กรุงเทพฯ--4 ก.ค.--ธนบุรินทร์ เอเชีย แปซิฟิก
ราชบัณฑิตยสถาน เดินหน้า จัดงานประชุมนานาชาติ “นโยบายภาษาแห่งชาติ: ความหลากหลายของภาษาเพื่อความเป็นเอกภาพของชาติ” ครั้งแรก หวังสร้างความเป็นเอกภาพของชาติทางภาษา จัดเวทีขอความร่วมมือสร้างนโยบายภาษาแห่งชาติ
ด้วยความมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้เกิดนโยบายภาษาแห่งชาติ ราชบัณฑิตยสถานจึงได้จัดงานประชุมนานาชาติเรื่อง “นโยบายภาษาแห่งชาติ: ความหลากหลายของภาษาเพื่อความเป็นเอกภาพของชาติ” ครั้งแรกในประเทศไทยขึ้นระหว่างวันที่ ๔ — ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ณ โรงแรมเดอะทวินทาวเวอร์ กรุงเทพฯ งานประชุมครั้งนี้ ราชบัณฑิตยสถานได้รับความร่วมมือจากสถานทูตประเทศออสเตรเลีย องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (องค์การยูเนสโก) กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติแห่งประเทศไทย (องค์การยูนิเซฟ) องค์การรัฐมนตรีการศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (องค์การซีมีโอ) และ SIL International ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช นายกราชบัณฑิตยสถาน ประธานในพิธีเปิดงานประชุม “นโยบายภาษาแห่งชาติ: ความหลากหลายของภาษาเพื่อความเป็นเอกภาพของชาติ” กล่าวว่า “เราทุกคนเกี่ยวข้องกับภาษาทุกวัน บางคนเห็นว่าภาษาเป็นเพียงเครื่องมือในการสื่อสาร แต่แท้จริงแล้วภาษาเป็นมากกว่านั้น ภาษาเป็นรากฐานของความคิดและเหตุผล ภาษาเป็นสัญลักษณ์ที่แสดง อัตลักษณ์ ภาษาเป็นศูนย์รวมแห่งภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เราสามารถรวบรวมประเด็นปัญหาต่างๆ ไว้ในนโยบายภาษา ทั้งเรื่องภาษากลุ่มชาติพันธุ์ ภาษาสำหรับผู้อพยพ ภาษาสำหรับผู้พิการ ภาษาสำหรับการแปล ภาษาในเรื่องการเรียนการสอน และภาษาต่างประเทศในฐานะภาษาเศรษฐกิจเพื่อการใช้งาน”
ดร.ชัยอนันต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “งานประชุมครั้งนี้จัดเป็นก้าวสำคัญในกระบวนการศึกษาการจัดทำนโยบายภาษา กล่าวคือ เป็นเวทีที่รวมนักภาษาศาสตร์ เจ้าหน้าที่ภาครัฐ และนักการศึกษาจากประเทศต่างๆ เพื่อเราจะได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ตลอดจนสร้างความเข้าใจอันถ่องแท้เกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ในเรื่องของภาษาที่ประเทศไทยและประเทศต่างๆ ในโลกกำลังเผชิญอยู่”
ดร.เชลดอน แชฟเฟอร์ ผู้อำนวยการสำนักงานองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) กล่าวถึงความสำคัญของภาษาว่า “สำหรับยูเนสโก ภาษาเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งในบทบาทของตัวเองและในบทบาทของการนำไปสู่ความสำเร็จของเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษและการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน ในการแสดงความเป็นตัวตนและแหล่งรวบรวมประวัติศาสตร์ ในการสนับสนุนเรื่องภูมิปัญญามนุษย์ และในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้ของคนท้องถิ่น ชนพื้นเมือง ตลอดจนทำนุบำรุงความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรม หลักการดังกล่าวมีความสำคัญต่อยูเนสโก เนื่องจากภาษาเป็นรากฐานสำคัญในการประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งให้ความสำคัญในเรื่องสันถวไมตรีท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรมและภาษา”
ดาโต๊ะ อาฮัมเม็ด บิน ซิพอน ผู้อำนวยการองค์การศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีมีโอ) กล่าวว่า “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นแหล่งกำเนิดของภาษาและวัฒนธรรม ดังนั้นทุกประเทศในภูมิภาคนี้จึงให้ความสนใจในเรื่องภาษา ซึ่งเป็นพันธกิจขององค์การพัฒนาการศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการร่วมมือจัดกิจกรรมและโปรมแกรมต่างๆ ที่ส่งผลต่อประเด็นด้านการศึกษาทั่วไปกับประเทศสมาชิกทั้ง ๑๑ ประเทศ”
แอนน์ เรย์โนลด์ส ที่ปรึกษาประจำสำนักงานการศึกษาออสเตรเลียแห่งนานาชาติ สถานทูตออสเตรเลีย กล่าวว่า “ภาษาอังกฤษเป็นภาษาประจำชาติออสเตรเลียและเป็นเครื่องมือการสอนในระบบการศึกษา อย่างไรก็ตาม เรายังคงให้ความสำคัญและสนับสนุนภาษาอื่นๆ นอกเหนือจากภาษาอังกฤษด้วยเช่นกัน แท้จริงแล้ว ชาวออสเตรเลียมากกว่าร้อยละ ๑๕ พูดภาษาอื่นที่บ้านนอก เหนือจากภาษาอังกฤษ ชาวออสเตรเลียพูดภาษามากกว่า ๒๐๐ ภาษา ซึ่งรวมถึงภาษาของชาวท้องถิ่นของออสเตรเลีย รัฐบาลประเทศออสเตรเลียตระหนักถึงการเรียนภาษาต่างประเทศว่ามีความสำคัญต่อความมั่นคงและความมั่งคั่งของประเทศในอนาคต”
ดร.แคโรลีน มิลเลอร์ อดีตประธาน SIL International กล่าวว่า “การพัฒนาภาษาและการวางแผนภาษาภายในชาติขึ้นอยู่กับวิธีและแนวคิดในอนาคต ประเทศที่ให้คุณค่ามรดกทางความหลากหลายและให้การสนับสนุนอย่างจริงจังในทางนโยบายและการปฏิบัตินั้น จะได้รับประโยชน์ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายต่อไป ดังนั้น การประชุมครั้งนี้ ไม่ได้เป็นเพียงการสนับสนุนคุณค่าที่แท้จริงแก่ชุมชนที่ใช้ภาษากลุ่มชาติพันธุ์แต่เป็นคุณค่าสำหรับประเทศชาติโดยรวม”
นายกราชบัณฑิตยสถาน กล่าวเพิ่มเติมว่า “สิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเรื่องของภาษาเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจก็คือ การประชุมครั้งนี้มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมประชุมจากหลากหลายประเทศครบทั้ง ๖ ทวีป ทั่วโลก ราชบัณฑิตยสถานรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่วิทยากรและผู้เชี่ยวชาญระดับโลกได้มาร่วมแบ่งปันความรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์ในงานประชุมครั้งนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกท่านจะได้ประโยชน์จากการร่วมประชุมตลอดการจัดงานทั้ง ๒ วัน”
“ผมขอเป็นกำลังใจให้กับผู้เข้าร่วมประชุมชาวไทยทุกท่านที่ตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จะเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ให้ได้รับแรงบันดาลใจเพื่อทำการวิจัยหรือศึกษาเพิ่มเติมในด้านนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งที่ราชบัณฑิตยสถานจะได้รับความร่วมมือจากท่านทั้งหลายในการรวบรวมข้อมูลในเชิงวิชาการที่เป็นประโยชน์สำหรับนำเสนอต่อรัฐบาลไทยเพื่อผลักดันให้เกิดนโยบายภาษาแห่งชาติอันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในองค์รวม” ดร.ชัยอนันต์ กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ยุวดี ชมบุญ ๐๘ ๙ ๖๖๙ ๕๒๘๖ หรือ เกษมศรี แก้วธรรมชัย ๐๘ ๑ ๖๑๑ ๔๖๙๖
สำนักงานที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ งานประชุมนานาชาติ
“National Language Policy: Language Diversity for National Unity”
โทรศัพท์ ๐ ๒๒๓๑ ๖๑๕๘-๙ โทรสาร ๐๒ ๒๓๑ ๖๒๓๐ อีเมล์ yuwadi@thanaburin.co.th