่าจะมีเยาวชนเพียงกลุ่มนี้เท่านั้น ที่สามารถ “คิดและทำ” เพื่อท้องถิ่นไทย แต่ยังมีเยาวชนอีกมากมายที่กำลังไขว่คว้า หาโอกาสที่จะเสนอความคิดความสามารถของพวกเขา ซึ่งเวทีแฟนต้ายุวทูต ก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ยินดีเสมอ และพร้อมที่จะสนับสนุนความสามารถอันไร้ขีดจำกัดของเยาวชน เพื่อให้น้องๆ ได้สานฝันสู่การเป็นยุวทูตเผยแพร่วัฒนธรรมและได้เปิดโลกทัศน์ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมของต่างประเทศ อย่างญี่ปุ่นอีกด้วย
บรรยายภาพ “แฟนต้า ปั้นเยาวชน 18 ยุวทูตฯ”
ภาคใต้
01 เชิญอ่านความรู้จากบอร์ดประชาสัมพันธ์โครงการ “สร้างเครือข่ายส่งเสริมการบริโภคข้าวซ้อมมือเพื่อสุขภาพของคนในชุมชน” ของพวกเราได้เลยครับ จากซ้าย 1. น้องศุภวิชญ์ ตันติมาภรณ์ 2.น้องสืบสกุล ทวิสุวรรณ 2.ศุภณัฐ บรรจงธุระการ
02 จากซ้าย 1.สมโชค สุวรรณมาส นายอำเภอหาดใหญ่ 2.ดช.สืบสกุล ทวิสุวรรณ 3.ดช.ศุภวิชญ์ ตันติมาภรณ์ 4. ดช.ศุภณัฐ บรรจงธุระการ ทีมจากโรงเรียนบูรณะรำลึก จ.ตรัง ขณะมอบประกาศนียบัตร ตำแหน่งแฟนต้ายุวทูต ประจำภาคใต้
กรุงเทพฯ
03 จากซ้าย 1. น้องพิชญา มณีทัพ 2.น้องชวิภา ศุภนิมิตตระกูล 3.น้องสรัลพร วิชญชาติ แห่ง โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย ผู้ครองตำแหน่งแฟนต้ายุวทูตฯ ประจำกรุงเทพฯ
04 การแสดงเชิงสร้างสรรค์ประกอบการนำเสนอโครงการฯ ของแฟนต้ายุวทูตฯ ประจำกรุงเทพฯ
ภาคกลาง
05 วาดลวดลายกันแบบไม่ยั้ง กับการแสดงเชิงสร้างสรรค์ประกอบการนำเสนอโครงการ “ลดภาวะโลกร้อนด้วยวิถีชีวิตอย่างพอเพียง” ของแฟนต้ายุวทูตฯ ประจำภาคกลาง
06 ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น จากซ้าย 1. น้องนัฎสาท์ ทองศรี 2. น้องจักรกฤษณ์ โคมณี 3.น้องสุพิชฌาย์ วิหกโต แฟนต้ายุวทูตฯ ประจำภาคกลาง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
07 การแสดงเชิงสร้างสรรค์ประกอบการนำเสนอโครงการ “แบ่งปันความรัก ความสุขของคนสู่ท้องถิ่น” ของแฟนต้ายุวทูตฯ ประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
08 เจ้าของผลงาน แห่ง โรงเรียนพระกุมารร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด จากซ้าย 1.น้องวิศวะ ชาลี 2.น้องทรัพย์สถิตย์ ทองดี 3.น้องวิภาวดี ฉัตรอุทัย
09 คุณวีระ อัครพุทธิพร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ องค์กรสัมพันธ์ บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัดมอบทุนการศึกษา ให้แก่แฟนต้ายุวทูต ประจำภาคตะวันออกฉียงเหนือ
ภาคเหนือ
10 การแสดงเชิงสร้างสรรค์ประกอบการนำเสนอโครงการ “ยุวชนล้านนา อู้ภาษากำเมือง” ของแฟนต้ายุวทูต ประจำภาคเหนือ
11 โฉมหน้า แฟนต้ายุวทูต ประจำภาคเหนือ โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ จ.เชียงใหม่ จากซ้าย 1. น้องพรรณราย ชัยชมภู 2.น้องแพรวพลอย ณ ลำพูน 3.น้องภควดี วงค์คำแสน
ภาคตะวันออก
12 การแสดงเชิงสร้างสรรค์ประกอบการนำเสนอโครงการ “กระดาษทุเรียนเพื่อท้องถิ่นไทย” ของแฟนต้า ยุวทูต ประจำภาคตะวันออก
13 รางวัลแฟนต้ายุวทูต ประจำภาคตะวันออก แห่งความภาคภูมิใจสุดๆ ของน้องๆ จากซ้าย 1.น้องศิลาธร ภูพาที 2.น้องปวีณนุช หงษ์ร่อน 3. น้องเวธกา นฤมล
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
บริษัท แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์ จำกัด
โทร. 0-2434-8300, 0-2434-8547
คุณสุจินดา, คุณแสงนภา, คุณอนุศักดิ์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ